xs
xsm
sm
md
lg

IDC ชี้ไม่เกิน 3 ปี “ฟีเจอร์โฟน” ตลาดวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ประภัสสร เพชรแก้ว
ไอดีซี (IDC) เผยผลสำรวจมูลค่าการใช้จ่ายไอทีในเมืองไทยทั้งภาคธุรกิจ และผู้บริโภค พบตลาดสมาร์ทโฟนครองสัดส่วนยอดใช้จ่ายมากที่สุด และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องถึงปี 2022 สวนทางตลาดฟีเจอร์โฟนที่คาดว่าจะหดตัวจนไม่มีนัยสำคัญในการสำรวจตลาดภายใน 3 ปีนับจากนี้ โดยตลาดงานบริการไอทีและซอฟต์แวร์ของไทยยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป มั่นใจอีก 4 ปีคนไทย 3.5 ล้านคนจะมีข้อมูลตัวตนดิจิทัล หรือ digital identities บนบล็อกเชน

ประภัสสร เพชรแก้ว นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโส ด้านบริการไอทีประเทศไทย บริษัท ไอดีซี เปิดเผยว่า หากตัดปัจจัยด้านการเมืองออกไป พบว่า การใช้จ่ายในตลาดไอทีไทยช่วงปีนี้จะเติบโตต่อเนื่อง เพราะทุกฝ่ายตื่นตัวเรื่องการลงทุนไอที หลักใหญ่ของการใช้จ่าย คือ การซื้อฮาร์ดแวร์ ซึ่งยังคงเป็นอุปกรณ์เช่นสมาร์ทโฟน ขณะที่สินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์พีซี อุปกรณ์เครือข่าย และระบบจัดเก็บข้อมูล ที่มีอัตราเติบโตต่ำลงเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายด้านไอทีเซอร์วิส คาดว่า แนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอด 3-4 ปีข้างหน้า เพราะคลาวด์ หรือบริการเช่าใช้ ล้วนทำให้การใช้งานเซิร์ฟเวอร์ในองค์กรไทยน้อยลง

“การเติบโตของพีซีก็ยังโต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา บางปีพีซีก็โต 8-9% แต่ก็เป็นเลขหลักเดียวน้อยกว่าบริการไอทีอื่นที่โตมากขึ้น เพราะฐานยังเล็กอยู่”

เบื้องต้น ไอดีซี พบว่า มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนไทยปี 2018 คิดเป็น 184,000 ล้านบาท คิดเป็น 43.52% ของตลาดรวมการใช้จ่ายไอทีทั่วประเทศไทย สูงมากเมื่อเทียบกับฟีเจอร์โฟนที่มีเงินสะพัดในตลาดปีที่ผ่านมา ราว 2,000 ล้านบาท

สำหรับปีนี้ 2019 เชื่อว่า มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นเป็น 203,000 ล้านบาท คิดเป็น 44.99% ของตลาดรวมการใช้จ่ายไอทีทั่วประเทศไทย ฟีเจอร์โฟนจะหล่นลงมาเหลือ 1,000 ล้านบาท คาดว่า ภายใน 3 ปีนี้มูลค่าเงินสะพัดในตลาดฟีเจอร์โฟนจะลดลงจนไม่มีนัยสำคัญในการสำรวจ

ตลาดรวมการใช้จ่ายไอทีทั่วประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 424,000 ล้านบาทในปี 2018 คาดว่า ตลาดจะเติบโตขึ้นอีก 6.53% เป็น 452,000 ล้านบาทในปีนี้ แรงผลักดันหลัก คือ การให้ความสำคัญกับการลงทุนดิจิทัลของทุกภาคส่วนในสังคมไทย คาดว่า ตัวเลขนี้จะทะลุหลัก 5 แสนล้านบาทในปี 2021

***อีก 4 ปีคนไทยเกิน 3 ล้านมีตัวตนบนบล็อกเชน

ตัวเลขการใช้จ่ายในตลาดไอทีไทยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเรื่องไอดีซีฟิวเจอร์สเคปส์ (IDC FutureScapes) ซึ่งมีการประเมิน 10 เทรนด์แรงที่จะเกิดขึ้นในตลาดไอทีไทยช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดย 1 ใน 10 เทรนด์นี้ คือ IDC เชื่อว่า ในปี 2023 คนไทยเกิน 3.5 ล้านคนจะมีตัวตนบนบล็อกเชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัวมากขึ้น

10 เทรนด์ที่ IDC มองตลาดไอทีไทย ได้แก่ 1.ไทยจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัวภายในปี 2022 เห็นได้ชัดจาก GDP ของประเทศไทยกว่า 61% จะมาจากธุรกิจดิจิทัล 2.การใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทย 60% จะถูกใช้ลงทุน เพื่อสร้างบริการไอทีใหม่สำหรับใช้แทนหรือเสริมกับธุรกิจเดิมในฐานะแพลตฟอร์มที่ 3 คาดว่ามากกว่า 30% ขององค์กรไทย จะสร้างสภาพแวดล้อมไอทีแบบแท้จริง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตภายในปี 2022

3.ธุรกิจไทยจะไม่เก็บข้อมูลขึ้นคลาวด์ 100% แต่จะเลือกเก็บไว้ใกล้ตัว เพื่อทำงานร่วมกับการดึงข้อมูลจากระบบคลาวด์ การประมวลผลแบบผสมนี้เรียกว่า “Edge computing” ซึ่งมีจุดเด่นที่การเพิ่มความรวดเร็วที่เหนือกว่าคลาวด์ 100% คาดว่า การลงทุนในเทคโนโลยีนี้จะร้อนแรงมากขึ้นในปี 2022 ซึ่งจะเป็นปีที่องค์กรไม่น้อยกว่า 20% จะเทเงินลงทุนในเทคโนโลยีนี้ เพื่อรองรับ 25% ของอุปกรณ์ในมือคนไทยที่จะใช้อัลกอริธึม AI

4.วงการพัฒนาแอปพลิเคชันไทยจะถูกปฏิวัติในปี 2022 แอปใหม่ของประเทศไทย 70% จะมีสถาปัตยกรรมไมโครไซต์ ที่ทำให้นักพัฒนาไม่ต้องเขียนโค้ดคำสั่งขึ้นใหม่ตั้งแต่ต้น สามารถนำโค้ดมาใช้ซ้ำใหม่ได้สะดวก การพัฒนาแอปพลิเคชันของไทยจะสำเร็จเสร็จได้เร็วกว่าเดิม คาดว่า 25% ของแอปพลิเคชันไทยทั้งหมดจะเป็นระบบคลาวด์

5.ในปี 2024 จำนวนนักพัฒนาไทยจะเพิ่มขึ้นเกิน 20% เทรนด์นี้สอดคล้องกับเทรนด์ที่ 6.คือ การเข้าสู่ยุคที่เครื่องมือมากมายจะแจ้งเกิด เพื่อให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันทำงานได้ง่ายกว่าเดิม และไม่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางแบบที่ผ่านมา คาดว่าจะมีแอปใหม่กว่า 4 ล้านแอปในไทยที่จะถูกสร้างขึ้นโดยเครื่องมือใหม่เหล่านี้

เทรนด์ที่ 7-10 นั้น IDC มองว่า องค์กรไทยจะมีการใช้งานระบบควอนตัมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี AI ที่จะเป็นส่วนติดต่อผู้ใช้ หรือ UI ใหม่ ซึ่งจะมาแทนแอปพลิเคชัน 1 ใน 3 ที่คนไทยใช้งานผ่านหน้าจอในปัจจุบัน คาดว่า ผู้ประกอบการไทยเกิน 20% จะใช้เทคโนโลยีแชตอัตโนมัติภายในปี 2024

ที่สำคัญ คือ ในช่วง 4 ปีนับจากนี้ 25% ของเซิร์ฟเวอร์ไทยจะมีการเข้ารหัสข้อมูล คาดว่า การแจ้งเตือนความปลอดภัยมากกว่า 20% ในไทยจะถูกจัดการโดยระบบอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยี AI ปีนี้เองที่คนไทย 3.5 ล้านคนจะมีตัวตนดิจิทัลเทคโนโลยีบล็อกเชน

เทรนด์ที่ 10.คือ องค์กรไทยจะใช้มัลติคลาวด์ (Multicloud) อย่างแพร่หลาย เทรนด์นี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายบริษัทที่เชื่อว่า องค์กรจะลงทุนมหาศาล เพื่อรับมือกับการล็อกอินใช้งานบริการผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย.


กำลังโหลดความคิดเห็น