การสำรวจล่าสุดจากบริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) พบว่า ยอดจัดส่งไอโฟน (iPhone) ช่วงปลายปี 2018 ลดลงกว่า 20% เพราะชาวจีนรับไม่ได้กับราคาขายที่แพงเกินไป ตัวเลขนี้หนักหนากว่ายอดขาย iPhone โลกที่หดตัวมากกว่า 11.5% ทั้งหมดนี้สวนทางกับหัวเว่ย (Huawei) ที่ขายดีขึ้น 23% ในจีน และ 44% ในตลาดโลก
ภาวะโคม่าของ iPhone เกิดขึ้นในวันที่ตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกตกต่ำต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนจีน ที่ดำดิ่งลึกที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 แน่นอนว่า ความฝืดเคืองนี้ทำร้าย Huawei ไม่ได้ จนทำให้โลกมองว่า Huawei กำลังมีรากฐานที่มั่นคง เพื่อเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในวันที่โลกหมุนเข้าสู่ยุค 5G อย่างเต็มตัว
Huawei เองก็รู้ดีเรื่องนี้ จนเคยออกมาเตือนหลายประเทศที่ตั้งใจ “แบน Huawei” ว่า การตัดสินใจปิดกั้น Huawei อาจจะมีผลกระทบทำให้การพัฒนา 5G ในประเทศนั้น ไม่ประสบความสำเร็จรวดเร็วเท่าที่ควร คำเตือนนี้สะท้อนว่า Huawei มั่นใจในศักยภาพอุปกรณ์ 5G ของตัวเองว่าเหนือกว่าอุปกรณ์ค่ายอื่นบนโลก
***ตลาดจีนหดหาย
รายงานของบริษัทวิจัย IDC ระบุว่า ยอดขาย iPhone ที่ลดลง 19.9% ในประเทศจีน ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2018 ที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะราคาที่สูงของ iPhone และรวมถึงการขาดนวัตกรรม ซึ่งทำให้คนจีนสนใจ iPhone น้อยลง
การสำรวจนี้สอดคล้องกับ Apple ที่รายงานว่า รายรับของบริษัทในตลาดจีนลดลงกว่า 27% จุดนี้ Apple เปิดเผยในงานประกาศผลประกอบการเมื่อมกราคมที่ผ่านมา ว่าทำรายรับจากตลาดจีนได้ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในตัวเลขนี้รายรับ iPhone ลดลง 15%
Apple ให้เหตุผลของภาวะนี้ว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในจีน และการแข็งตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้รายได้ของ iPhone อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ Huawei สามารถกินส่วนต่างการหดตัวของ Apple ทำให้ยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนในจีนของ Huawei เพิ่มขึ้น 23.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนรายอื่น เช่น ออปโป้ (Oppo) และวีโว่ (Vivo) ก็ได้รับอานิสงส์ มียอดจัดส่งเพิ่มขึ้น 1.5% และ 3.1% ตามลำดับ โดยเสียวหมี่ (Xiaomi) ที่หดตัวในตลาดจีน ก็ยังสามารถเติบโตในตลาดโลกได้สวยงาม
IDC วิเคราะห์ว่า นอกเหนือจากการอัปเกรดประสิทธิภาพเครื่องตามปกติ Apple ก็ไม่มีนวัตกรรมที่สำคัญเพื่อสนับสนุนผู้ใช้ให้เปลี่ยนเครื่องในราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ตลาดจีนมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่ละแบรนด์มีการแข่งขันพัฒนานวัตกรรม เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของยอดขายหดตัวในหลายตลาดของ Apple
ในขณะที่ IDC ย้ำว่า ราคาที่สูงของ iPhone คือ สาเหตุสำคัญของการหดตัวของตลาด แต่ IDC วิเคราะห์ว่าความแข็งแกร่งของ Huawei ที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะโทรศัพท์เรือธงที่ตัดราคาต่ำกว่าคู่แข่งเหลือราคาเริ่มต้น 749 เหรียญสหรัฐ แต่ iPhone XS นั้น ราคาทะลุหลัก 1,000 เหรียญสหรัฐ
ถามว่าทำไมซีอีโอคนเก่งอย่าง ทิม คุก (Tim Cook) และทีมงาน Apple จึงไม่เข้าใจตลาดสมาร์ทโฟนของจีน จนไม่อาจบรรลุเป้าหมายการขายที่หวังไว้ ประเด็นนี้อาจไม่ใช่ผลจากสงครามการค้าจีน และสหรัฐฯ เท่านั้น แต่อาจเกี่ยวข้องโดยตรงกับหลายช่องโหว่ ซึ่ง 1 ในนั้น คือ แอปพลิเคชันแชตที่ผู้ใช้จีนรับส่งข้อความสนทนาถึงกันผ่านวีแชต (WeChat) ไม่ใช่ไอแมสเสจ (iMessage) ที่เป็นหนึ่งในเสน่ห์ของ iOS
*** iOS ไร้แรงยึดเหนี่ยว
ประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ เพราะผู้ใช้ iPhone ในแดนมังกร มักใช้งานระบบแชตของ WeChat เมื่อไม่มีการล็อกอินด้วยแอป iOS และระบบแชตผ่านแพลตฟอร์ม iMessage การสลับข้ามแพลตฟอร์มระหว่าง Android และ iOS จึงเป็นเรื่องง่าย ทำให้สาวก iPhone ตัดใจเปลี่ยนค่ายได้ง่ายกว่าที่ควรจะเป็น
นั่นหมายความว่า Apple ก็ไม่อาจทนกับการต่อสู้สุดดุเดือดเหมือนกับแบรนด์ดังรายอื่น เพราะแบรนด์จีนนั้นผสมผสานของคุณสมบัติชั้นเลิศจนทำให้ฮาร์ดแวร์เครื่องมีความดึงดูดใจผู้ซื้อ ขณะที่เทคโนโลยีและการออกแบบของ Apple ยังถูกมองว่าไล่ตามหลังแบรนด์จีนอยู่อีกราว 1-2 ปี ซึ่งเป็นเหตุผลชัดเจนที่ทำให้ iPhone XS ดูไม่โดดเด่น
ขณะเดียวกัน ตลาดจีนยังเป็นตลาดที่ชื่นชอบสินค้ารุ่นเรือธงเป็นพิเศษ เห็นได้ชัดจากที่ iPhone X เป็นโทรศัพท์มือถือที่แข็งแกร่งในปี 2017 เวลานั้น iPhone รุ่นที่ไม่มี “X” เช่น iPhone 8 และ iPhone 8 Plus ที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่านั้น ถูกมองผ่านไปง่ายดาย
แต่กรณีนี้ใช้ไม่ได้กับ iPhone XS และ XS Plus เพราะแม้จะเป็นอุปกรณ์ล่าสุด แต่ก็มีความต่างเพียงเล็กน้อย ความล้มเหลวนี้จึงไม่ต่างจากการเปิดตัว iPhone 5S และ 6S ที่ล้มเหลวในจีน เพราะความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างรุ่นเช่นกัน
จุดนี้ทำให้มีความเสี่ยงที่แผนของ Apple เรื่องการลดราคาขาย iPhone XR ลงอาจไม่สำเร็จผล เพราะความรักในสินค้าเรือธง และความหรูหรา อาจจะทำให้ชาวจีน มองว่า XR ไม่ใช่สินค้ารุ่นยอดนิยม ทำให้โอกาสที่ชาวจีนจะยอมซื้อโทรศัพท์มือถือที่มีสถานะด้อยกว่ามีน้อยตามไปด้วย
ที่สำคัญ ตลาดสมาร์ทโฟนหน้าจอขนาดใหญ่ ราคาสูงนั้น มาถึงจุดที่เริ่มอิ่มตัว เห็นได้ชัดจากการที่ผู้ใช้เริ่มตัดสินใจซื้อเพื่อเปลี่ยนเครื่องทดแทน ไม่ใช่การซื้อใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนเครื่อง ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมีความอยากอัปเกรดเครื่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยส่วนหนึ่งตัดสินใจเข้ารับบริการเปลี่ยนแบตเตอรีในราคา 29 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1,000 บาท เพื่อไม่ต้องซื้อเครื่องใหม่ จุดนี้มีส่วนทำให้ตลาดของ iPhone XS และ XS Max มีขนาดเล็กลง
*** Huawei มั่นใจสุดขีด
ขณะที่ iPhone เผชิญปัญหารอบด้าน แต่นักวิเคราะห์ยอมรับว่า ตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟนล่าสุดของ Huawei นั้น ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ Huawei เข้าใกล้เบอร์ 1 ตลาดสมาร์ทโฟนโลกเข้าไปทุกที ภาวะนี้เป็นผลดีกับ Huawei มาก โดยเฉพาะกับธุรกิจอุปกรณ์ 5G แม้จะถูกนานาประเทศสั่งแบนอุปกรณ์ 5G ในขณะนี้
ที่ผ่านมา Huawei ส่งสัญญาณเตือนประเทศเหล่านี้ว่า การจงใจตัด Huawei ออกไปอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาเครือข่าย 5G ได้ โดยช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักการทูตของจีนได้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป เพื่อเตือนว่า การมองข้ามเทคโนโลยีจีนอย่าง Huawei จะไม่เป็นผลดีกับการพัฒนา 5G ซึ่งอาจมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศนั้นได้
การเตือนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ความพยายามจำกัดไม่ให้เทคโนโลยีสัญชาติจีน มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนา 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นเต็มตัวในยุโรป การกีดกันนี้เกิดขึ้นกับรัฐบาลในกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตกบางประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา ที่ลงดาบระงับการใช้อุปกรณ์ของบริษัทจีนในเครือข่ายใหม่อย่าง 5G เนื่องจากมีความกังวลว่า เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในการสอดแนมได้ แน่นอนว่า Huawei ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยบอกว่า การรักษาความปลอดภัยเครือข่ายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเสมอ
หากคำเตือนและการปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ได้ผล Huawei จะมีรากฐานที่แน่นกว่าเดิมในยุคที่โลกหมุนเข้าสู่ยุค 5G ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น โอกาสที่ iPhone จะอยู่รอดในแถวหน้า อาจจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะหากยังย่ำอยู่กับที่เหมือนที่ผ่านมา.