xs
xsm
sm
md
lg

โฟกัสธุรกิจ 9 กลุ่ม ที่ต้องเร่งปรับตัว รับการมาถึงของยุค 5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพียงช่วงระยะแค่ 40 ปี โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หลายคนคงได้เห็นการพูดถึงเทคโนโลยี 5G กันบ่อยมากขึ้น เพราะถือเป็นยุคใหม่ของวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ความเร็วสูง ซึ่งมีความสามารถในการเชื่อมต่อข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น

คำถามที่สำคัญ คือ ทำไมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับกลุ่มทรู เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และด้านนวัตกรรม โดยมีทรูแล็บที่ทันสมัย “TRUELAB@CHULAENGINEERING : 5G & INNOVATIVE SOLUTION CENTER” ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ นั่นก็เพราะ 5G ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ต้องเตรียมความพร้อมด้านคน และ ecosystem โดย truelab@chulaengineering เป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมและสร้างสรรค์เทคโนโลยี 5G ตลอดจนโซลูชันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มทรู ยังได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่นิสิตตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ยุค 5G

ก่อนที่จะไปพูดถึง 5G เราลองไปไล่เรียงเทคโนโลยีตั้งแต่ 1G ว่ามีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร เริ่มกันที่ ยุค 1G (First Generation) เกิดครั้งแรกเมื่อปี 2522 ที่ประเทศญี่ปุ่น ยุคนั้น เราใช้มือถือในระบบอนาล็อก ตัวเครื่องโทรศัพท์มีขนาดใหญ่ หน้าจอมีแต่ตัวเลข สื่อสารด้วยเสียงเพียงอย่างเดียว แม้แต่การรรับส่ง SMS ก็ยังทำไม่ได้

10 ปีต่อมา พัฒนาจากอะนาล็อกมาเป็นยุคดิจิทัล เราเรียกว่า ยุค 2G (Second Generation) พัฒนารูปแบบการส่งคลื่นเสียงแบบอะนาล็อกมาเป็นดิจิทัล ใช้งานด้านดาต้า บริการเสียง หรือข้อความ เช่น เพจเจอร์ ยุคนี้เราใช้โทรศัพท์ไร้สายในระบบ GSM สามารถโทรหากันข้ามเครือข่ายได้ และส่ง SMS ได้

ต่อมาพัฒนาเป็น 3G (Third Generation) เชื่อมต่อโครงข่ายไร้สายด้วยความเร็วสูง (CDMA/HSPA/HSPA+) รับส่งข้อมูลต่างๆ รวดเร็วมากขึ้น ใช้บริการมัลติมีเดียได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดาวน์โหลดหนัง เพลง ดู TV Streaming ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นเหมือน High Speed Internet แบบที่ใช้ในบ้าน

ยุค 4G (Fourth Generation) เป็นยุคของการบริโภคข้อมูลด้วยความเร็วแบบสุดๆ พัฒนาความเร็วให้รับ-ส่ง เร็วขึ้นถึง 100 Mpbs เลยทีเดียว พร้อมทั้งพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ รองรับการใช้งานสมาร์ทโฟนที่หลากหลายมากขึ้น สามาถดูไฟล์วิดีโอออนไลน์ด้วยความคมชัด ติดต่อสื่อสารแบบเห็นหน้ากันด้วยระบบวิดีโอคอล รวมทั้งพัฒนาให้เชื่อมอุปกรณ์ IoT สะดวกสบายมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

มาถึง ยุค 5G ที่ตอบสนองการใช้งานที่รวดเร็วขึ้นประมาณ 1 ใน 10 วินาที (Reduce Latency) มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลมากกว่าเดิมถึง 20 เท่า สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว

การใช้เทคโนโลยีในยุค 5G ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจะได้รับความสะดวกแบบไร้รอยต่อมากขึ้น เช่น จะมีการใช้งานดาต้าเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง หรือการใช้ Virtual Reality (VR) หรืออย่างในอุตสาหกรรมรถยนต์ จะเชื่อม Connectivity ระหว่างคนขับรถ และรถยนต์ ให้สามารถตรวจสอบสภาพรถได้, มีระบบอัตโนมัติ Automatic ควบคุมระยะไกล, Driverless หรือรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

ส่วนในอุตสาหกรรมการผลิตนั้นใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการควบคุมมากขึ้น ในอุตสาหกรรมพลังงานสามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบการใช้น้ำ หรือไฟได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่มาเดินเช็กมิเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญ สามารถดูแลให้คำปรึกษา ประเมินอาการคนไข้ผ่าน VDO Call ได้อย่างเสถียร และมีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังจะสามารถผ่าตัดทางไกล หรือรักษาผู้ป่วยทางไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เร็ว และแรงนั้น จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายด้านด้วยกัน ซึ่งพอจะสรุปมาได้ 9 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มคนทำงาน ประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มนำระบบ TeleWork มาใช้ เพื่อให้ทำงานที่บ้าน และสามารถส่งงาน ส่งข้อมูลให้หัวหน้างานได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศอีกต่อไป เพราะแม้ทำงานยู่ที่บ้านก็สามารถทำงานได้เหมือนเดิม ทำให้โครงสร้างของสังคมในการทำงานต้องมีการปรับตัว อาคารที่เปิดให้เช่าเป็นออฟฟิศ จะต้องปรับตัว เพราะจะมีคนทำงานอยู่ที่บ้านมากขึ้น

2.หน่วยงานภาครัฐ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถเดินหน้า และอยู่ในธุรกิจต่อไปได้ ทุกยุค ทุกสมัย รัฐบาลพยายามผลักดันไม่ให้คนต้องย้ายถิ่นฐานในการทำงาน เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ๆ ปัจจุบัน แรงงานต่างจังหวัดยังเคลื่อนย้ายเข้ามาในเมืองใหญ่ ดังนั้น ภาครัฐเองไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทย หรือประเทศอื่นๆ จึงพยายามสร้างงานในต่างจังหวัดให้มากขึ้น เพื่อให้มีอาชีพ เพื่อให้มีงาน เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ และจะช่วยลดแรงงานย้ายถิ่นลงได้

3.กลุ่มธุรกิจการเงิน การธนาคาร ในยุค 4G ธนาคารได้รับผลกระทบไม่น้อยถึงขั้นต้องทยอยปิดสาขาไปมากกว่า 200 สาขา และเมื่อถึงยุค 5G เทคโนโลยีมีความเสถียร และจะมีความเร็วมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ธนาคารไม่สามารถขยายสาขาในรูปแบบเดิมๆ เหมือนแต่ก่อนได้ ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยใช้งานผ่านมือถือมากขึ้น ดังนั้น การทำงานในอนาคตจะมีการใช้ AI ในการวิเคราะห์มากขึ้น ธนาคารควรจะต้องมีการเตรียมความพร้อม ปรับตัวรับกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าปรับตัวทัน ก็จะอยู่รอด และพนักงานธนาคารเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

4.กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ทำเลที่ตั้งที่เป็นทำเลทองในการขายสินค้า จะเปลี่ยนไปอยู่ในโลกออนไลน์ โลกยุคใหม่ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องไปเช่าซื้อพื้นที่เพื่อเปิดร้านค้าอีกต่อไป แต่จะไปเปิดร้านค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และในอนาคตผู้ซื้อจะสามารถลองเสื้อผ่านระบบ VR ความจริงเสมือนได้ เหมือนลองเสื้อผ้าได้จริง โดยไม่ต้องเดินทางไปร้านอีกต่อไป

5.กลุ่มธุรกิจการขนส่ง เมื่อมี 5G จะเกิดความเปลี่ยนแปลง แท็กซี่เดิมๆ จะต้องเปลี่ยนไป คนเดินทางจะน้อยลง ทำให้คนใช้งานผ่าน 5G มากขึ้น

6.กลุ่มธุรกิจการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทยยังเป็นจุดแข็งของประเทศ เป็นแหล่งผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เมื่อมีระบบ IoT/AI หรือเทคโนโลยีเข้ามา ภาคเกษตรก็จะต้องปรับตัวด้วยการเพิ่มมูลค่าการผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และใช้ IoT มาช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้สามารถนำพืชชนิดใหม่เข้ามาปลูก และดูแล เพื่อส่งออกได้ ในรูปแบบของ Smart Farming มากขึ้น

7.กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมไทยยังพึ่งพาแรงงานคนอยู่ ซึ่งติดอยู่ 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ จึงต้องหันไปพึ่งพาหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมากขึ้น และจะต้องลดแรงงานคนลง เนื่องจากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย คนหนุ่ม-คนสาวที่เป็นกลุ่มคนชั้นแรงงาน ต้องปรับเปลี่ยน ด้วยการเพิ่มความรู้ให้แก่แรงงานคนให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลระบบอัตโนมัติ

8.กลุ่มทางการแพทย์ เทคโนโลยีใหม่ในการรักษาทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เช่น การผ่าตัดแบบสื่อสัมผัสที่ทำให้หมอ พยาบาล สามารถตรวจรักษาคนไข้ทางไกลได้ ทำให้การเดินทางไปพบแพทย์ พบพยาบาลลดลง

9.กลุ่มธุรกิจสื่อ TV Digital จะได้รับผลกระทบแน่นอน การโฆษณาผ่านทีวีจะเปลี่ยนไป ผู้บริโภคดูทีวีผ่านมือถือ ผ่าน Youtube ดูย้อนหลังมากขึ้น อุตสาหกรรมสื่อจึงต้องหันกลับมาคิดว่าจะมีการปรับตัวกันอย่างไร เพราะโลกยุคใหม่จะไม่มีใครดูทีวีผ่านโทรทัศน์ตามปกติอีกต่อไป คนเริ่มหันไปดูโทรทัศน์ผ่านมือถือ ผ่านออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสามารถข้ามโฆษณา หรือสิ่งที่ไม่ต้องการดูได้

ใครที่ใช้งาน 3G และ 4G มาแล้ว คงจะรู้ว่า 5G คือ การขยายช่องสัญญาณให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตไร้สายสามารถรองรับปริมาณข้อมูลได้มากๆ หรือ “เร็วขึ้น” นั่นเอง โดย 4G นั้น หากไม่มีการแชร์ใช้งาน อาจวิ่งด้วยความเร็วได้สูงหลายร้อยเมกะบิตต่อวินาที

แต่สำหรับ 5G คือ การใช้งานความเร็วที่ระดับ 1 กิกะบิตต่อวินาที (1 Gbps) และมีความเสถียรอย่างมาก เพื่อให้สามารถใช้งานใน IoT ได้หลากหลายขึ้น เช่น รถยนต์ไร้คนขับ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความแม่นยำ และการไปถึงจุดหมายปลายทาง รวมถึงการใช้งาน IoT อื่นๆ ในอนาคตที่ต้องการการทำงานแบบอัตโนมัติ และที่สำคัญด้วยความเร็วที่ไร้ขีดจำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น