xs
xsm
sm
md
lg

Fujitsu ประเทศไทยโตตามเป้า พร้อมส่ง DWOT โกอาเซียนปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไกวัลย์ บุญเสรฐ หัวหน้ากลุ่มงาน Digital Solution และ คอง เษี่ยว เอี้ยน ผู้อำนวยการฝ่าย Digital Innovation  ฟูจิตสึ ประเทศไทย
ฟูจิตสึ ประเทศไทย (Fujitsu Thailand) ดีใจธุรกิจดิจิทัลโซลูชันปี 2018 โตตามเป้าหมาย เพราะลูกค้าภาคการผลิตเติบโตสูง วางแผนปีนี้ลุยทำตลาด Application DWOT ซึ่งพัฒนาโดยฟูจิตสึ ประเทศไทยสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำนโยบายลงทุนปี 2019 จะเน้นที่การพัฒนาโซลูชันเป็นหลัก ไม่ใช่การขยายบุคลากร แต่เป็นการนำทรัพยากรในฟูจิตสึไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ไกวัลย์ บุญเสรฐ หัวหน้ากลุ่มงาน Digital Solution ฟูจิตสึ ประเทศไทย กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ ว่าจะเน้นให้บริการ 4 ด้านหลัก คือ ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP), ระบบจัดการบริการ (Manage Service), นวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) และระบบรักษาความปลอดภัย (Security) โดยจะใช้แนวทาง Human Centric เพื่อพยายามผนวกเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมกับกระบวนการทำงานของพนักงานในองค์กร ให้เชื่อมต่อกันอย่างลื่นไหลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เราจะเน้น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ ค้าปลีก SOHO และภาคการผลิต การเติบโตของบริษัทในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ยังเป็นไปตามเป้าหมาย คือ เกิน 10% ต่อปี สำหรับปีการเงิน 2019 ที่จะเริ่ม 1 เมษายนนี้ ก็เชื่อว่าจะเติบโตตามเป้าที่วางไว้เช่นกัน”

ไกวัลย์ ระบุว่า อัตราเติบโตของฟูจิตสึ ประเทศไทยเกิน 10% นี้สูงกว่าการเติบโตของตลาดไอทีเฉลี่ย เนื่องจากภาพรวมตลาดไอทีปี 2018 เติบโตไม่ถึง 5% โดยธุรกิจดิจิทัลโซลูชันของบริษัทนั้น เพิ่งก่อตั้งครบ 2 ปี เชื่อว่าการนำ 4 คอร์หลักมาให้บริการลูกค้าในช่วงปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่ 3 เชื่อว่าจะมีทิศทางที่ดี และเป็นบวก

เบื้องต้น ผู้บริหารฟูจิตสึ ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนรายได้ของธุรกิจดิจิทัลโซลูชันของฟูจิตสึ ประเทศไทย มาจากบริการโรงงานอัจฉริยะ 40% (Smart Factory) อีก 60% เป็นบริการโครงสร้างพื้นฐาน อนาคตเชื่อว่า สัดส่วนนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่บริการด้านสำนักงานอัจฉริยะ (Smart Workplace) จะเติบโต เนื่องจากพฤติกรรมพนักงานในองค์กรจะเปลี่ยนไป จุดนี้จะสอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจโลกที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการพัฒนาประสิทธิภาพบริษัท

เพื่อให้บริษัทเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ ฟูจิตสึ ประเทศไทย จะเน้นทำตลาดระบบดีวอต (DWOT) หรือระบบ Digital Work & Operation Tracking ซึ่งสามารถติดตามทั้งสิ่งของและพนักงาน ระบบจะเก็บประวัติ คุณสมบัติพนักงาน เพื่อเอามาจับคู่กับพนักงานที่เหมาะสมกับงานได้รวดเร็วแม่นยำ โดยเฉพาะพนักงานที่ผ่านการอบรมในด้านที่เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ระบบสามารถแจ้งเตือนเมื่อพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้อง เข้าสู่สถานที่ต้องห้าม หรือไม่จำเป็น กลุ่มเป้าหมายของระบบนี้ คือ โรงงานพื้นที่กว้างที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป รวมถึงโรงงานที่พื้นที่ไม่ใหญ่ แต่อาจซับซ้อนดูแลไม่ทั่วถึง ราคาของบริการขึ้นอยู่กับความต้องการธุรกิจและการปรับใช้ จุดนี้ฟูจิตสึ ย้ำว่า ราคา DWOT จะต่ำกว่าระบบของประเทศอื่น

“DWOT เป็นระบบแรกที่พัฒนาโดยฟูจิตสึ ประเทศไทย เราเตรียมขยายไปมาเลเซีย และประเทศอื่นในภูมิภาคต่อไป ที่พัฒนาและเริ่มทำตลาดในไทยเป็นที่แรกของภูมิภาค เพราะไทยเป็นประเทศที่มีองค์กรภาคการผลิตจำนวนมาก และมีความต้องการที่หลากหลาย”

คอง เษี่ยว เอี้ยน
คอง เษี่ยว เอี้ยน ผู้อำนวยการฝ่าย Digital Innovation ชี้ว่า DWOT จะเริ่มลุยต่างประเทศในปีนี้ โดยจะใช้วิธีประสานงานกับสำนักงานภูมิภาคที่สิงคโปร์ นำรายละเอียดของ DWOT เข้าไปใส่ในรายการสินค้า เพื่อเสนอต่อลูกค้าในประเทศต่างๆ ลูกค้าที่สนใจจะติดต่อให้ทีมเข้าไปนำเสนอ จุดนี้เชื่อว่า โอกาสในตลาดมีสูง เพราะโรงงานส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้พนักงานนำโทรศัพท์มือถือเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติงาน ทำให้เหมาะต่อการใช้ระบบติดตามเฉพาะทางผ่านชิป RFID, WiFi หรือบลูทูธ ซึ่งมีใน DWOT อย่างครบถ้วน

“เป้าหมายที่วางไว้สำหรับ DWOT คือ ปีนี้จะมีลูกค้ามากกว่า 5-6 รายในประเทศไทยเป็นอย่างน้อย เราอยากวางเป้ามากกว่านี้ แต่ระบบต้องใช้เวลาในการประสานงาน และให้ความรู้ลูกค้า เช่น การสาธิตระบบนั้นต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนต่อราย”

สำหรับภาพรวมตลาดโรงงานอัจฉริยะในไทย ฟูจิตสึ ระบุว่าสามารถแบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ องค์กรขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว และบริษัทข้ามชาติ องค์กรกลุ่มนี้จะมีความรู้และต้องการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ แต่อีกกลุ่ม คือ ธุรกิจขนาดย่อม หรือ SMB ที่ยังต้องอาศัยการให้ความรู้ เรื่องการนำเทคโนโลยีมาผสมผสาน จุดนี้รายได้ของฟูจิตสึ มาจากธุรกิจทั้ง 2 กลุ่มแบบ 50-50 ในแง่รายได้

ฟูจิตสึ เชื่อว่าอีก 10 ปี โรงงานทั่วโลก รวมถึงไทย จะเข้าสู่ยุค AI และหุ่นยนต์ อาจเป็นยุคที่โรงงานจะใช้พนักงานน้อยลง หรือไม่เพิ่มพนักงาน คาดว่า ส่วนใหญ่โรงงานมักจะไม่ลดพนักงาน แต่จะบริหารจัดการให้โรงงานมีผลิตผลมากขึ้นโดยใช้พนักงานเท่าเดิม ความต้องการหลักของโรงงานไทยวันนี้ที่ฟูจิตสึ สัมผัสได้ คือ Just In Time ไม่ใช่การลดต้นทุน แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากที่สุดต่อวัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น