แม้จะยังเริ่มใช้งานในผู้ใช้บางกลุ่ม แต่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ระบุว่า บริการชำระเงิน “ว็อตสแอปเพย์เมนต์” (WhatsApp Payment) จะถูกขยายเพื่อให้บริการในหลายประเทศช่วงปลายปีนี้ ถือเป็นข่าวน่าสนใจในช่วงเวลาที่มีข่าวว่า บริการแมสเสนเจอร์ (Messenger) WhatsApp และอินสตาแกรม (Instagram) จะถูกรวมระบบโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกันในปี 2020
การเปิดเผยเรื่อง WhatsApp Payment เป็นส่วนหนึ่งของข้อสังเกตที่ Zuckerberg กล่าวในระหว่างการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของเฟซบุ๊ก (Facebook) โดย Zuckerberg ยังไม่เปิดเผยกรอบเวลาเปิดตัวระบบชำระเงินใน WhatsApp บนตลาดใหม่ที่แน่นอนในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า WhatsApp จะเปิดตัวบริการชำระเงินในพื้นที่ที่ WhatsApp ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น อินเดีย, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้, มาเลเซีย และบราซิล ทั้งหมดนี้เป็นรายชื่อประเทศที่มีโอกาสสูงมาก ที่จะเป็นตลาดถัดไปสำหรับบริการการชำระเงินบน WhatsApp
นอกจากบริการชำระเงิน WhatsApp ยังเป็นข่าวดังในช่วงปลายมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจาก Mark Zuckerberg เปิดเผยแนวคิดรวมโครงสร้างพื้นฐาน Messenger WhatsApp และ Instagram ซึ่งทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว
เบื้องต้น เจ้าพ่อ Facebook ยืนยันว่า บริษัทต้องการทำให้บริการส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันในเครือมีรูปแบบการทำงานที่ง่ายขึ้น แนวคิดหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงระบบเข้ารหัสในผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาเป็นแบบเอนด์ทูเอนด์ (end to end) ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มผู้ใช้ WhatsApp เนื่องจากผู้ใช้จะรู้สึกปลอดภัย เพราะข้อความที่ถูกส่งจะถูกเปิดได้เฉพาะต้นทางและปลายทางเท่านั้น จุดนี้หากบริษัทใช้การเข้ารหัสที่ทำงานสอดคล้องกันในทุกบริการ ก็จะเป็นโอกาสดี
อย่างไรก็ตาม Zuckerberg ย้ำว่า การรวมโครงสร้างบริการทั้ง Messenger WhatsApp และ Instagram ยังต้องมีการศึกษาหลายด้าน เพื่อหาข้อสรุป คาดว่าจะใช้เวลาเกินปี 2020 หรือนานกว่านั้น จึงจะได้เห็นการควบรวมนี้
นอกจากนี้ เจ้าพ่อ Facebook ยังตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดนี้จะเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติ เพราะจะเปิดให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อความระหว่างแอปได้อย่างยืดหยุ่น เช่น ในประเทศที่นิยมใช้ WhatsApp เป็นหลัก ผู้ใช้จะสามารถส่งข้อความถึงผู้ขายสินค้าที่สนใจบน Facebook Marketplace ผ่าน WhatsApp ได้ อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไม่ต้องกำหนดตายตัวว่าต้องส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันใดเท่านั้น
Zuckerberg ย้ำว่า ปัจจุบัน ผู้ใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์ (Android) หลายสิบล้านคน ซึ่งปัจจุบันใช้ Messenger เป็นแอปหลักสำหรับส่ง SMS จะได้รับประโยชน์จากการเปิดใช้งานการเข้ารหัสแบบใหม่เช่นกัน.