xs
xsm
sm
md
lg

AWS ยังไร้แผนเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์
“อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส” หรือ AWS ขยายทีมเซลเพิ่มเท่าตัว บุกตลาดไทยจริงจังกว่าเดิมปี 2019 ระบุเห็นโอกาสโตในไทยมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลขององค์กรเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม มั่นใจบริการด้านปัญญาประดิษฐ์-บล็อกเชน-ไมโครเซอร์วิส จะเป็น 3 เทคโนโลยีหลักที่จะร้อนแรงในไทยช่วงปีนี้ ส่งให้ส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกโตขึ้นอีกจากที่ทำได้เกิน 51.8% ในไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา

ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแผนธุรกิจปี 2019 ว่า ปีนี้บริษัทมีแผนขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุม 5 ภูมิภาค (Availability Zone หรือ AZ) ได้แก่ อิตาลี, บาห์เรน, ฮ่องกง, สวีเดน และสหรัฐอเมริกา โดยแต่ละประเทศจะมีการจัดตั้ง 2 AZ ซึ่งทุก AZ จะจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ 2 แห่ง เท่ากับ AWS ลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ 4 จุดต่อประเทศ (หรือเขตบริหารพิเศษ)

“ไม่ใช่ว่าเราไม่ตั้งที่ไทย แต่ AWS มีเกณฑ์พิจารณา (criteria) อยู่ เราจะไม่ประนีประนอมในการตั้ง AZ เล็ก แล้วเคลมว่ามีการจัดตั้งในประเทศนั้น แต่เราจะตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีขนาดใหญ่มาก พื้นที่ AZ ที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด คือ สิงคโปร์ นอกนั้นเป็นฮ่องกง, เกาหลี, ญี่ปุ่น, อินเดีย, นิวซีแลนนด์ และจีน ที่จัดตั้งเพื่อให้บริการในประเทศจีนโดยเฉพาะ”

ปัจจุบัน AWS ให้บริการคลาวด์ผ่าน AZ จำนวน 60 แห่งใน 20 ภูมิภาคทั่วโลก ด้วยการลงทุนการวิจัยและพัฒนาอย่างหนัก AWS สามารถทำรายได้รวม 6,680 ล้านเหรียญสหรัฐช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 โดยทำกำไรเพิ่มขึ้น 46% อยู่ที่ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ บนส่วนแบ่งการตลาดโลกกว่า 51.8% นำหน้าคู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์ (13.3%), อาลีบาบา (4.6%), กูเกิล (3.3%), ไอบีเอ็ม (1.9%) และอื่นๆ 25%

น่าเสียดายที่ AWS ไม่เปิดเผยตัวเลขส่วนแบ่งตลาดไทย โดย ดร.ชวพล กล่าวเพียงว่า ตลาดไทยเติบโตเกินความคาดหวัง เพราะวันนี้ AWS มีลูกค้าในไทยทุกอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับลูกค้าในประเทศอื่น โดยปี 2019 บริษัทได้แบ่งเซกเมนต์กลุ่มลูกค้าใหม่เป็น 4 ส่วน จากที่รวมเป็น 3 ส่วนในปี 2018

4 กลุ่มตลาดที่ AWS จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2019 คือ ตลาด Enterprise องค์กรใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม, ตลาด Digital Native Business องค์กรที่ทำธุรกิจโดยพึ่งพาระบบดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มนี้จะรวมทั้งสตาร์ทอัป และหน่วยธุรกิจเกิดใหม่, ตลาด ISV หรือ Independent Software Vendor ซึ่งสร้างซอฟต์แวร์ หรือโซลูชันบนแพลตฟอร์ม เพื่อนำระบบไปจำหน่ายแก่องค์กร และสุดท้าย คือ กลุ่ม SMB ทั่วไปที่ไม่อยู่ใน 4 กลุ่มนี้

สิ่งที่ AWS จะทำกับ 4 กลุ่ม เพื่อขยายธุรกิจในปีนี้ คือ การจัดทีมพิเศษเพื่อเข้าไปตอบความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะ ซึ่งจะเน้น 2 ส่วน คือ การทำความเข้าใจเป้าหมายขององค์กร และการช่วยให้องค์กรพ้นความท้าทาย ทั้งเรื่องการลดต้นทุน และการสร้างระบบลูกผสมที่สามารถนำเทคโนโลยีเก่าที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากการทำความเข้าใจลูกค้าหลากหลายกลุ่มทั้งสถาบันการเงิน โทรคมนาคม ธุรกิจสุขภาพ และธุรกิจค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ AWS เปิดตัวบริการใหม่เฉลี่ย 3-4 บริการใหม่ต่อวัน ซึ่งในกลุ่ม 1,500 บริการใหม่ที่ AWS เปิดตัวตลอดปีที่ผ่านมา พบว่า Top 3 บริการที่จะมีอิทธิพลในตลาดไทย คือ บริการที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน และคอนเทนเนอร์ ไมโครเซอร์วิส

ด้านปัญหาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร AI/ML นั้น AWS ยืนยันว่าจะช่วยให้องค์กรไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ในการสอนเครื่องจักร สำหรับบริการด้านบล็อกเชน AWS ให้บริการทั้งทางลัดด้วยการสร้างดาต้าเบสที่เข้ารหัส เพื่อป้องกันการแก้ไขดัดแปลงตามสไตล์บล็อกเชน และทางตรง คือ ระบบบล็อกเชนเต็มรูปแบบที่ได้มาตรฐาน เพื่อการันตีความแท้ของข้อมูล ขณะที่บริการด้านไมโครเซอร์วิส จะเน้นเพิ่มการสนับสนุนให้นักพัฒนาใช้ภาษาที่หลากหลายในการพัฒนาซอฟต์แวร์

“นี่คือ ด้าน Innovation แต่ด้านความท้าทายอย่างการลดต้นทุน หรือปัจจัยอื่นในกลุ่ม retiring technical dept ก็เชื่อว่าจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน” โดยบริการหลักที่ AWS เตรียมไว้สำหรับกลุ่มลดต้นทุน คือ ระบบไฮบริดคลาวด์ที่จะรองรับระบบวีเอ็มแวร์ (VMware) ซึ่งเป็นบริการที่องค์กรกว่า 80% ใช้งานอยู่ในตลาด ให้สามารถผ่องถ่ายระบบไปทำงานบน Back office รุ่นใหม่ได้

“ทั้งหมดนี้เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดใช้งานทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เป้าหมายของ AWS ตลอดปีนี้ในตลาดไทย คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้ทีม เราแยกเซกเมนต์ เพื่อให้ตอบลูกค้าได้มากขึ้น แยกความต่างลูกค้าแต่ละกลุ่มได้มากขึ้นอีก จำนวนทีมงานไทยขณะนี้เปิดเผยไม่ได้ แต่ยืนยันว่าขยายเท่าตัวเทียบกับปีที่ผ่านมา”

ดร.ชวพล ย้ำว่ามองเห็นโอกาสในตลาดไทยมากขึ้นในช่วงปี 2019 โดยแรงผลักดันในตลาดไทย คือ ความเข้าใจในเทคโนโลยีของลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดขึ้นบนความคาดหวังสูงของผู้บริโภคที่อยากให้ดีขึ้น เร็วขึ้น ราคาถูกลง ที่สำคัญ วันนี้ธุรกิจไม่ได้แข่งขันแต่ในประเทศ และไม่ได้แข่งแต่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน การที่องค์กรตระหนัก และผู้บริหารองค์กรรู้ว่าต้องเปลี่ยน เป็นสิ่งที่ 3 ปีก่อนไม่มี

“ผมไม่คิดว่า ตลาดไทยต่างจากที่อื่น ตั้งแต่อยู่มาจะเห็นว่า ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย เหมือนกันหมด คือ มีโอกาสโต ตั้งแต่ปี 2016 เรา AWS เป็นบริษัทไอทีโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรม เพราะเราพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่า เงินที่จ่ายไป ทำให้เกิดประโยชน์จริง โดยเฉพาะลูกค้าไทย ที่ยังเพเนเทรชันยังต่ำมาก เฉลี่ยราว 5-10% เท่านั้นเอง สัดส่วนนี้แสดงว่า เรายังมีพื้นที่อีกมากให้เติบโต”.


กำลังโหลดความคิดเห็น