xs
xsm
sm
md
lg

“นที” ลั่นเปิดประมูล 700 MHz ช่วง ธ.ค.62 เหมาะสมที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พ.อ.นที” เผยรีบประมูลคลื่น 700 MHz เร็วเกินไปไม่เกิดประโยชน์ ชี้ต้องเตรียมการหลายด้าน คาดเปิดประมูล ธ.ค.2562 ดีที่สุด เผยร่างฯ ผ่านทีวีดิจิทัลรายไหนจะคืนใบอนุญาตก็ได้ เพราะถือว่าได้เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว แต่ไม่มีการเยียวยา หรือจ่ายเงินชดเชยคืนแต่อย่างใด ด้าน “เขมทัตต์” แอบหวั่นใจ ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล เข้าใจหัวอกผู้ประกอบการโทรคมนาคม เชื่อการยืดระยะเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาตจะทำให้ผ่อนคลายขึ้น

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz กล่าวภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยเกี่ยวกับ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz ว่า หลังจากนำร่างขึ้นประกาศในเว็บไซต์กสทช.ภายในวันที่ 18 ม.ค. หรืออย่างช้าสุดภายในวันที่ 21 ม.ค.นี้ และนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ


คาดว่าภายในเดือน เม.ย.2562 ประกาศฯจะผ่านลงราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้น ต้องใช้เวลา 8 เดือนในการเตรียมการต่างๆ โดยเรื่องแรกต้องได้ข้อสรุปเรื่องการประเมินมูลค่าคลื่น 700 MHz, การทำแผนคลื่นความถี่ทีวีฉบับใหม่ และการทำแผนการปรับเปลี่ยนความถี่โครงข่ายทีวี ซึ่งแต่ละช่องต้องทำแผนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอุปกรณ์จากคลื่น 700 MHz มาใช้คลื่น 470 MHz เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และนำค่าใช้จ่ายตามจริงมาเตรียมเสนอเบิกกับ กสทช.

ดังนั้น กสทช. จำเป็นต้องดำเนินเรื่องต่างๆ ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนถึงจะจัดการประมูล ที่คาดว่าจะประมูลในเดือน ธ.ค.2562 และไม่มีความจำเป็นต้องรีบประมูลก่อน เพราะอย่างไรเสียผู้ชนะการประมูลก็ได้ใช้คลื่นในเดือน ธ.ค.2563 อยู่ดี การที่ต้องรีบประมูล และรีบจ่ายเงินจึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ประโยชน์อะไร

หลังจากประมูลเสร็จ กสทช. ต้องดำเนินการให้โครงข่ายเสนอแผนการปรับความถี่ เพื่อให้ กสทช. อนุมัติ จากนั้นผู้ชนะประมูลจึงจ่ายเงินค่าประมูลงวดแรก 20% ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 เพื่อ กสทช. จะได้นำเงินที่ได้จากการประมูลส่วนหนึ่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และนำมาให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดย กสทช. จะใช้ระยะเวลา 10 เดือน ในการให้โครงข่ายปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่

สำหรับประเด็นเรื่องการคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น หากเนื้อหาในร่างประกาศฯ ที่ระบุว่าจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้ประกอบการให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าประมูลงวดที่เหลือทั้งหมด, ค่าเช่าบริการโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) หากทีวีดิจิทัลจะคืนใบอนุญาตก็ทำได้ แต่จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แต่อย่างใด เพราะเป็นเงินของรัฐบาล

พ.อ.นที กล่าวว่า เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องรีบประมูลภายในเดือน พ.ค.2562 ก็ยังมีโอกาสให้ผู้สนใจตัดสินใจเข้าร่วมประมูล ส่วนกรณีที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ว่าไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz หากรัฐบาลไม่ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz นั้น ตนเองเข้าใจและเห็นด้วยมาตั้งแต่แรกแล้วว่า จำนวนเงินดังกล่าวเป็นมูลค่าที่สูงเกินไป หากรัฐบาลจะช่วยก็สามารถช่วยได้ คิดว่าในแง่ของการบริหารจัดการสามารถทำได้ แต่ก็ต้องระวังไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ด้วย

“ตอนที่เราประมูลทีวีดิจิทัล เราก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างทุกวันนี้ สื่อออนไลน์ได้รับความนิยมมาก มาเร็ว และไม่มีต้นทุน ดังนั้น ทีวีดิจิทัลก็ไม่ควรมีต้นทุนเช่นกัน การช่วยเหลือทีวีดิจิทัลในร่างประกาศฯ เราช่วยระยะยาวเป็น 10 ปี หากไม่มีใครมาประมูล หรือประมูลไม่หมด กสทช. ก็จะจัดการประมูลต่อไปเรื่อยๆ และทยอยนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ จะไม่มีการนำเงินของ กสทช. ออกไปให้เองก่อนแต่อย่างใด”

ขณะที่ นายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า ลึกๆ แล้ว ก็กังวลเหมือนกันว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz เพราะเข้าใจว่า การประมูลคลื่น 900 MHz ในครั้งที่ผ่านมา ราคาประมูลสูงเกินจริง ขณะที่ผู้ประกอบการต้องใช้เงินลงทุนโครงข่าย แต่การประมูลคลื่น 700 MHz ครั้งใหม่ก็มีข้อดีตรงที่มีการขยายงวดการชำระเงินที่ทำให้ผู้ชนะการประมูลได้ผ่อนคลายมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น