xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 3 ปีรัฐบาลดิจิทัล “ดร.ศักดิ์” ให้คะแนน 8.5 เต็ม 10

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด
ตรวจการบ้านความคืบหน้าการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย “ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” หัวเรือใหญ่ DGA ผู้นำทัพยกระดับภาครัฐไทยประเมินผลงาน 3 ปีสอบผ่านเพราะประชาชนไทยตื่นตัวใช้บริการทั่วถึง แต่คะแนนไม่เต็ม 10 เพราะยังติดปัญหาในบางหน่วยงานโดยเฉพาะเรื่องบุคลากร จุดพลุปีนี้เริ่มดันคอร์สอบรมข้าราชการทุกระดับ 20 หน่วยงานรัฐผ่าน MOU ตั้งเป้ายกเลิกการใช้สำเนา 3 เอกสารหลักแบบ 100% ภายในปีนี้

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) กล่าวในงานสัมนา Digital Government Summit 2019 ว่าการสรุปความคืบหน้าการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจะ พิจารณาจาก 4 ยุทธศาสตร์ที่ระบุไว้ในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 3 ปี (2559-2561) ได้แก่ การยกระดับรัฐบาลดิจิทัล, การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน, การยกระดับขีดความสามารถภาคธุรกิจ และการยกระดับความปลอดภัยและมั่นคงของประชาชน ซึ่งหากมองจากคะแนนเต็ม 10 ดร. ศักดิ์ระบุว่าจะให้คะแนนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ 8.5 คะแนน

“อีก 1.5 คะแนนที่ตัดทิ้งไปเพราะหลายหน่วยงานยังจำเป็นต้องเข้าไปช่วย ทำให้เราเห็นปัญหาเรื่องคนและการปรับตัวของข้าราชการ ถ้าดูตัวเลขพร้อมเพย์จะเห็นว่าคนไทยใช้เยอะมาก และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือคนรายได้น้อยก็ได้รับประโยชน์"


จากปี 2559 รัฐบาลไทยจุดพลุ “พร้อมเพย์” ให้ประชาชนรู้ว่าการจ่ายเงินไม่ต้องใช้เงินสดแล้ว จากนั้นก็เริ่มระบบให้บริการข้อมูลเกษตรกรกลาง เพื่อให้เกษตรกรบูรณาการบนข้อมูลชุดเดียว ซึ่งทำให้รัฐบาลทราบว่าต้องช่วยเหลือด้านใด นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐ เรื่องฐานข้อมูลท่องเที่ยว และล่าสุดคือการเปิดตัวแอปพลิเคชัน CITIZENinfo ที่ประชาชนไทยจะเข้าถึงข้อมูลได้จากปลายนิ้ว

สถิติ Prompt Pay ฮอตสุด

ตลอด 3 ปี 2559-2561 โครงการรัฐบาลดิจิทัลที่โดดเด่นที่สุดต้องยกให้พร้อมเพย์ (prompt pay) เนื่องจากมีลงทะเบียนสะสมรวม 46 ล้านรายการ ปริมาณการโอนเงินถึง 7 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ 1,002 ล้านรายการ มูลค่าการโอน 5.1 ล้านล้านบาท

ขณะที่โครงการ Biz Portal ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ มีส่วนยกระดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย ได้รับคะแนนจากยูเอ็นมากขึ้น อยู่อันดับ 27 จาก 190 ประเทศ
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
ฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer One) มีเกษตรกรที่ออนไลน์แล้ว 8 ล้านครอบครัว ขณะที่ Linkage Center การบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ มีการใช้งานจากหน่วยงานรัฐแล้วเกิน 11 ล้านครั้ง หน่วยงานรัฐกว่า 186 แห่งมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชาชนกับสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามหน่วยงานผ่านระบบ Linkage Center จำนวน 151 ฐานข้อมูล

ขณะที่กระทรวงการคลังและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เริ่มบูรณาการข้อมูลร่วมกันผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในจำนวนผู้มีสิทธิ์ 3 ล้านรายมีการรับบัตรไปแล้ว 91% ภาพรวมการใช้จ่ายทะลุ 5 หมื่นล้านบาทเรียบร้อย

ยังมีบริการ Thailandtic.com ที่รวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทย ที่จะทำให้เอกชนไทยได้รับรู้ข้อมูลนักท่องเที่ยวเพื่อต่อยอดธุรกิจได้
บรรยากาศงานสัมนา Digital Government Summit 2019
สิ่งที่แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำลังรอคอยเพื่อก้าวต่อไปคือ พระราชบัญญัติการบริหารงาน และการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ... ซึ่งเชื่อว่าจะมีการผ่านร่างภายในมีนาคมนี้ ซึ่งจะทำให้เป้าหมายของกฏหมายรัฐบาลดิจิทัลเป็นจริง

“พรบ.นี้จะแก้ไขปัญหาเรื่องดำรวจไม่ยอมรับใบขับขี่ดิจิทัล พรบ.นี้ผ่านวาระที่ 1 แล้ว กำลังจะผ่านวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป คาดว่ามีนาคมนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น”

เป้าหมายใหญ่คือข้าราชการ

ดร.ศักดิ์ย้ำว่า 3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นการวางรากฐานเตรียมความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลเพื่อการก้าวต่อไป นั่นคือการเปลี่ยนถ่าย ซึ่งจะไม่ใช่เรื่องการแก้กฏระเบียบหรือเชื่อมข้อมูล แต่ข้าราชการทุกคนต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตให้ใช้ดิจิทัลอย่างมีประโยชน์ จุดนี้จะทำได้ด้วยการวางเป้าให้ประชาชนนำข้อมูลภาครัฐที่เป็นดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในรูปธุรกิจใหม่

“นี่คือไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง ใบอนุญาตต่างๆก็จะเป็นดิจิทัล เอกสารจะอยู่ในดิจิทัล นี่คือสิ่งที่เราจะก้าวไป”

ดร.ศักดิ์ย้ำว่าการเลิกเก็บสำเนาในการทำธุรกรรมภาครัฐจะมีผลกับ 3 ส่วนก่อนในระยะแรก ได้แก่สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และใบอนุญาต จุดนี้ DGA ย้ำว่าจำนวนใบอนุญาตออนไลน์ที่รองรับการใช้งานจริงขณะนี้มีมากว่า 40 ใบ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 ใบได้ในปี 62 จากใบอนุญาตที่มีการใช้งานบ่อย 300 ใบ

“เอกสารหลักจะยกเลิก 100% ในปีนี้ บางอย่างอาจต้องรอ 2-3 ปี คิดว่าอีก 2 ปีน่าจะพอไหว ประชาชนจะไม่ต้องเดินทางไปไหน ขอออนไลน์ได้หมด ได้รับทุกบริการจากที่เดียว“

แต่ละปี รัฐบาลไทยมีค่าใช้จ่ายในการจัดการเอกสารกระดาษมากกว่า 1 พันล้านบาท ร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลจะทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าบริการคัดลอกเอกสารเช่นใบอนุญาตนิติบุคคล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 100-200 บาทต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายที่ลดลงไปได้นี้ ถือเป็นเพียงผลพลอยได้จากการตั้งรัฐบาลดิจิทัลเท่านั้น เพราะภาพใหญ่ที่รัฐบาลต้องการก็คือบิ๊กดาต้าที่สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้
นิทรรศการ DG Village ภายในงานสัมนา Digital Government Summit 2019
ก้าวต่อไปเข้มข้นต่อเนื่อง

ก้าวต่อไปนอกเหนือจาก 3 ปีแรก แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจะเข้าสู่การเร่งประชาสัมพันธ์ หนึ่งในนั้นคือแอปพลิเคชัน CITIZENinfo ซึ่งมีลักษณะเหมือน “Google Map ของภาครัฐฯ” เช่นหากประชาชนต้องการทำใบขับขี่ แอปจะบอกข้อมูลว่าต้องเดินทางไปหน่วยงานใด ระบบจะแสดงให้ผู้ใช้ได้เห็นว่าหน่วยงานไหนอยู่ใกล้ที่สุด ต้องใช้หลักฐานใด รวมถึงรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ 6 หมื่นจุดทั่วประเทศที่เป็นศูนย์บริการครบวงจร

นอกจากการประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชัน CITIZENinfo ล่าสุดมีการเซ็น MOU ระหว่าง 19 กระทรวงและสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมมือกันพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่ข้าราชการและบุคลากรรัฐให้เป็นในทิศทางเดียวกัน

“เราจะบังคับข้าราชการ 3 ล้านคนทยอยเข้าคอร์สภายใน 3 ปี แบ่งเป็นเฟสแรกคือผู้บริหาร ที่จะต้องวางแผนเพื่อทำดิจิทัล ทรานสฟอเมชัน กลุ่มนี้จะครอบคลุมรองอธิบดีและปลัดกระทรวงที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการ ขณะที่ข้าราชการชั้นปฏิบัติการก็จะต้องรู้วิธีการทำงานบนระบบดิจิทัล ทั้งหมดนี้จะเริ่มขึ้นผ่าน 20 หน่วยงานพันธมิตร ที่จะทยอยและช่วยกันสร้างคอร์สอบรมยกระดับบุคลากรข้าราชการ”


ดร.ศักดิ์ ย้ำอีกว่าวันนี้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทยครบถ้วนทั้ง ABC คือ AI, Blockchain และ Cloud โดยบอกว่าการพัฒนา AI ภาครัฐขณะนี้อยู่ในขั้นตั้งคณะกรรมการ ซึ่งจะพิจารณาแนวทางการพัฒนา AI เป็นประเด็นไป ขณะที่ Blockchain จะพัฒนาเป็นวงสำหรับหน่วยงานเฉพาะ เช่น Blockchain สำหรับกระทรวงสาธารณสุขที่เริ่มทดลองนำร่องแล้วที่จังหวัดสระแก้ว จุดนี้ Blockchain จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในอนาคตเพราะสามารถตรวจสอบความแท้ของเอกสารดิจิทัล อย่างเช่นโฉนดและใบอนุญาตได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี

สำหรับ Cloud รัฐบาลไทย ดร.ศักดิ์ย้ำว่าปัจจุบัน DGA ให้ความสำคัญกับการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Cloud ซึ่งทุกฝ่ายจะมีส่วนรวมในการพัฒนา ไม่ใช่ DGA เป็นผู้ดำเนินการคนเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดการผ่องถ่ายข้อมูลบน Cloud ได้แบบครบวงจร ทั้งเรื่องพร้อมเพย์ เรื่องใบกำกับภาษีดิจิทัล หรือข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยที่ทั้งหมดไม่ต้องใช้กระดาษเลย

ดร.ศักดิ์ยอมรับว่า การใช้ Cloud บนหน่วยงานภาครัฐในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นการบูรณาการข้อมูลเท่านั้น (ในรูป Biz Portal) แต่เป้าหมายในอนาคตคือการพัฒนาเป็น Real Time Open Data ที่ประชาชนสามารถรับข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ซึ่งปัจจุบันกว่าจะอัปเดทต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมง

ปัจจุบัน ฐานข้อมูลภาครัฐฯมีจำนวนราว 1,000 ฐานข้อมูล ราว 200 ฐานข้อมูลเป็นส่วนหลักที่มีการใช้งานประจำ ในจำนวนนี้มี 150 ฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงบนแพลตฟอร์ม Cloud เหลืออีก 50 ฐานข้อมูลที่เชื่อว่าจะเชื่อมโยงได้สำเร็จในปีนี้-ปีหน้า

“ทุกวันนี้ เอกสารราชการเป็นไฟล์ดิจิทัลพร้อมให้คนไทยดาวน์โหลดแล้ว เหลือเพียงแค่รอ Digital ID ซึ่งจะมากลางปีนี้ ก็จะทำให้ประชาชนดาวน์โหลดไปใช้งานได้ทันทีร่วมกับ Digital ID และ e-KYC สำหรับการยืนยันตัวบุคคล"


หากมองถึงความเสี่ยงจากเอกสารราชการที่เป็นไฟล์ดิจิทัลให้คนดาวน์โหลด ดร.ศักดิ์มองว่าความสำเร็จของอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้งจะตอกย้ำถึงโอกาสที่หน่วยงานรัฐสามารถดำเนินการได้เช่นกัน ซึ่งหากธนาคารยอมใช้การระบุตัวตนดิจิทัลให้ลูกค้าสามารถโอนเงินได้ รัฐบาลก็สามารถเปิดทางให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้ออนไลน์จากที่ใดก็ได้เช่นกัน

สำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน รัฐบาลดิจิทัลก็ยังเปิดพื้นที่บริการครบวงจรให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้จากที่เดียวโดยใช้บัตรประชาชนเท่านั้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น