xs
xsm
sm
md
lg

ThaiRun สตาร์ทอัปไทยดึง AI ช่วย “ตากล้องงานวิ่ง” ขายภาพเฉลี่ย 4 หมื่นใบต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รศ.ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ
ไทยรัน (ThaiRun) สตาร์ทอัปไทยประกาศความสำเร็จปี 2561 ทำกำไรงดงามหลังจากเริ่มก่อตั้ง 2 ปี ระบุเตรียมระดมทุนใหญ่มีนาคมปี 63 เพื่อลับคมแพลตฟอร์มให้รองรับงานที่หลากหลายกว่าเดิม เผยแพลตฟอร์ม Thai.Run ตลาดซื้อขายภาพงานวิ่งที่มีระบบค้นหาใบหน้าด้วยเทคโนโลยี AI และ Big Data มียอดขายเฉลี่ย 4 หมื่นใบต่อเดือน ท่ามกลางภาพงานวิ่งที่ถูกอัปโหลดเข้ามาในระบบมากกว่า 8 แสนภาพต่อสัปดาห์

รศ.ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ ประธานบริหาร บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด ระบุว่า หลังจากเริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2559 วันนี้ ThaiRun เป็นสตาร์ทอัปที่เริ่มทำกำไรแล้วในปี 2561 โดยปี 62 บริษัทจะเน้นขยายธุรกิจไปยังงานวิ่งต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็จะขยายรูปแบบบริการ AI ให้หลากหลายขึ้น

“ThaiRun มีเทคโนโลยีเฟซเอ็กซ์ (Face X) สามารถใช้ค้นหาใบหน้าใครก็ได้ ในงานขนาดใดก็ได้ นอกจากการขายภาพงานวิ่ง เรากำลังขยายมาในกลุ่มงานแต่งงาน หรืองานรับปริญญา ซึ่งเป็นงานที่ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่อยากได้ภาพถ่ายของตัวเอง ไม่มีปัญหาละเมิดความเป็นส่วนตัว”
กมล สิริชัน
รศ.ดร.บุญญฤทธิ์ อธิบายว่า Face X เป็นระบบค้นหาใบหน้า และระบบจดจำใบหน้าที่บริษัทพัฒนาขึ้น เพื่อให้ทำงานได้ภายในเสี้ยววินาที เพราะพลัง Big Data และ AI (การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และปัญญาประดิษฐ์) ความสามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ทำให้เทคโนโลยีนี้เหมาะกับงานวิ่งมาราธอนที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก เน้นความเร็ว ซึ่งไม่ต้องแม่นยำสูง และหากแสดงผลครอบคลุมภาพของบุคคลอื่น ก็ไม่ใช่ความเสียหายร้ายแรง

“Face X ใช้วิธีจับใบหน้า โดยจะดึงดัชนี 32 ตัว ซึ่งจะไม่เปลี่ยนตามการหมุนของหน้า เช่น ดัชนีความห่างของตา หรือความยาวของตาเทียบกับริมฝีปาก อัตราส่วนนี้จะไม่เปลี่ยนไปเมื่อเอียงใบหน้า ระบบ Face X จะไม่กำหนดให้ดัชนีใบหน้าต้องตรงกันทั้งหมด แค่ตรง 16 ตัว หรือครึ่งหนึ่ง ก็แสดงผลเจอแล้ว ต่างจากระบบจดจำใบหน้าที่ต้องใช้ในการตรวจคนเข้าเมือง จะใช้ดัชนี 140 ตัว ซึ่งละเอียดและแม่นยำกว่า”

สิ่งที่ ThaiRun ทำ คือ การนำเทคโนโลยี Face X มาให้บริการในรูปแพลตฟอร์มผ่านบริการชื่อ Photo.Thai.Run หน้าที่หลัก คือ การเป็นระบบค้นหาภาพจากใบหน้า ที่ตากล้องงานวิ่งจะใช้เป็นแหล่งอัปโหลดภาพที่ถ่ายนักวิ่งมาราธอนแต่ละรายในงาน นักวิ่งที่ต้องการค้นหาภาพตัวเอง สามารถโหลดภาพใบหน้าของตัวเองลงในระบบ แล้วระบุงานวิ่งที่ตัวเองเข้าร่วม เพื่อให้ระบบค้นหาภาพจากใบหน้าใกล้เคียง จุดนี้ไทยรันประเมินว่า Face X มีความแม่นยำสูง 95% แสดงผลลัพธ์ภาพได้ค่อนข้างครบถ้วน ทำให้นักวิ่งไม่จำเป็นต้องหาภาพทีละภาพจากตากล้องแต่ละรายอีกต่อไป

ความสำเร็จของ Photo.Thai.Run คือ วันนี้ตากล้องงานวิ่งอัปโหลดภาพเข้าระบบมากกว่า 8 แสนรูปต่อสัปดาห์ ระบบสามารถจำหน่ายภาพได้เฉลี่ย 4 หมื่นรูปต่อเดือน (5%) จุดนี้ไม่สามารถเทียบอัตราการเติบโตได้ชัดเจน เพราะไม่มีการเก็บข้อมูลในช่วงก่อนหน้านี้ เหตุผลที่ได้ผลตอบรับดีมากเช่นนี้ เพราะ Photo.Thai.Run แบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ช่างภาพกว่า 80% ซึ่งมากกว่าแพลตฟอร์มจำหน่ายภาพอื่นที่ให้สัดส่วนรายได้ต่ำกว่า

“อนาคต ระบบอาจจะรวมงานวิ่งหลายได้ แต่ระยะเวลาค้นหาอาจจะนานขึ้นเพราะจำนวนภาพในระบบจะสูงมากมหาศาล เนื่องจากงานวิ่งหนึ่งมีภาพถ่ายเป็นล้านใบ”

งานนั้น คือ งานวิ่งบางแสน 21 มินิฮาล์ฟมาราธอน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา งานดังกล่าวเป็นงานวิ่งแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโลก IAAF Bronze Label มีภาพ Official Photo Search ให้ค้นหามากกว่า 1 ล้านรูป นอกจากภาพใบหน้าของนักวิ่ง ผู้ใช้สามารถค้นหาได้โดยเลขประจำตัวนักวิ่ง หรือ BIB ร่วมด้วย

แผนธุรกิจในอนาคต ไทยรัน ชี้ว่า ระบบ Face X กำลังเริ่มนำไปใช้ยกระดับงานวิ่งมาราธอนในด้านอื่น เช่น การรักษาความปลอดภัย การจับโกงของนักวิ่ง และการระบุโรคของนักวิ่งได้ทันท่วงที จุดนี้ Face X สามารถช่วยดูแลเหตุงานวิ่งได้ครบกว่าการตรวจใบหน้าที่จุดเช็กพอยต์เท่านั้น

“ตอนนี้ที่เราเริ่มประยุกต์ใช้ ถือว่าก้าวหน้ากว่างานวิ่งในหลายประเทศ ไม่ครอบคลุมเท่านี้” รศ.ดร.บุญญฤทธิ์ ระบุ “นอกจากการวิ่ง ระบบ Face X ยังสามารถใช้กับงานแต่งงาน เพื่อให้ระบบช่วยหารูปที่มีหน้าตัวเอง หรืองานรับปริญญาที่เปิดให้ช่างภาพ ซึ่งได้รับอนุญาตมาร่วมถ่าย แล้วขายรูป เรียกว่าได้ทุกงานที่เกี่ยวกับภาพถ่าย เช่น งานมอเตอร์โชว์”

นายกมล สิริชัน ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด อธิบายเพิ่มว่าบริษัทไม่มีการจ้างตากล้อง และลงทุนค่าเซิร์ฟเวอร์ขนาดมหาศาล สิ่งที่คาดหวังในปีนี้คือการขยายไปงานต่างประเทศ เช่น งานวิ่งในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะมีการปรับชื่อระบบจาก “ไทยดอทรัน” เป็นบริการ “รันเอ็กซ์” เชื่อว่าจะสามารถสร้างโอกาสจากช่องว่างที่มีในตลาดตากล้อง ซึ่งบางรายยอมเสียค่าใช้จ่ายสูง เพื่อจ้างช่างภาพส่วนตัว ขณะที่บางคนไม่มี

“ลิขสิทธิ์ภาพ 100% เป็นของช่างภาพ ไทยรัน เป็นแพลตฟอร์มค้นภาพ เรามีประชุมช่างภาพทุก 3 เดือน เพื่ออัปเดตข้อมูล หรือให้ความรู้ เพื่อให้ช่างภาพขายภาพถ่ายของตัวเองได้ดีขึ้น”

หนึ่งในความรู้ที่ AI ของระบบ Photo.Thai.Run สรุปได้ในช่วง 1 ปี คือ ภาพงานวิ่งที่ได้รับมากที่สุด คือ ภาพที่มีวิวสวย และภาพถ่ายที่เส้นชัย ซึ่งเป็นจุดที่นักวิ่งจะมีอารมณ์ปลอดโปร่งที่สุดนี้เอง ที่ช่างภาพงานวิ่งมักจะตั้งจุดถ่ายภาพรัวหลายพันหมื่นภาพแบบไม่ยั้ง ซึ่งทำให้ระบบ Photo.Thai.Run มีภาพหลายแสนไฟล์ในคลังทุกสัปดาห์

ปัจจุบัน Photo.Thai.Run รองรับระบบจ่ายเงินบนแพลตฟอร์มผ่านการกรอกอีเมล แล้วจ่ายเงินด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต ไอแบงก์กิ้ง และไลน์เพย์ กลุ่มตลาดหลัก คือ นักวิ่งในงานวิ่งไทย 4 หมื่นคนต่อสัปดาห์ จุดนี้พบว่าตลอด 52 สัปดาห์ในปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดงานวิ่งมาราธอนราว 1,000 งาน สำหรับปี 2562 เชื่อว่าอยู่ที่ราว 1,200 งานต่อปีทั้งงานใหญ่ และงานย่อย ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีราว 100 งาน

ภาพที่ถูกจำหน่ายมากที่สุดบน Photo.Thai.Run คือ ภาพความละเอียดต่ำราคา 50 บาท ภาพกลุ่มนี้คิดเป็น 80% ของภาพทั้งหมดที่จำหน่ายได้ อีก 20% ที่เหลือเป็นภาพที่มีความละเอียดสูงขึ้นราคา 100, 150 และ 200 บาท สถิติลูกค้าที่เคยซื้อภาพในระบบสูงที่สุดคือรายละ 4,000 บาท

นอกจาก Photo.Thai.Run ยังมีบริการอื่นที่เป็นแหล่งรายได้ให้ไทยดอทรัน คือ รายได้จากบริการแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์สำหรับการลงทะเบียน ระบบติดตามนักวิ่งตามจุด Check Point และเว็บร้านค้า shop.thai.run ร้านค้าออนไลน์ ที่ขายเสื้อวิ่งและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากพันธมิตร ซึ่งทำรายได้ให้บริษัทอีกทาง.


กำลังโหลดความคิดเห็น