xs
xsm
sm
md
lg

Google โชว์เทคโนโลยีผ่านรถไฟสไตล์ดิสนีย์ที่ CES 2019

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บรรยากาศการนั่งรถไฟราง The Ride ของ Google
มหกรรมแสดงเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค CES 2019 เริ่มขึ้นแล้วที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนานาบริษัทไอทีที่เดินแถวเข้าร่วมงานเพื่อโชว์เทคโนโลยีของตัวเอง ที่โดดเด่น คือ กูเกิล (Google) เจ้าพ่อเสิร์ชเอนจินที่โชว์ฟีเจอร์เด่นด้วยรถไฟสไตล์สวนสนุกดีสนีย์ เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ร่วมงานกว่า 180,000 คนใน 150 ประเทศ

Google เปลี่ยนโฉมงาน CES เป็นสวนสนุกด้วยการเนรมิตรถไฟรางประกอบเพลงสไตล์ดิสนีย์ เพื่อแสดงคุณสมบัติใหม่ของระบบผู้ช่วยดิจิทัลที่รองรับคำสั่งเสียง ผู้นั่งบนรถไฟจะได้รู้จักกับ “โหมดแปลภาษา” หรือ interpreter mode ในอุปกรณ์สมาร์ทโฮมตระกูล Google ที่สามารถทำงานเป็นล่ามแปลภาษาได้ ระบบดังกล่าวเริ่มถูกนำร่องทดลองใช้งานที่แผนกดูแลลูกค้าของโรงแรมที่ใกล้กับงานประชุม CES แล้ว คาดว่าจะมีการเปิดตัวบนอุปกรณ์ Android อื่นในอีกหลายสัปดาห์นับจากนี้
ผู้โดยสารรถไฟรางประกอบเพลงความยาว 3 นาทีของ Google จะได้ชมตัวการ์ตูนน่ารักเหมือนการเล่นเครื่องเล่น Small World ที่สวนสนุก Disney
การจำลองเครื่องเล่นของดีสนีย์ครั้งนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอของ Google ที่จัดงานโปรโมตระบบ Google Assistant ที่ CES เป็นปีที่สอง โดยพื้นที่จัดงานปีนี้ ถูกขยายเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับ CES 2018

ที่ผ่านมา Google ทุ่มเทประชาสัมพันธ์ตัวเองเต็มที่ผ่านงาน CES เพื่อพยายามเอาชนะคู่แข่งอย่างอะเล็กซ่า (Alexa) ระบบผู้ช่วยดิจิทัลของอะเมซอน (Amazon) ซึ่งมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในหลายประเทศจน Google ไม่อาจอยู่นิ่งเฉย



สำหรับปีนี้ Google เรียกรถไฟนี้ว่า เดอะไรด์ (The Ride) ผู้ร่วมสนุกตลอดระยะเวลา 3 นาทีต่อรอบ จะได้รับชมรูปแบบการใช้ประโยชน์จากความสามารถในการแปลภาษาเป็นเสียงได้แบบเรียลไทม์ ถือเป็นก้าวใหม่หลังจากที่ระบบผู้ช่วยเริ่มชำนาญในการแปลเสียงพูดเป็นข้อความแล้ว แต่ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ในการแปลเสียงพูดเป็นเสียงภาษาต่างๆ ให้ได้แบบเรียลไทม์
ช่วงที่ The Ride พาผู้ร่วมสนุกออกนอกโถงจัดงาน CES 2019
แน่นอนว่า Google ไม่ใช่บริษัทเดียวใน CES ที่สัญญาว่าจะแปลภาษาได้เรียลไทม์ทันที เพราะบริษัทจีนก็เริ่มโชว์ศักยภาพ AI ของตัวเองเรื่องแปลภาษาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัทไอฟลายเทค (iFlytek) ของจีน ที่โชว์ตัวแอปพลิเคชันแปลภาษา และอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักเดินทางชาวจีนแล้ว ยังมี 2 สตาร์ทอัปชื่อวาเวอลีแลปส์ (Waverly Labs) ในนิวยอร์ก และไทม์เค็ทเทิล (TimeKettle) ในจีน ที่โชว์ตัวหูฟังแปลภาษาเรียลไทม์ ซึ่งทำงานได้เองในตัว

สำหรับงาน CES หรือ Consumer Electronics Show ถูกมองว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิทธิพลของงาน CES กลับลดลง เพราะทั้งแอปเปิล (Apple), Google และบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น พากันจัดงานเปิดสินค้าใหม่ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม CES ก็ยังคงยิ่งใหญ่ เพราะคาดว่าจะมีผู้คนมากกว่า 180,000 คนจากประมาณ 150 ประเทศ.



กำลังโหลดความคิดเห็น