xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐพงค์” เตือน “ดิจิทัลดิสรัปชัน” เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทข.) ได้ขึ้นกล่าวในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิทัลในงานสัมมนาวิชาการของสมาคมโทรคมนาคมเพื่อวิชาชีพและสังคม ณ วิลล่าวิลล่ารีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี ว่า “ในปัจจุบัน ดิจิทัลดิสรัปชัน หรือการพลิกผันทางดิจิทัล กลายเป็นหัวใจสำคัญของผู้บริหารของทุกองค์กร และผลกระทบของดิจิทัลดิสรัปชันได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่นั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีตเลย”

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เริ่มเร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2016 และเป็นช่วงเวลาที่โลกเริ่มเข้าสู่การเชื่อมต่อแบบยิ่งยวดทุกที่ทุกเวลา จนทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big data เพราะการเชื่อมต่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมาย รวมไปถึงประชากรโลกนับหลายพันล้านคนเชื่อมโยงกันผ่าน social media ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนกระบวนการอัตโนมัติ และกระบวนการวิเคราะห์ที่ซับซ้อน จนทำให้เกิดการดำเนินการในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในทุกธุรกิจ และยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกที่เกิดการเคลื่อนย้ายไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ และเทคโนโลยี Mobile Internet 5G ก็กำลังแพร่หลาย และจะถูกใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2020 โดยมีขีดความสามารถในการส่งข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยความเร็วสูงกว่า 4G อย่างน้อย 10-100 เท่า โดยจะมีธุรกิจดั้งเดิมมากมายอาจปรับตัวไม่ทัน จนไม่สามารถเอาชนะธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก แต่มีราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า และบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันเหล่านั้นอาจจะต้องออกจากตลาดในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น สื่อและบันเทิง, โทรคมนาคม, การเงินการธนาคาร, การประกันภัย, ลอจิสติกส์ และพลังงาน เป็นต้น
จึงทำให้บริษัทต่างๆ รวมไปถึงองค์กรภาครัฐ จะต้องใช้มืออาชีพเข้ามาทำงานในส่วนที่เป็น Core business ไปจนถึงระดับการวางยุทธศาสตร์ เพราะในทุกภาคส่วนจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด จนทำให้ต้องมีหลักการพิจารณาในการวางอนาคตใหม่ขององค์กร โดยมีประเด็น คือ การตอบสนองแบบเรียลไทม์, การสร้างขีดความสามารถด้านการทำงานทุกที่ทุกเวลา, การสร้างทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible asset, ขีดความสามารถในการพยากรณ์อย่างแม่นยำ, ความโปร่งใสขององค์กร และความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์)

อินเทอร์เน็ตจะทำให้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมีช่วงชีวิต (life cycle) ที่สั้นลง เพราะโลกมีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาอย่างหนักมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา จึงทำให้เทคโนโลยีในทุกสาขาวิชามีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเป็นที่แน่ชัดว่า ในช่วงปี 2020-2025 รูปแบบของการดำเนินธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างมาก จนอาจจะมีอาชีพบางสาขาหายไป เกิดรูปแบบอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนมากมาย จนอาจจะไม่เห็นเค้าโครงเดิมในปี 2030 เพราะในช่วงเวลานั้น เทคโนโลยี Mobile broadband, IoT, Big data, AI, Data analytics และ Blockchain จะมีการหลอมรวม (Convergence) เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง จนทำให้ขีดความสามารถในธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้อีกต่อไป

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า “เมื่อประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วถือว่า ดิจิทัลดิสรัปชันเพิ่งเริ่มปรากฏเท่านั้น และการปรากฏชัดและรุนแรงขึ้นจะดำเนินต่อไปในช่วงทศวรรษต่อจากนี้ ในส่วนของผู้นำและผู้บริหารจะต้องปรับโครงสร้างองค์กรและตัวบุคคลในกลุ่มผู้นำและผู้บริหารทั้งระดับประเทศ และองค์กร เพื่อให้วิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้นำ และผู้บริหาร สามารถแปลงเป็นยุทธศาสตร์ และทำให้เป็นการปฏิบัติที่เกิดผลเป็นรูปธรรม ที่จะสามารถฝ่าด่านดิจิทัลที่ถาโถมอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่นี้ไปอีกหลายทศวรรษ”


กำลังโหลดความคิดเห็น