xs
xsm
sm
md
lg

Shopee มั่นใจไม่กระทบการแข่งขัน เผยเก็บค่า Transaction fee แล้วที่ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดช้อปปี้ ประเทศไทย
กลายเป็นจุดสนใจเมื่อช้อปปี้ (Shopee) ดาวรุ่งบริการอีคอมเมิร์ซสีส้ม ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิต และเดบิต 1.5% ของยอดขาย เบื้องต้น ผู้บริหารปัดดราม่าเรื่องค่าธุรกรรม มั่นใจว่าจะไม่ทำให้ราคาสินค้าบน Shopee แพงขึ้น เพราะการผลักภาระให้ผู้ซื้อ ชี้การเรียกเก็บค่าธุรกรรม (Transaction fee) และค่าธรรมเนียมการขาย (Commission fee) ของ Shopee เป็นไปตามมาตรฐานของอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มจุดพลุแล้วที่ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่หวั่นว่า การตัดสินใจครั้งนี้จะลดความสามารถในการแข่งขันระหว่าง Shopee กับคู่แข่งอย่าง Lazada หรือ JD Central

อากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดช้อปปี้ ประเทศไทย แสดงความเห็นกรณี Shopee ประกาศคิดค่าธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต และเดบิต 1.5% ตั้งแต่ 15 มกราคมเป็นต้นไปว่า การตัดสินใจครั้งนี้จะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ Shopee กับคู่แข่งลดลง เนื่องจากบริษัทเชื่อว่าได้มอบสิทธิประโยชน์ และการให้บริการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขาย ซึ่งจะยังคงเป็นจุดดึงดูดสำคัญที่ทำให้ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย ให้ความสนใจในตัวแพลตฟอร์ม Shopee ต่อไป

“สำหรับผู้ขาย Shopee ยังคงมอบประสบการณ์ที่ดี ผ่านบริการที่ปราศจากค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นฟรีค่าวางจำหน่ายสินค้า ฟรีค่าจัดส่ง ซึ่งบริษัทมุ่งหวังที่จะยกระดับประสบการณ์องค์รวมสำหรับผู้ใช้งาน และบริการที่ปราศจากค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างมากจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงดำเนินการต่อเนื่อง” ผู้บริหาร Shopee ระบุ “สำหรับผู้ซื้อ ลูกค้า Shopee ยังคงสามารถเพลิดเพลินไปกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งโปรโมชั่นและดีลสุดพิเศษที่หลากหลายจากแคมเปญใหญ่ตลอดทั้งปี ฟรีค่าจัดส่ง และบริการ “ช้อปปี้ การันตี” (Shopee Guarantee)”

ผู้บริหาร Shopee ยืนยันว่า บริษัทจะมุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งานทุกคน แต่สำหรับประเด็นความกังวลว่า ค่าธุรกรรมอาจจะทำให้ราคาสินค้าบน Shopee แพงขึ้น เพราะผู้ขายอาจผลักภาระให้ผู้ซื้อ ผู้บริหารแบ่งรับแบ่งสู้ว่าต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ค้าแต่ละรายเอง

“Shopee ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตั้งราคาของผู้ขาย และในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มชั้นนำของภูมิภาค สินค้าและบริการบน Shopee จึงมาจากผู้ขายที่หลากหลาย ฉะนั้น จึงมั่นใจได้ว่า การแข่งขันเรื่องราคาระหว่างผู้ขายจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อโดยตรงอย่างแน่นอน”

Shopee ยังไม่สรุปว่า การเก็บค่าธุรกรรมนี้เป็นการทดลองระยะสั้น หรือระยะยาว ระบุเพียงว่า นโยบายนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ก็ย้ำว่า ในขณะนี้สิ่งที่ Shopee ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การดำเนินนโยบายเรื่องค่าธุรกรรมกับผู้ขายให้เป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด และให้การช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ขายให้ได้มากที่สุด

Shopee ยืนยันว่า การเรียกเก็บค่าธุรกรรม (Transaction fee) และค่าธรรมเนียมการขาย (Commission fee) เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม ซึ่ง Shopee มั่นใจว่า แพลตฟอร์มและการให้บริการในประเทศไทยมีเสถียรภาพเพียงพอ และผู้ใช้งานมีความพร้อม โดยย้ำว่า การประกาศนโยบายเรื่องค่าธุรกรรมนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทที่จะข้ามผ่านจากการเป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตแต่เพียงอย่างเดียว ไปสู่การสร้างระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ใช้งานในระยะยาว และยังรวมไปถึงการตอกย้ำจุดยืนถึงความแพลตฟอร์มชั้นนำในตลาดอีกด้วย

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของ Shopee ที่ต้องการจะพัฒนาฟีเจอร์ และการนำเสนอสินค้าและบริการอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อที่จะยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

สำหรับการเก็บค่าธุรกรรมรอบนี้ “Shopee ประเทศไทย” ระบุว่า ค่าธุรกรรม (Transaction fee) จะเรียกเก็บจากการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต และเดบิต ที่สำเร็จจากผู้ขายทุกรายบนแพลตฟอร์ม ในส่วนของค่าธรรมเนียมการขาย (Commission fee) จะเรียกเก็บจากผู้ขายเฉพาะใน “Shopee Mall” เท่านั้น โดยสำหรับผู้ขายทุกราย Shopee ประเทศไทยได้กำหนดอัตราค่าธุรกรรมบัตรเครดิต และเดบิต ในอัตรา 1.5% ของมูลค่ายอดคำสั่งซื้อที่สำเร็จ สำหรับผู้ขายใน Shopee Mall Shopee ประเทศไทย กำหนดอัตราค่าธุรกรรมบัตรเครดิต และเดบิต ในอัตรา 1.5% ของมูลค่ายอดคำสั่งซื้อที่สำเร็จ และค่าธรรมเนียมการขาย (Commission fee) ในอัตรา 1% ของมูลค่ายอดคำสั่งซื้อที่สำเร็จ จากทุกช่องทางการชำระเงิน

สำหรับประเทศอื่น ค่าธุรกรรม (Transaction fee) ได้เริ่มที่ไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว และในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ขณะค่าธรรมเนียมการขาย (Commission fee) ได้เริ่มที่ไต้หวันไปเมื่อปีที่แล้วเช่นกัน


Shopee นั้น เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน โดยการันตีตัวเองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบขึ้น เพื่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนเว็บไซต์มีระบบชำระเงิน และการสนับสนุนด้านลอจิสติกส์ มีจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน, สินค้าสุขภาพและความงาม, สินค้าแม่และเด็ก, แฟชั่น และอุปกรณ์กีฬา บริษัทแม่ของ Shopee คือ บริษัท Sea และได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2558 ในประเทศสิงคโปร์ และขยายไปยังประเทศมาเลเซีย, ไทย, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์


กำลังโหลดความคิดเห็น