xs
xsm
sm
md
lg

ทรูจ่ายเงินค่าคลื่น 1800 MHz งวดสุดท้าย 1.064 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทรูชำระเงินค่าประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ประมูลได้ตั้งแต่ปี 2558 งวดที่ 3 หรืองวดสุดท้าย จำนวน 10,644.36 ล้านบาท ด้าน กสทช. เตรียมนำเงินส่งกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป โดยไม่หัก 15% เข้ากองทุนดีอี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (19 ธ.ค.2561) บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC บริษัทในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz จำนวน 2x15 MHz ช่วงความถี่ 1710-1725 MHz คู่กับ 1805-1820 MHz เมื่อปี 2558 ในราคาประมูล 39,792 ล้านบาท ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จำนวน 25% เป็นเงินทั้งสิ้น 10,644.36 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาชำระให้สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของการประมูล โดยเงินค่าประมูลดังกล่าว เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลแล้ว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

ก่อนหน้านี้ TUC ชำระค่าประมูลคลื่นความถี่มาแล้ว 2 งวด รวมเป็นเงิน 31,933.08 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คิดเป็น 75% ของเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมด แบ่งเป็นงวดที่ 1 TUC ได้ชำระค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 21,288.72 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตั้งแต่ปี 2558 และงวดที่ 2 TUC ได้ชำระค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 10,644.36 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2560

สำหรับเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ใน 2 งวดแรกดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ได้นำส่งกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินแล้ว หลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังคงจะกำกับดูแลคุณภาพการบริการ และอัตราค่าบริการของ TUC ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ประชาชนได้ใช้บริการที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2561 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทในเครือของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz จำนวน 2x15 MHz ช่วงความถี่ 1725-1740 MHz คู่กับ 1820-1835 MHz ในราคาประมูล 40,986 ล้านบาท ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จำนวน 25% เป็นเงินทั้งสิ้น 10,963.755 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาชำระให้สำนักงาน กสทช.

“กสทช. ได้รับเงินค่าประมูลคลื่น 1800 MHz งวดที่ 3 ของ TUC และ AWN แล้วจะนำส่งกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป โดยไม่ต้องหัก 15% จากเงินค่าประมูลดังกล่าวเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เนื่องจากเป็นเงินค่าประมูลลื่น 1800 MHz เมื่อปี 2558 ซึ่งเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. กสทช. ฉบับปรับปรุงออกมา” นายฐากร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น