xs
xsm
sm
md
lg

เดลล์เตือนองค์กรปรับด่วนก่อน Gen Z ครองพื้นที่แรงงานปี 2020

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน
อย่ามัวแต่ทรานสฟอร์มฯ ด้านเทคโน เดลล์ เทคโนโลยีส์ กระตุ้นองค์กรปรับตัวรับคนรุ่นใหม่ยุค Gen Z ที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานปีหน้า ระบุ หากปรับไม่ทัน อาจหมดโอกาสดึงดูด Gen Z หัวกะทิเข้ามาร่วมงาน จนทำให้การทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรในวันที่แรงงานส่วนใหญ่เป็น Gen Z ทึ่ง 97% Gen Z ไทยต้องการทำงานกับองค์กรที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัย โดยมากกว่า 4 ใน 10 สนใจทำงานด้านไอที เช่น งานรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์

นายอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน กล่าวในการเปิดเผยผลสำรวจ Gen Z : The future has arrived ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นของคนยุค Gen Z วัย 16-23 ปี ที่เกิดและเติบโตในยุคดิจิทัลจาก 17 ประเทศทั่วโลก ว่า การสำรวจนี้สะท้อนว่าองค์กรมีความจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่ออุดช่องว่างไม่ให้เกิดการเหลื่อมล้ำ หากมีบุคลากรกลุ่ม Gen Z เข้ามาร่วมงาน รวมถึงวันที่แรงงานส่วนใหญ่ในบริษัทกลายเป็นคนรุ่น Gen Z

“ที่เดลล์ ต้องพูดเรื่อง Gen Z คือ เราพูดถึงเรื่องดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันมานาน การสำรวจนี้จะเป็นการบอกลูกค้าว่าต้องเตรียมแล้วนะ เช่น องค์กรที่ยังไม่ปรับให้มีเทคโนโลยีที่ดี ก็อาจดึงดูด Talent ไม่ได้ หรืออาจจะไม่สามารถจัดการคนในองค์กรได้ ในวันที่ Gen Z ขยายตัวจนเป็นแรงงานส่วนใหญ่เกิน 20% ของแรงงานรวม”

58% ของ Gen Z อยากทำงานที่ออฟฟิศ ไม่ใช่ที่บ้าน เพราะอยากคุยกับคน
สิ่งที่เดลล์ต้องการสื่อ คือ เมื่อทรานสฟอร์เมชันแล้ว องค์กรบริษัทก็ต้องจัดการคนด้วย ผู้บริหารเดลล์อธิบายเพิ่มเติมว่า การสำรวจตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า พนักงานรุ่นใหม่สนใจทำงานกับองค์กรที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ดึงดูด Gen Z ให้เข้ามาสมัครงาน

เหตุที่ต้องให้ความสำคัญต่อ Gen Z เป็นพิเศษ คือ Gen Z จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนโลกเข้าสู่ยุคอนาคต ที่มนุษย์และเครื่องจักรกลต้องทำงานร่วมกัน เดลล์ มองว่า ยุคนั้นคนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ดำเนินงานมาเป็นผู้ควบคุม ซึ่งจะต้องควบคุมหุ่นยนต์ หรือระบบอัจฉริยะ ดังนั้น ในยุคที่เทคโนโลยีจะดีขึ้น 10 เท่า หรือ 1,000 เท่า Gen Z จะเป็นผู้ชี้ชะตาองค์กรได้ในอนาคต

ประเด็นสำคัญ คือ Gen Z ที่เกิดในช่วงหลังปี 1996 กำลังจะเริ่มเข้ามาทำงานในปีหน้า 2019 หลังจากกลุ่มนี้เข้ามา องค์กรจะมีแรงงานหลากหลายถึง 5 เจเนอเรชัน ได้แก่ 1.กลุ่มเจ้าหน้าที่อาวุโส 2.กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ 3.เจเนอเรชันเอ็กซ์ 4.มิลเลเนียล ที่เกิดช่วงปี 1977 ถึง 1995 และ 5.กลุ่ม Gen Z

“วัฒนธรรมองค์กรต้องเปลี่ยนแน่นอน มิลเลเนียล คือ กลุ่มที่เกิดก่อนยุคดิจิทัล แต่โตในยุคดิจิทัล ขณะที่ Gen Z คือ กลุ่มที่ทั้งเกิดและโตในยุคดิจิทัล เราเชื่อว่า ปี 2020 กลุ่ม Gen Z จะมีสัดส่วนในที่ทำงานมากกว่า 20% และอีก 5 ปี หรือปี 2023 จะเพิ่มเป็น 25%”

เมื่อ Gen Z จะเป็นสัดส่วนใหญ่ องค์กรจึงต้องเตรียมอุดช่องว่างการเหลื่อมล้ำที่มีโอกาสเกิดขึ้น จากที่บุคลากรยุคเก่ากลัวถูกแทนที่ แต่ Gen Z ก็กังวลเรื่องขาดประสบการณ์การทำงาน ดังนั้น องค์กรจึงต้องพยายามหาทางทำให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม
ผู้บริหารเดลล์ย้ำด้วยว่าอิมแพคของ Gen Z จะเกิดขึ้นกับบริษัททุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม
ผลสำรวจ Gen Z : The future has arrived ของเดลล์ พบว่า Gen Z ทั่วโลกมีความเห็นคลัายกัน 6 ส่วน ได้แก่ 1.ความอยากทำงานกับบริษัทที่มีเทคโนโลยีดี 2.ต้องการทำงานกับเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่โดนใจตามที่ชื่นชอบ 3.มีทักษะเรื่องความปลอดภัยดี และรู้วิธีจัดการซิเคียวริตี 4.มีความมั่นใจในทักษะเทคโนโลยีของตัวเอง แต่ไม่มั่นใจเรื่องประสบการณ์ 5.ไม่ได้สนใจเงินเป็นหลัก และ 6.ต้องการงานที่โต้ตอบกับมนุษย์

“ข้อ 6 ผมว่าน่าสนใจ เพราะ 58% ของ Gen Z อยากทำงานที่ออฟฟิศ ไม่ใช่ที่บ้าน เพราะอยากคุยกับคน ตรงนี้สอดคล้องต่อการสำรวจหลายครั้งที่พบว่า กลุ่มคนที่ทำงานทางไกลหลายคนอยากทำงานเป็นทีมมากกว่า”



อโณทัย มองว่า ผลสำรวจนี้ไม่ใช่จุดย้อนกลับที่ทำให้ระบบทำงานจากระยะไกลได้รับความนิยมน้อยลง แต่องค์กรควรต้องเพิ่มความยืดหยุ่น เพื่อให้พนักงานสามารถทำได้ทั้ง 2 ทาง คือ ทั้งทางไกล และภายในสำนักงาน อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้อาจเปลี่ยนไปเมื่อ Gen Z เริ่มงานแล้วก็ได้

ผู้บริหารเดลล์ ย้ำด้วยว่า อิมแพกต์ของ Gen Z จะเกิดขึ้นกับบริษัททุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่เฉพาะไอที โดยเฉพาะบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก ก็จะยังได้รับผลมากตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม พบว่า จุดต่างของ Gen Z ไทยเมื่อเทียบกับความเห็น Gen Z ใน 17 ประเทศ (ในจำนวนนี้มี 5 ประเทศอาเซียน คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม) คือ สัดส่วนเรื่องความต้องการงานที่โต้ตอบกับมนุษย์ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แสดงว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ยังไม่หงุดหงิดกับการเรียนออนไลน์ เทียบกับ Gen Z ต่างชาติที่ต้องการเรียนแบบเห็นหน้ากันได้มากกว่า

นอกจากนี้ 32% ของ Gen Z ไทยเท่านั้นที่ระบุว่า ต้องการความรู้ หรือประสบการณ์จากการทำงานมากกว่าเงิน (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย Gen Z อาเซียน 43% และค่าเฉลี่ย Gen Z โลก 45%) แสดงว่า เด็กไทยยังสนใจเรื่องเงินเป็นปัจจัยหลักในการเลือกงาน
32% ของ Gen Z ไทยเท่านั้นที่ระบุว่าต้องการความรู้หรือประสบการณ์จากการทำงานมากกว่าเงิน (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย Gen Z อาเซียน 43% และค่าเฉลี่ย Gen Z โลก 45%)
จุดที่น่าดีใจ คือ Gen Z ไทย 46% ตั้งใจที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ และพัฒนาตัวเองจากการทำงาน แม้ตัวเลขนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย Gen Z อาเซียน 54% และค่าเฉลี่ย Gen Z โลก 59% แต่ก็ต้องถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย และมีแนวโน้มเชิงบวกที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย

กลุ่มตัวอย่าง Gen Z ไทยในการสำรวจนี้มีจำนวน 722 คน ทุกคนมีอายุระหว่าง 16-23 ปี ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่อาศัยอยู่กับบิดามารดาในครอบครัวรายได้ปานกลาง เกินครึ่งเป็นนักศึกษาหญิงที่เคยทำงานพาร์ทไทม์


กำลังโหลดความคิดเห็น