xs
xsm
sm
md
lg

“พ.อ.สรรพชัย” ยิ้มหวาน ปีนี้ กสท โทรคมนาคมกำไรกว่าหมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ซีอีโอ กสท โทรคมนาคม เผยกำไร 11 เดือน ปี 2561 มากกว่า 13,000 ล้านบาท เหตุนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปสร้างรายได้ คาดปีหน้ากำไรเข้าสู่ภาวะปกติที่ 2,700 ล้านบาท ชี้ชะลอการลงทุนใหม่ๆ หวังรอความชัดเจนเรื่องควบรวม เน้นสร้างรายได้จากของเดิมที่มีอยู่ ชูดิจิทัลเซอร์วิสอนาคตดี มั่นใจรายได้ทะลุ 500 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจโมบาย-บรอดแบนด์ ยังคงเติบโตเป็นรายได้หลักอย่างต่อเนื่อง

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้คาดการณ์ว่า บริษัทจะมีผลกำไรมากกว่า 13,000 ล้านบาท เนื่องจากผลประกอบการ 11 เดือนของปี 2561 พบว่า บริษัทมีรายได้ 58,731 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 45,038 ล้านบาท มีกำไร 13,675 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทสามารถสร้างรายได้จากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ปีหน้าคาดว่าจะกลับมามีรายได้ปกติอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 2,700 ล้านบาท

ขณะที่การลงทุนในปีหน้าบริษัทจะไม่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพิ่ม เช่น คอร์เน็ตเวิร์กบรอดแบนด์ เนื่องจากมีการลงทุนไว้ครบแล้ว แต่จะเน้นสร้างรายได้จากธุรกิจที่มีอยู่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะบริการดิจิทัลเซอร์วิส ตั้งเป้าจะมีรายได้ 500 ล้านบาทในปีหน้า อันประกอบด้วย สมาร์ทโซลูชัน-IoT บิ๊กดาต้า และความปลอดภัยระบบไอที

ส่วนธุรกิจที่มีรายได้หลัก 55% คือ ธุรกิจโมบายนั้น จะยังคงเดินหน้ารักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ตามเดิม พร้อมทั้งหาลูกเล่นทางการตลาดใหม่ๆ โดยอาจจะเปิดบริการคล้ายๆ รูปแบบไลน์ โมบาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคด้วย ขณะที่ธุรกิจบรอดแบนด์คาดว่าปีหน้าจะเติบโต 20% โดยเน้นกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก

“ปีหน้าบริษัทต้องดูทิศทางของการควบรวมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ด้วยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด บริษัทจึงไม่เน้นการลงทุนใหม่ๆ แต่ต้องทำให้ของที่มีอยู่สร้างรายได้มากที่สุด ซึ่งการเคลียร์เรื่องข้อพิพาทเรื่องเสาก็ทำได้ 90% แล้ว สัญญาเรื่องระงับข้อพิพาท และทำสัญญาเช่าด้วยกันกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการ คาดว่าจะเสร็จเร็วๆ นี้”

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ความคืบหน้าเรื่องกระบวนการควบรวมนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือว่า การควบรวมครั้งนี้จะเห็นผลได้ชัดเจนว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพและต้นทุนอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ขณะที่โครงการดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นั้นได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ตามกระบวนการ PPP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดขายทีโออาร์ และกำหนดคัดเลือกเอกชนได้ในเดือน ม.ค.ปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น