ซิสโก้ มองไทย และอาเซียน ไม่ได้ล้าหลังในแง่ของการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล โดยล่าสุด ไทยขึ้นมาเป็นตลาดที่มีการเติบโตอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก พร้อมเผยแผนงานปี 62 เน้นการนำเสนอโซลูชันสำหรับดิจิทัลทรานฟอร์เมชันให้แก่ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจลงทุน
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน ระบุถึงปัจจัยสำคัญที่องค์กรจะทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชันได้ ประเด็นสำคัญ คือ ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง เพราะจากผลสำรวจของซิสโก้ ในระดับโลกเห็นว่า กว่า 72% ขององค์กรธุรกิจเริ่มปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 20-30% ใน 3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้มีองค์กรที่คาดว่าจะปรับตัวสำเร็จด้วยการทำความเข้าใจ และนำมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพราว 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะมีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง และกระบวนการทำงานที่ยังยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลได้
ทั้งนี้ ซิสโก้ ประเมินไว้ถึง 3 หลักการที่เป็นคุณสมบัติขององค์กรที่จะประสบความสำเร็จ และนำหน้าธุรกิจอื่นได้ คือ 1.ต้องปรับองค์กรให้สามารถเรียนรู้ เก็บข้อมูล รู้จักพฤติกรรมของลูกค้า ไปจนถึงกระบวนการต่างๆ และนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อปรับใช้ หรือเรียกรวมๆ ว่า Hyper-Aware
2.Predictive หรือการนำข้อมูลที่เกิดขึ้นจากข้อแรกมาใช้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ 3.Agile การนำไปปฏิบัติทันทีบนแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง และตามทิศทางของโลกที่เกิดขึ้นให้ทัน
***ดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน กระทบ 3 ภาคส่วนสำคัญ
นอกจากนี้ ซิสโก้ ยังได้มีการทำผลสำรวจถึงอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากดิจิทัลทรานฟอร์มเชัน โดยพบว่า 3 อุตสาหกรรมหลักที่จะได้รับผลกระทบ คือ ภาคการเงิน การธนาคาร ที่ปัจจุบันเริ่มได้รับผลกระทบจากการมาของไฟแนนเชียลเซอร์วิสต่างๆ สิ่งที่ธนาคารต้องทำ คือ วางธนาคารให้เปิดกว้างรองรับการเชื่อมต่อจากบริการอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมปรับตัวสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลที่ต้องผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาให้บริการลูกค้า
“ใน 5 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่า ภาคการเงินจะมีการลงทุนนำบล็อกเชนมาใช้งานเป็นเทคโนโลยีที่เติบโตถึง 110% ตามมาด้วยการลงทุน AI 108% และ Robotics 84% เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และยังสามารถแข่งขันได้ในตลาด”
ต่อมา คือ อุตสาหกรรมการผลิต ที่พบว่า ปัจจุบันกว่า 52% ของอุตสาหกรรมนี้วางงบประมาณสำหรับการลงทุนทางด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชันไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง คือ ฝ่ายไอที และฝ่ายปฏิบัติงานต้องจับมือร่วมกัน
“ต่อไปนี้ การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ เตรียมบุคลากร การวิเคราะห์ข้อมูล ความปลอดภัยเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายภายในองค์กร ไม่ใช่การโยนหน้าที่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปคิด และวางแผน โดยมีจุดประสงค์สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้เครื่องจักรผลิตสินค้าได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด”
สุดท้าย คือ ภาครัฐ ที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่เมื่อนำเทคโนโลยีไปใช้แล้วจะเกิดผลตอบรับในวงกว้างทั้งภาคการศึกษา สุขภาพ การทำสมาร์ทซิตี ระบบขนส่งมวลชน การวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ บนพื้นฐานของการที่ประชาชนบีบให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
***ตลาดไทยขึ้นเบอร์ 2 เอเชียแปซิฟิก
สิ่งที่ซิสโก้ ทำคือ การเข้าไปช่วยองค์กรธุรกิจ ในการนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ และบริการต่างๆ เข้าไปช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลได้ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากองค์กรต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้ทิ้งภาพของการเป็นเวนเดอร์อุปกรณ์ไอที สู่การเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์อย่างเต็มตัว
ที่สำคัญ คือ ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ซิสโก้ ประเทศไทย ขึ้นเป็นตลาดอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากอินเดีย แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่องค์กรให้ความสำคัญต่อการทรานฟอร์มธุรกิจมากขึ้น ด้วยการนำโซลูชันที่เหมาะสมไปใช้
ส่วนในปีหน้าคาดว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้จะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมจากเวนเดอร์จีน ที่หันมาทำตลาดเน็ตเวิร์ก และโซลูชันต่างๆ มากขึ้น แต่เชื่อว่าด้วยความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ที่สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า จะเป็นส่วนสำคัญให้ซิสโก้ สามารถรักษาอัตราการเติบโตได้
***เดินหน้าสร้างต้นแบบดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน
สำหรับแผนธุรกิจที่ ซิสโก้ จะเดินหน้าในปี 2562 หลักๆ จะเน้นไปที่การสื่อสารไปยังกลุ่มผู้นำทางความคิดในองค์กรธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตร จัดกิจกรรมให้ความรู้ ผลักดันการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน ด้วยการนำความสำเร็จจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลมาเป็นต้นแบบสำคัญ
“กลุ่มผู้นำทางความคิดในองค์กรธุรกิจ จะต้องมาร่วมกันค้นหาแง่มุมในการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน ด้วยการมาร่วมกันสร้าง ระดมความคิด เพื่อที่จะตกผลึกให้เกิดการนำไปใช้งานจริง เพื่อให้แต่ละองค์กรเห็นความสำคัญ และจัดสรรเงินลงทุนมาใช้กับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ”
โดยจะเริ่มจากในอุตสาหกรรมที่ซิสโก้ เห็นว่าควรต้องปรับตัวเข้าหาดิจิทัลให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต หน่วยงานภาครัฐ และภาคการศึกษา ที่จะเป็นแกนหลักในการเปลี่ยนแปลง ส่วนทางซิสโก้ ก็มีแผนเข้าไปร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในการขยายบริการให้เข้าถึงหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ซิสโก้ ยังต้องมีการปรับตัวภายในองค์กร ด้วยการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายในปัจจุบันที่มีอยู่ราว 7-800 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบของการพัฒนา และการขายแบบเดิมที่จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ และบริการอยู่ ทำให้ต้องมีการสนับสนุนช่องทางจำหน่ายในรูปแบบของโซลูชันมากขึ้น อย่างการเข้าไปจับมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ซิสโก้ ก็จะอินทิเกรดผลิตภัณฑ์ และบริการเข้าไปนำเสนอเพิ่มเติมด้วย
***ผลสำรวจชี้ อาเซียน พร้อมรับดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน
นอกจากนี้ ซิสโก้ ยังได้มีการเปิดเผยรายงานมุมมองด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับความพร้อมของเอเชียแปซิฟิก สำหรับการปรับปรุงธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจกว่า 94% คิดว่ามีการเตรียมความพร้อมในการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
93% พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อเร่งให้เกิดกระบวนการดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน โดยบริษัทในอาเซียน มีความมั่นใจในการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชันสูงกว่าในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่อยู่ราว 84%
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่บริษัทในอาเซียนมีความเชื่อมั่นแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละบริษัท โดยพบว่า 19% ของผู้บริหารฝ่ายไอทีในองค์กรขนาดใหญ่ (บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน) ไม่คิดว่าองค์กรของตนมีความพร้อมที่จะปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เปรียบเทียบกับ 7% ในบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะไม่ต้องแบกรับภาระเกี่ยวกับระบบรุ่นเก่าที่ล้าสมัย และฐานผู้ใช้จำนวนมาก จึงมีโอกาสที่ดีกว่าในการพัฒนาระบบไอทีอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน เมื่อดูถึงเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด 4 เทคโนโลยีที่ควรลงทุนสำหรับการสร้างอนาคตในธุรกิจ จะประกอบไปด้วย เทคโนโลยีคลาวด์.ไซเบอร์ซิเคียวริตี บิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูล และระบบงานอัตโนมัติ ที่กลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจต่อไป
ส่วนเหตุผลหลักที่ทำให้การนำเทคโนโลยีมาใช้งานช้าพบว่า 47% เกิดจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ 43% ขาดแคลนบุคลากร และ 42% มองว่า โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น สุดท้ายแล้ว จึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารระดับสูงที่จะแบ่งสัดส่วนการลงทุนมาใช้ในการปรับธุรกิจสู่ดิจิทัลมากแค่ไหน