TeC เปิดตัวบริษัทรับเป็นตัวแทนเชื่อมโยงการทำตลาดในประเทศจีน หลังพบคนจีนนิยมสินค้าไทย แตกต่าง มีคุณภาพ คาดสร้างดีลซื้อขายจริงมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับ 100 บริษัทในปีหน้า
นางสาวกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทค อี-บิสิเนส เซ็นเตอร์ (Thailand e-Business Center) หรือ TeC เปิดเผยว่า ตลาดประเทศจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะสินค้าประเภท หมอนยางพารา เฮลท์แคร์ เช่น ผลิตภัณฑ์สปา, ยาดมโป๊ยเซียน, ยาหม่อง, ผลไม้อบแห้ง และเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์คนไทย ที่ไม่จำเป็นจำหน่ายในราคาถูก เพราะคนจีนมีศักยภาพในการซื้อสินค้า ขอแค่ให้มีดีไซน์แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร
แต่ผู้ประกอบการไทยยังมีอุปสรรคในการเข้าตลาดประเทศจีน ทั้งเรื่องกฎระเบียบ การจดทะเบียนบริษัท และภาษา ทำให้ที่ผ่านมา แม้จะมีการทำบิสิเนสแมชชิ่ง หรือการจับคู่ธุรกิจกันแล้วก็ตาม ก็ยังไม่เกิดการขายจริงตามมา
“ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยพยายามเชื่อมต่อกับธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ อีคอมเมิร์ซในจีน ผ่านการแสดงสินค้า และบิสิเนสแมชชิ่ง แต่ที่ผ่านมา ดีลธุรกิจจบแค่ที่การไปดูงาน เยี่ยมชมสำนักงาน ฯลฯ ไม่สามารถเชื่อมเข้าสู่ระบบการค้า เพื่อซื้อขายอีคอมเมิร์ซแบบจริงจัง TeC จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยสนับสนุน ทำให้สามารถเปิดบริษัทในจีน จด trademark และสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ IP Law พร้อมช่วยประสานงานดีลจบ เพื่อสร้างฐานการค้าระบบดิจิทัลในระยะยาว”
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีการรวมตัวของผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจ เพื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นมาในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คำปรึกษาสำหรับบริษัทที่พร้อมทำตลาดต่างประเทศ และต้องการเข้าตลาดจีนแต่ไม่รู้เริ่มต้นอย่างไร โดยบริษัทตั้งเป้าหมายว่า ปีหน้าจะสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 1,000 ล้านบาท จากบริษัทผู้ประกอบการส่งออกกว่า 100 บริษัท
โมเดลธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ 1.Digital Work-Force การสร้างกำลังคนสำหรับธุรกิจดิจิทัล โดยนำผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และใช้ Global assessment อย่าง International Computer Driving Licence (ICDL) ซึ่งเป็นศูนย์สอบอย่างเป็นทางการระดับโลก โดย TeC ได้รับสิทธิในการจัดสอบ 2.Business Expansion การขยายธุรกิจยังต่างแดน ตั้งแต่การจัดการการเข้าพบเหล่าสมาคม บริษัท เพื่อเจาะตลาดจีนในเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น หังโจว, เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, เซินเจิ้น, ตงกวน และกวางโจว เป็นต้น และ 3.E-Business & Technology Training การสร้างองค์ความรู้ให้กับธุรกิจเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัลที่พร้อมจะก้าวสู่ต่างแดน อีกทั้ง TeC ยังเป็น AGCs-Executive Program Organizer ให้กับหลักสูตรของ Alibaba Business School ซึ่งเป็นเอกชนเจ้าเดียวในประเทศไทยในขณะนี้
ในส่วนด้านการสร้างกำลังคนทางด้านดิจิทัลนั้น ทาง TeC จับมือกับ JobBKK.com ผู้นำ Recruitment platform หรือการจัดหางานรายใหญ่ของไทย ซึ่งมีการทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOUs และจะสร้างหลักสูตรพิเศษให้กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยกว่า 20 แห่งในปีหน้า โดยจะเน้นหนักการสร้างความเชี่ยวชาญดิจิทัลบิสิเนส หรือ skills ทางด้านอีคอมเมิร์ชที่ใช้กับสถานการณ์การค้าขายจริง ถ่ายทอดกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบัน ธุรกิจไทยยุคใหม่ขาดแคลนกำลังคนทางด้านนี้อย่างมาก
จากสถิติกองวิจัยแรงงาน กรมการจัดหางาน พบกว่า เด็กจบใหม่ ปี 2561 กว่า 400,650 คน ตกงานกว่า 180,000 คน และขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรหลักที่ล้อกับสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการแก่ตลาดแรงงานดิจิทัลได้ทันการเปลี่ยนแปลง คาดว่า TeC จะเข้าไปสร้างกำลังคนรองรับตลาดอีคอมเมิร์ชไทยได้ในกลางปีหน้ากว่า 1,000 คนเป็นอย่างน้อย
อีกทั้งจะมีการเปิดฝึกกำลังคนทางด้านอีบิสิเนส และอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย โดยในปีหน้าจะมีการนำผู้เชี่ยวชาญทางด้านอีบิสิเนสของไทยเองมาให้ความรู้กับภาคธุรกิจที่สนใจจะเชื่อมโยงกับธุรกิจในเอเชีย ขณะเดียวกัน ก็จะมีการนำภาคธุรกิจที่สนใจไปฝึกอบรมที่จีน และฮ่องกง กับหน่วยงานชื่อดังด้านเทคโนโลยี โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ดำเนินธุรกิจเหล่านั้นจริงๆ ในท้องถิ่นนั้น เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ และแบ่งปัน Best Practices & know-how หรือองค์ความรู้ ขณะเดียวกัน ก็จะนำผู้เชี่ยวชาญพิเศษเหล่านี้เข้ามาประเทศไทย เพื่อสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในไทยอีกด้วย รวมไปถึงดึงดูดให้คนจีน และคนฮ่องกง เข้ามาลงทุนในไทยผ่านหลักสูตรสร้างความรู้พื้นฐานการลงทุนในไทยอีกด้วย
ส่วนการขยายธุรกิจในต่างแดน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักกว่า 50% ของบริษัทในช่วงนี้ เป็นการรองรับความต้องการของภาคธุรกิจไทยในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากความต้องการของภาคธุรกิจระดับ Corporate หรือบริษัทที่มียอดขายมากกว่า 10 ล้านบาท-50,000 ล้านบาท ในการเชื่อมต่อกับธุรกิจดิจัทัลในประเทศจีน ที่มีกำลังซื้อมหาศาล เริ่มมีจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือในช่วงต้นจะไม่นับรวมกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ยังมียอดขายไม่พอที่จะเริ่มขยายธุรกิจ
บริการเริ่มขยายธุรกิจนั้น ทาง TeC มีบริการตั้งแต่การทำ Business Trip หรือ การเดินทางแบบธุรกิจ ตั้งแต่การจับคู่ทางธุรกิจแบบเป็นจริง การหาแหล่งผลิตที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งในปีหน้าตารางการเดินทางที่ได้รับการจองแล้ว 12 เที่ยวการเดินทาง โดยเส้นทางหลักที่ได้รับการจอง คือ หังโจว เซิ่นเจิ้น และเซี่ยงไฮ้ นอกจากนั้น ยังมีตารางเดินทางแบบ Customize หรือแบบเลือกเดินทางการทำธุรกิจแบบเฉพาะเข้ามาอีกหลายเที่ยว ซึ่งขณะนี้ทาง TeC ได้เตรียมเจ้าหน้าที่สำหรับติดตามการเจรจาธุรกิจหลังจากที่การเดินทางสิ้นสุดแล้ว และมีการเริ่มเจรจาทางธุรกิจเกิดขึ้น โดย TeC รับมอบหมายการทำให้แผนการเจรจาประสบความสำเร็จจนถึงขึ้นออกมาเป็นธุรกิจได้จริง
นอกจากการจัดเส้นทางธุรกิจแล้วทาง TeC ยังรับดำเนินการเปิดบริษัทในประเทศจีนให้กับธุรกิจในไทยอีกด้วย เนื่องจากขณะนี้ขนาดเศรษฐกิจของจีนมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยอย่างมาก และการทำธุรกิจแบบดิจิทัลก็ก้าวหน้ากว่าไทยหลายระดับ อีกทั้งกำแพงภาษีที่รัฐบาลจีน และไทย ต่างเปิดกว้างให้กันและกันพอสมควร เพียงแต่เงื่อนไขการเชื่อมต่อกับธุรกิจดิจิทัลในจีนมีความซับซ้อนที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือ เพื่ออำนวยความสะดวกกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีแพลตฟอร์มที่เฉพาะทางมากมาย และการเชื่อมต่อมีหลักเกณฑ์ที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์สูง
TeC ระบุว่าได้เตรียมทั้งคน และแนวทางการเชื่อมต่อไว้แล้ว ทำให้สามารถขยายการลงทุนในจีนได้จริง บริษัทได้มีการจัดการเรื่องตลาดดิจิทัลในประเทศจีนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาดออนไลน์ และเปิดช่องทางโซเชียล โดยเชื่อมต่อกับ Baidu/Weibo การสร้างเนื้อหาการตลาดออนไลน์โดยบล็อกเกอร์ชื่อดัง หรือแม้กระทั่งการตลาดผ่านคนดัง หรือผู้มีอิทธิพลทางโลกโซเชียล และเซเลบฯ ในประเทศจีน