xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเปิดเสรีดาวเทียมรับบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา
แม้ว่าปัญหาวุ่นๆ ของดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะต้องเข้าไปอยู่ในระบบสัญญาสัมปทานหรือไม่ ทั้งๆ ที่ได้ใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะยังอยู่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ ก็ตาม

แต่เมื่อรัฐบาลต้องการมีกฎหมายกิจการอวกาศซึ่งต้องนำเรื่องดาวเทียมทั้งหมดเข้าไปอยู่ในกฎหมายนี้ และต้องมีการเปิดเสรีเพื่อให้มีดาวเทียมเทคโนโลยีใหม่ที่ต้นทุนต่ำ รองรับธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เข้ามาในประเทศไทย แต่ไม่สามารถทำได้

เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 60 กำหนดให้ "รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ..." ทำให้การขอ "Landing Right" ไม่สามารถอนุญาตให้ดาวเทียมสัญชาติอื่นเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ ยกเว้นดาวเทียมสัญชาติไทย

ทำให้ล่าสุด มติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เห็นชอบร่างเปิดเสรีให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ ซึ่งต่อไปเหลือเพียงการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเท่านั้น การเปิดเสรีดาวเทียมต่างชาติก็จะเกิดขึ้น

***ทำไมต้องเปิดเสรีดาวเทียม

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการบอร์ดดีอี และรองปลัดกระทรวงดีอี เปิดเผยถึงเหตุผลที่รัฐบาลไทยต้องเปิดเสรีดาวเทียมให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้กิจการดาวเทียมยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสร้างบริการและโอกาสธุรกิจใหม่ๆ จากเดิมที่บริการส่วนใหญ่มาจากดาวเทียมที่มีวงโคจรประจำ (Geostationary Satellite Orbit: GSO)

แต่ปัจจุบัน แนวโน้มของโลกมุ่งไปสู่การลงทุนในบริการที่เกิดจากดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit : NGSO) เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit : MEO) ที่มีขนาดเล็กและสามารถส่งขึ้นไปบนฟ้าได้ครั้งละหลายพันดวง ดาวเทียมเหล่านี้สามารถให้บริการได้หลากหลาย เช่น การส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพที่คมชัดมากขึ้น รวมถึงการสำรวจ การนำทาง และการถ่ายภาพที่มีความชัดเจนในระดับสูงมาก

ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ดาวเทียม NGSO สามารถให้บริการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต และข้อมูลแบบความเร็วสูง (Low Latency) ซึ่งทำให้ภาคพื้นดินสามารถรับสัญญาณได้ในเวลาต่ำกว่าเสี้ยววินาที การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วในระดับที่ไม่มีดาวเทียมสมัยก่อนทำได้ ดาวเทียม NGSO จึงเป็นเครื่องมือทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องใช้การรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในที่ทุรกันดารเพื่อให้คนที่อยู่นอกเมืองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโดรนสำรวจในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เป็นต้น รัฐบาลจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้ามาของเทคโนโลยีได้ และยิ่งประเทศไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงจำเป็นต้องเปิดเสรี

บอร์ดดีอี จึงได้ผ่านความเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit : GSO) ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ เพื่อมุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีนโยบายที่กำหนดแนวทางในการรักษาตำแหน่งวงโคจรและข่ายงานดาวเทียมของประเทศที่ชัดเจน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 60 ที่กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน

คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (Landing Right) เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายอนุญาตให้ใช้งานดาวเทียมต่างชาติในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่ผู้ประกอบการ และผู้ใช้งานดาวเทียมสื่อสารมีความต้องการใช้งานดาวเทียมต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ คือ รอนำเสนอเข้า ครม. และรับมติมาดำเนินการต่อโดยออกเป็นประกาศ หรือเป็นนโยบาย

เนื่องจากดาวเทียมไทยคมที่จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2564 จำเป็นต้องมีนโยบายต่อไปว่าจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร เพราะต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่เตรียมการไว้อาจประสบปัญหาไม่ได้รับการบริการ จึงต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 2 ส่วน คือ เรื่องทรัพย์สินจากสัมปทานที่สิ้นสุดลงและโอนมาเป็นของกระทรวงดีอี ต้องมีการดำเนินการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาให้บริการต่อ โดยอาจเป็นในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP)

ขณะที่ในส่วนของรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจร และพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ ต้องเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตให้บริการจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเป็นไปตามกฎเกณฑ์ กสทช. ทุกอย่าง

ขณะที่ Jan Schmidt หัวหน้ากลุ่มธุรกิจอวกาศ บริษัท Swiss Re Corporate Solutions จำกัด กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่าปัจจุบันยังมีคนอีก 3.5 พันล้านคนทั่วโลก ที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ขณะที่มีการประเมินว่า ถ้าประเทศใดสามารถทำให้ประชากรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น 10% จะสร้างการเติบโตให้แก่จีดีพีของประเทศอีก 1.5%

ดังนั้น นโยบายเปิดเสรีตลาดดาวเทียมของประเทศไทยมีความสำคัญกับประเทศ เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านดาวเทียม เป็นสิ่งที่จะช่วยให้คนทั่วทุกส่วนของประเทศที่ไฟเบอร์ออปติกเข้าไม่ถึง สามารถเชื่อมต่อกับทั้งโลกด้วยอินเทอร์เน็ต เข้าถึงการศึกษา การเกษตรเชิงพยากรณ์ บริการสาธารณสุข และโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น อีกทั้งกฎหมายที่เปิดกว้างจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย และเร่งความเร็วในการบรรลุนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วย

รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับประเด็นเรื่องนโยบายความถี่ (Spectrum) ที่ประเทศใหญ่ๆ ของโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา และยุโรป เริ่มมีการกำหนดนโยบายเพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5G ที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอันใกล้
Jan Schmidt
"ในปี 2564 ไทยคมจะหมดสัญญาสัมปทาน การผูกขาดจะหมดลง ก่อนที่จะรอให้หมดสัญญาสัมปทานประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมการเปิดเสรีตามหลัก WTO เพราะรูปแบบการให้สัมปทานไทยคมแบบยาวนานเป็นโมเดลที่ไม่น่ารอด ขณะที่โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน รูปแบบธุรกิจใหม่ต้องการดาวเทียมแบบใหม่ และต้นทุนถูกกว่า"

***เปิดร่างเสรีดาวเทียม

การเปิดเสรีดาวเทียมนั้น หากดูในรายละเอียดของร่างฯ แล้วจะเห็นได้ว่าดาวเทียมสัญชาติไทยไม่เสียเปรียบเพราะมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องไม่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบ ตั้งแต่การจ่ายค่าธรรมเนียมที่ต่างชาติต้องจ่ายทั้งค่าใบอนุญาต และค่าธรรมเนียม Landing Right ด้วย ซึ่งอย่างหลังไม่เคยมีการเก็บมาก่อน นอกจากนี้ การจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการเจรจาระหว่างรัฐและรัฐของประเทศนั้นๆ ว่าต้องเปิดให้ดาวเทียมไทยเข้าไปทำธุรกิจในประเทศที่ดาวเทียมชาตินั้นๆ จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยด้วย ซึ่งคณะกรรมการกิจการอวกาศจะต้องเสนอหลักเกณฑ์ให้ ครม.เห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ บริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจในประเทศไทยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.กสทช.) เพื่อขอรับใบอนุญาตจาก กสทช.ด้วย เช่น หากใช้ในกิจการกระจายเสียงต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อย 75% และห้ามครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว หากใช้ในกิจการโทรคมนาคม ต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% เป็นต้น รวมถึงต้องมีประสบการณ์ในการทำตลาดมาก่อน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนทั่วไปมักมองว่าการเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจต้องเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP เท่านั้น ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายที่สามารถเข้ามาถือหุ้นได้ ยกเว้นหากทรัพย์สินของไทยคมที่หมดสัมปทานลงจะต้องถูกโอนให้กระทรวงดีอีนั้น การจะนำไปทำธุรกิจต้องเป็นรูปแบบ PPP เพราะทรัพย์สินเป็นของรัฐ

*** ไทยคม-มิวสเปซขานรับเปิดเสรี

การเปิดเสรีครั้งนี้ ไทยคม เองก็ยอมรับว่าไม่มีปัญหา ซึ่ง ภาคย์ บุญยุบล หัวหน้าส่วนงานวิศวกรรมดาวเทียมและปฏิบัติการ ไทยคม กล่าวว่า การแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ที่เข้ามาในตลาดต้องอยู่ในกติกาเดียวกัน ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจให้บริการดาวเทียมเผชิญแรงกดดันจากเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคไม่ได้ดูทีวีจากดาวเทียม แต่ดูผ่านโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นแม้ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในไทย ก็ยังต้องเริ่มมองถึงการขยายธุรกิจนอกเหนือไปจากธุรกิจหลักเดิม อีกทั้งเพื่อรองรับสัมปทานที่จะสิ้นสุดลงในปี 2564 ด้วย
ร.ศ.สุธรรม อยู่ในธรรม
ขณะที่น้องใหม่อย่าง บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ที่แม้ว่าได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการอย่างถูกต้องจาก กสทช.แต่ก็ยังไม่สามารถขอ Landing Right จากประเทศไทย เพราะเป็นดาวเทียมสัญชาติลักเซมเบิร์ก ก็พร้อมสนับสนุนการเปิดเสรีครั้งนี้ด้วย เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจต่อไป

ศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี มิว สเปซ กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนนโยบายเปิดเสรีตลาดดาวเทียมของรัฐบาล แต่ควรมีเงื่อนไขที่ต้องไม่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเพียงผู้ซื้อเทคโนโลยี และมองแนวโน้ม 2-3 ปีข้างหน้าว่า จะมีดาวเทียม MEO จากต่างประเทศเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการในไทยก็อาจเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้สร้างดาวเทียม หรือผู้ให้บริการจากต่างชาติ เพื่อดูแลบริการตลาดประเทศไทย

ดังนั้น การเปิดเสรีครั้งนี้นอกจากเปิดให้ต่างชาติได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องดีที่ มิว สเปซ จะได้ Landing Right จากประเทศไทยเสียที หลังจากเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ระยะหนึ่งแล้ว ส่วนจะมีดาวเทียมชาติอื่นเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่นั้นต้องรอดู


กำลังโหลดความคิดเห็น