xs
xsm
sm
md
lg

ไมโครซอฟท์เชื่อไทยมีศักยภาพก้าวสู่ยุค AI

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไมโครซอฟท์ เผยทิศทางองค์กรไทยนำ AI เข้ามาเป็นเครื่องมือในการให้บริการอย่างแพร่หลาย ทุกภาคส่วน เหตุ AI มีความแม่นยำเทียบเท่ามนุษย์ แต่ยังจำเป็นต้องทำงานคู่กับคนเพื่อช่วยให้การทำงานสมบูรณ์ขึ้น พร้อมโชว์ศักยภาพสตาร์ทอัปไทยนำเทคโนโลยีช่วยฝึกสอนการขับรถตัดอ้อย ทำให้ประหยัดเวลา และลดการสูญเสียผลผลิต

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ (คนขวาสุด) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศแรกที่ก้าวสู่การใช้งานคลาวด์ แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ใช้เทคโนโลยี AI ได้ เนื่องจากทุกวันนี้องค์กรต่างๆ มีข้อมูลมหาศาล และต้องการนำข้อมูลมาสร้างมูลค่าให้แก่ลูกค้า เพราะ AI สามารถวิเคราะห์ภาพ เสียง และอ่านข้อความได้เหมือนคน เช่น ภาคการเงิน มีการนำระบบ AI มาใช้ในการยืนยันตัวตนแบบออนไลน์ ภาคค้าปลีก มีการใช้แชตบอต ที่ไม่ใช่แค่การคุยแค่ข้อความเหมือนแต่ก่อน แต่ลูกค้าสามารถถ่ายรูปสินค้าที่ต้องการสอบถามให้แชตบอตหาสินค้าที่เหมือนหรือใกล้เคียงพร้อมราคาให้ได้ด้วย

ไมโครซอฟท์มีแพลตฟอร์ม AI ให้ลูกค้าเลือกนำไปใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับแอปพลิเคชันที่ลูกค้าต้องการได้ ทำให้องค์กรไม่ต้องเสียเวลาในการลงทุนหาดิจิทัล สกิล ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลน ด้วยการทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ โดยองค์กรขนาดใหญ่จะได้เปรียบกว่าสตาร์ทอัป เพราะเป็นผู้ที่มีข้อมูลลูกค้าอยู่กับตัวเองมหาศาล

งานวิจัยที่ไมโครซอฟท์จัดทำขึ้นร่วมกับไอดีซี ระบุว่า เทคโนโลยีอย่าง AI และ IoT ถือเป็นนวัตกรรมอันดับหนึ่งที่กำหนดทิศทางในอนาคตของธุรกิจทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในฐานะฟันเฟืองหลักที่จะขับเคลื่อนวิถีชีวิต และโลกธุรกิจไปสู่ยุคใหม่ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น การวางรากฐานให้ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมไทยได้อย่างลงตัว และเต็มประสิทธิภาพนั้นจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญใน 4 ด้านหลักๆ ด้วยกัน

เริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้แก่คนไทยอย่างทั่วถึง การปรับแต่งเทคโนโลยีให้เข้ากับสภาพการใช้งานจริง เช่น ในด้านของภาษา วัฒนธรรม หรือแม้แต่กฎหมายและกรอบนโยบาย การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรและนักพัฒนาทั่วประเทศให้นำ AI มาใช้ได้อย่างเต็มที่ และความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ ออกแบบ และปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการมาโดยเฉพาะ เพื่อความสำเร็จของลูกค้าในประเทศไทย

ด้าน พญ.พิจิกา วัชราภิชาต (คนซ้ายสุด) นักวิจัยชาวไทยผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการแพทย์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม Microsoft Research ประจำศูนย์วิจัยที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า AI และ machine learning เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาโรคต่างๆ

AI สามารถประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างชาญฉลาด และยังจะช่วยเสริมความแม่นยำในการให้การรักษาถึงระดับบุคคล สนับสนุนให้การทำงานของบุคลากรแพทย์ในทุกขั้นตอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปูทางไปสู่การค้นพบใหม่ๆ อีกมากมาย เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนสูงสุดให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI จะสามารถทำงานในหลายๆ ด้านได้แม่นยำกว่ามนุษย์มาก แต่ AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ แต่จะสามารถเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถทำงานกับข้อมูลได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย ตัดสินใจได้แม่นยำกว่า และเดินหน้าสู่การค้นพบในหลากหลายสาขาได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นอกจากด้านการแพทย์แล้ว AI ยังสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการช่วยภาคการเกษตรได้อีกด้วย นายเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข (คนกลาง) กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท บลู โอเชียน เทคโนโลยี สตาร์ทอัป คนไทยก็นำแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์สร้างโซลูชัน VRSIM ซึ่งผสมผสานเทคโนโลยี VR และ machine learning เข้าด้วยกัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการฝึกสอนผู้ควบคุมเครื่องจักรเพื่อการเกษตร ตัวอย่างเช่น รถตัดอ้อย ซึ่งนอกจากระบบดังกล่าวจะสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดของวิธีฝึกสอนแบบเดิมๆ ไปได้แล้ว ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวอ้อยผ่านทาง machine learning ได้อีกด้วย

โดยปกติแล้ว การฝึกสอนพนักงานขับรถตัดอ้อยเป็นกระบวนการที่กินเวลานาน และยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลิตผลอีกด้วย และหากนับจากช่วงเริ่มแรกในการสังเกตการณ์พนักงานผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงการขับรถเก็บเกี่ยวด้วยตนเอง ก็อาจกินเวลารวมทั้งหมดนานถึง 3 ปี

นายเพิ่มพงศ์ กล่าวว่า VRSIM นำเทคโนโลยี VR มาเปิดโอกาสให้นักขับมือใหม่ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยที่ไม่ต้องรอฤดูเก็บเกี่ยวหรือเสี่ยงไปกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และด้วยพลังจาก machine learning ยังสามารถนำประสบการณ์และความเข้าใจของนักขับรถตัดอ้อยมืออาชีพมาวิเคราะห์เพื่อแนะนำเส้นทางการขับรถเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยให้ได้รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น