xs
xsm
sm
md
lg

ขายคืนไอโฟนเก่า “Apple GiveBack” โครงการไทยทำไมถูกจัง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไอโฟนรุ่นเก่าจากโครงการ GiveBack จะถูกนำมาใช้กับหุ่นยนต์รีไซเคิลตัวใหม่ของ Apple ชื่อ Daisy ซึ่งสามารถแยกชิ้นส่วน iPhone ได้สูงสุด 200 เครื่องต่อชั่วโมง
เปรียบเทียบ “แอปเปิลกีฟแบ็ค” (Apple GiveBack) ที่แอปเปิล ชวนให้ลูกค้าไทยนำอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์มาแลกรับบัตรของขวัญสำหรับใช้จ่ายกับแอปเปิล เบื้องต้น พบเงื่อนไขไทยไม่ยืดหยุ่นหลากหลายเท่าโครงการในสหรัฐฯ ที่รองรับสินค้าของค่ายอื่นด้วย ขณะที่อัตราราคาแลกบัตรของขวัญอยู่ในระดับต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด แม้ระดับราคาสูงสุดของทุกอุปกรณ์จะเท่ากัน

Apple GiveBack เป็นโครงการที่แอปเปิลหวังตอบโจทย์ผู้ใช้ที่อยากเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มี เป็นอุปกรณ์ที่อยากได้ โดยผู้สนใจสามารถนำอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์มาแลกรับบัตรของขวัญ Apple Store หรือหากไม่เข้าเกณฑ์การแลกเป็นเครดิต แอปเปิลก็จะนำไปรีไซเคิลให้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์รุ่นไหน หรือสภาพใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
หน้าต่างแจ้งเกณฑ์สูงสุด ว่าอุปกรณ์เก่าจะมีมูลค่าการแลกคืนเท่าใด ในโครงการ GiveBack ของสหรัฐฯ
โครงการ  GiveBack ไทย กำหนดให้ผู้สนใจต้องกรอกรหัสเครื่องเท่านั้น ไม่มีการระบุรุ่นหรือยี่ห้อที่เข้าเกณฑ์เหมือน  GiveBack สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม Apple ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการหลักในโครงการ GiveBack แต่จะทำผ่านพันธมิตร โดยในประเทศไทย การดำเนินการทำผ่านพันธมิตรอย่างแอร์ฟอร์ซวัน (Air Force One) ซึ่งแอปเปิล ระบุว่า Air Force One จะเป็นผู้แจ้งว่าอุปกรณ์เก่ามีมูลค่าการแลกเท่าใด หรือหากไม่เข้าเกณฑ์การแลกเป็นเครดิต โครงการก็จะนำไปรีไซเคิลให้ฟรีสำหรับทุกอุปกรณ์

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า GiveBack ไทยมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าโครงการในสหรัฐฯ เนื่องจาก GiveBack สหรัฐฯ ยังเปิดให้สมาร์ทโฟนของคู่แข่งอย่าง Google Pixel และ Samsung Galaxy รุ่นความจุ 16-32 GB เข้าเกณฑ์ และแลกบัตรของขวัญได้ในราคา 50 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,645 บาท)

GiveBack ในสหรัฐฯ ยังเปิดรับคอมพิวเตอร์ของแบรนด์อื่น เช่น HP Spectre รุ่นปี 2015 และ 2016 ที่เข้าเกณฑ์เหมือน Lenovo Yoga รุ่นปี 2015 หรือใหม่กว่า ทำให้สามารถแลกบัตรของขวัญได้ 125 เหรียญขึ้นไป

สิ่งที่เหมือนกันของ GiveBack ไทย และสหรัฐฯ คือ การไม่รับสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นทั้ง HTC, LG และ Nokia เช่นเดียวกับแบรนด์จีนที่ไม่รับเข้าเกณฑ์เลย โดยจะรับไอโฟนรุ่น iPhone 5 ขึ้นไปเท่านั้น รวมถึงแท็บเล็ต และนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ของยี่ห้ออื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์เช่นกัน
แม้แต่ Samsung S8 ก็ไม่เข้าเกณฑ์การแลกเป็นเครดิต
หากไม่เข้าเกณฑ์การแลกเป็นเครดิต โครงการก็จะนำไปรีไซเคิลให้ฟรีสำหรับทุกอุปกรณ์
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอื่นทั้งแอปเปิลทีวี หรือรุ่นเก่าเก็บอย่างไอพ็อดนั้น หมดสิทธิเข้าเกณฑ์แลกบัตรของขวัญ ซึ่งแอปเปิล ระบุว่า จะนำไปรีไซเคิลให้ฟรี เพื่อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อทดลองนำสินค้ารุ่นเดียวกันไปเข้าโครงการ GiveBack ไทย และสหรัฐฯ พบว่า GiveBack สหรัฐฯ มีอัตราราคาแลกบัตรของขวัญที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น iPhone SE รุ่น 64 GB ที่ผ่านการพิจารณารับบัตรของขวัญ 65 เหรียญสหรัฐ (ราว 2,138 บาท) แต่เมื่อนำมากรอก IMEI ในระบบของ GiveBack ไทย พบว่า ถูกประเมินมูลค่าบัตรของขวัญเบื้องต้น 1,615 บาท คิดเป็นเงิน 50 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
 iPhone SE รุ่น 64GB ถูกพิจารณามูลค่าขายคืน 1,615 บาท คิดเป็นเงิน 50 เหรียญสหรัฐ
GiveBack สหรัฐฯมีอัตราราคาแลกบัตรของขวัญที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น iPhone SE รุ่น 64GB ที่ผ่านการพิจารณารับบัตรของขวัญ 65 เหรียญ (ราว 2,138 บาท)
อย่างไรก็ตาม หากเป็นไอโฟนรุ่นใหม่อย่าง iPhone X มูลค่าบัตรกำนัลที่จะได้รับจากการขายคืนบน GiveBack ไทย และสหรัฐฯ นั้น อยู่ในระดับเดียวกัน คือ 500 เหรียญสหรัฐ (ราว 16,450-16,650 บาท) ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานเริ่มต้นที่ไม่ต่างกัน

ไม่ว่าเกณฑ์ GiveBack ของประเทศไทยจะต่างจากประเทศอื่นอย่างไร แต่ต้องยอมรับว่า โครงการ GiveBack มีประโยชน์ต่อโลกอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากอุปกรณ์เก่าในโครงการจะถูกส่งไปต่อยอดด้านรีไซเคิล และส่วนประกอบคุณภาพสูงที่ยังใช้ได้ดีจะถูกนำไปใช้งานต่อได้ จุดนี้ แอปเปิล เคยเปิดตัวเดซี (Daisy) หุ่นยนต์รีไซเคิลตัวใหม่ที่สามารถแยกชิ้นส่วน iPhone เพื่อคัดแยกส่วนประกอบคุณภาพสูงออกมาได้ในเวลารวดเร็ว โดย Daisy เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้เวลาหลายปีในการวิจัย และพัฒนา และเป็นหุ่นที่เพิ่มประสิทธิภาพจากเลียม (Liam) หุ่นยนต์แยกชิ้นส่วนตัวแรกที่ Apple เปิดตัวในปี 2016
Daisy สามารถถอดและจัดเรียงส่วนประกอบต่างๆ เพื่อให้ Apple สามารถนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ได้ในแบบที่ผู้ให้บริการรีไซเคิลทั่วไปไม่สามารถทำได้
แอปเปิล ระบุว่า Daisy สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนของ Liam และมีความสามารถในการแยกชิ้นส่วน iPhone ได้ 9 รุ่น และยังจัดเรียงส่วนประกอบคุณภาพสูงสำหรับการนำมารีไซเคิลได้ Daisy สามารถแยกชิ้นส่วน iPhone ได้สูงสุด 200 เครื่องต่อชั่วโมง โดยทั้งถอด และจัดเรียงส่วนประกอบต่างๆ เพื่อให้ Apple สามารถนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ได้ในแบบที่ผู้ให้บริการรีไซเคิลทั่วไปไม่สามารถทำได้ และยังทำได้ในระดับคุณภาพที่เหนือกว่า
 Apple Mac Mini และ MacBook Air รุ่นใหม่ถูกประกาศว่าสร้างจาก 100% recycled aluminum
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความพยายามรับผิดชอบของแอปเปิล เรื่องการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ไม่เป็นภาระกับโลกมากขึ้น โดย Apple Mac Mini และ MacBook Air รุ่นใหม่ถูกประกาศว่าสร้างจาก 100% recycled aluminum หรืออะลูมิเนียมรีไซเคิล 100% แล้ว

สิ่งที่เราต้องรอดู คือ Apple GiveBack ของประเทศไทยจะพัฒนาไปถึงไหน ซึ่งไม่แน่ Apple อาจจะมีเงื่อนไขใหม่ออกมาเปลี่ยนแปลงเพื่อกระตุ้นการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมากขึ้นก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น