โลกปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุค “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (Internet of Things - IoT) หรือ “ทุกสรรพสิ่งสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต” และ “การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ (Machine to Machine - M2M)
เทคโนโลยี 5G ที่สามารถรับส่งข้อมูลในปริมาณมากมายด้วยความเร็วสูง คือ พื้นฐานของแนวคิดข้างต้น ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันประเทศไทยเป็น “Thailand 4.0” ซึ่งจะเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
รัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงกำลังเร่งผลักดันอย่างจริงจังให้เกิดเทคโนโลยี 5G ภายในปี 2563 เพื่อไม่ให้ประเทศไทยล้าหลังจนสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ย้อนหลังไปยุค 2G เมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อน ประเทศไทยก็เกือบเสียโอกาสครั้งสำคัญลักษณะนี้มาแล้ว หาก ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คนปัจจุบัน ไม่ตัดสินใจเดินหน้ากับ “ธุรกิจใหม่ที่ท้าทาย”
ห้วงเวลานั้น เป็นยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ซึ่งมีใช้เฉพาะแต่สถาบันการศึกษาโดยเชื่อมสัญญาณผ่านสายโทรศัพท์ ส่วนระบบโทรศัพท์หลักเป็นระบบลากสายไปตามสำนักงาน และบ้าน ประชาชนส่วนใหญ่พึ่งพาโทรศัพท์สาธารณะที่รอคิวกันยาวเหยียด เพราะการขอเบอร์โทรศัพท์บ้านเพียง 1 หมายเลขต้องรอกันข้ามปี ทำให้เกิดการเรียกเก็บหัวคิว และการขอหมายเลขโทรศัพท์ครั้งละหลายหมายเลขเพื่อนำมาขายเก็งกำไร
โทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน และมีผู้ให้บริการเพียง 2 ราย คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน คือ TOT) กับ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน คือ CAT)
การเกิดขึ้นของ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2533 ด้วยวิสัยทัศน์ของ ธนินท์ จึงไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินกิจการของเครือซีพี ที่ขยายจากธุรกิจเกษตรและอาหาร มาสู่ธุรกิจโทรคมนาคม หากยังสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลให้แก่โครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมของประเทศไทย
ธนินท์ เริ่มธุรกิจโทรคมนาคม เมื่อ รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ.2531-2534) เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไทยร่วมลงทุนในโครงการ “ขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย” ในปี พ.ศ.2533
ไม่มีบริษัทไทยบริษัทใดเลยตอบรับเข้าร่วมโครงการ ด้วยเหตุผลว่า ต้องใช้เงินลงทุนสูงเกินไป
แรกทีเดียว ธนินท์ ปฏิเสธ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยอ้างว่าไม่ใช่งานถนัด หากต่อมา เมื่อเขาไตร่ตรองว่า ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีทันสมัย กำลังเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะถาโถมเข้ามาปฏิวัติระบบธุรกิจแบบเดิมๆ ของโลกทั้งหมด
อีกทั้งขณะนั้น ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย เช่น ไต้หวัน และเกาหลี มีโทรศัพท์ 1 เลขหมายต่อประชาชน 3 คน มาเลเซีย มีโทรศัพท์ 1 เลขหมายต่อประชาชน 10 คน ส่วนประเทศไทย มีเพียง 1 เลขหมายต่อประชาชน 33 คน
โครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์ ย่อมเป็นโครงการที่จะก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติระยะยาว ตาม “หลักการ 3 ประโยชน์” ซึ่งหมายถึง “ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ และบริษัทได้ประโยชน์” ที่เขายึดถือตลอดมาในการทำธุรกิจ
ธนินท์ ตัดสินใจลงทุนทันที
แนวทางการทำงานของ ธนินท์ ในเรื่องนี้ เป็นเช่นเดียวกับเมื่อเขาปฏิวัติการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา นั่นคือ เมื่อเริ่มงานใหม่ที่ยังไม่มีความรู้ ต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกของคนเก่งระดับโลกมาช่วยพัฒนา ซึ่งทำได้ด้วยการ “ขอความร่วมมือ” หรือ “ซื้อ” เทคโนโลยีสำเร็จรูป
ธนินท์ เชิญ บริษัท บริติช เทเลคอม (British Telecom ปัจจุบัน คือ BT Group) ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมจากประเทศอังกฤษ มาเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และถือหุ้นร่วม แล้วยื่นข้อเสนอเป็นผู้ดำเนินการโครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ “ดีที่สุด” ทั้งในด้านเทคนิค อัตราส่วนแบ่งรายได้ และการบริหารโครงการ
เครือซีพี จึงได้รับสัมปทานดำเนินงาน 25 ปีแต่เพียงผู้เดียว บนเงื่อนไขว่าต้องใช้ผู้ผลิตอุปกรณ์เป็นซัพพลายเออร์มากกว่า 1 ราย เพื่อป้องกันการผูกขาด ซึ่งซีพี เลือกใช้ 3 รายที่เป็นระดับสุดยอดของโลก ได้แก่ ซีเมนส์ (Siemens) จากเยอรมนี เอทีแอนด์ที (AT&T) จากสหรัฐอเมริกา และ เอ็นอีซี (NEC) จากญี่ปุ่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2533 เครือซีพี จัดตั้งบริษัทจดทะเบียนชื่อ “บริษัท ซีพี เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด” หรือ “ซีพี เทเลคอม” เพื่อดำเนินงานโครงการดังกล่าวด้วยวงเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท แต่พลันเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2534
ธนินท์ ต้องเจรจากับรัฐบาลชุดใหม่ในสมัยนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน อีกรอบ
การเจรจาครั้งนี้ ธนินท์ ในนามบริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเปลี่ยนมาจากชื่อ “ซีพีเทเลคอม” ยอมสละสิทธิขยายโครงข่ายเขตภูมิภาค โดยตกลงขยายโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายเฉพาะเขตนครหลวงให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ.2539 ซึ่งต่อมาจะเพิ่มเติมอีก 6 แสนเลขหมาย และ เทเลคอมเอเชีย สามารถส่งมอบเลขหมายทั้งหมดให้แก่องค์การโทรศัพท์ก่อนกำหนดเวลา
เมื่อเริ่มดำเนินงาน เทเลคอมเอเชีย จัดการให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการขอจดทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ ที่ร่นระยะเวลารอคอยจาก 1 ปี เป็น 1 สัปดาห์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าหัวคิวใดๆ
ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมไทยแบบก้าวกระโดด ยกเลิกระบบชุมสายโทรศัพท์แบบโบราณ เป็นการวางโครงข่ายกระจายศูนย์ที่ไม่ต้องพึ่งพาชุมสายหลัก สามารถแตกลูกข่ายเป็นชุมสายย่อย เชื่อมต่อถึงบ้าน และสำนักงานต่างๆ ได้ทันที
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อข้อมูลใหม่ล่าสุด ณ ขณะนั้น คือ “เคเบิลใยแก้วนำแสง” ซึ่งมีช่องสัญญาณกว้าง ส่งข้อมูลได้มหาศาลทั้งภาพ และเสียง จน เทเลคอมเอเชีย กลายเป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกๆ ที่สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนโครงข่ายโทรศัพท์
นับจากนั้น วงการโทรคมนาคมไทย จึงเข้าสู่ยุคใหม่อย่างสมบูรณ์พร้อมกับการแข่งขันใหม่ๆ ในแวดวงธุรกิจโทรคมนาคมที่นำความเติบโตมาสู่เศรษฐกิจของประเทศ เช่น ธุรกิจโทรศัพท์มือถือและธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ปัจจุบัน เทเลคอมเอเชีย เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (True Corporation Public Company Limited) และแม้ยังคงอยู่ในช่วงเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาสนับสนุนธุรกิจ บริษัทก็ได้ขยายกิจการโทรคมนาคมไปรอบด้าน บนหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ของ ธนินท์ ในการสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
พร้อมเดินหน้ากับเทคโนโลยี 5G เพื่อร่วมพัฒนา “Thailand 4.0”