xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเป้าหมาย “ปฐมา จันทรักษ์” พาไอบีเอ็ม ไทย เป็นฮับอินโดจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไอบีเอ็มเดินหน้าขยายตลาดเป็นฮับอินโดจีน คาดภายใน 3 ปีข้างหน้า สร้างสัดส่วนรายได้ 5-10% ลุยนำเทคโนโลยี AI บล็อกเชน คลาวด์ IoT ช่วยผลักดันประเทศไทย พร้อมสร้างบุคลากรดิจิทัลร่วมกับภาครัฐ

น.ส.ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์หลังจากเข้ามารับตำแหน่งเป็นหัวเรือใหญ่ของไอบีเอ็ม ไทย ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า มีโจทย์หลัก คือ ทำอย่างไรถึงจะนำเทคโนโลยีมาต่อยอด และเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด

“สิ่งที่ไอบีเอ็ม มี คือ การนำเทคโนโลยีที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่ว่าจะเป็น AI บล็อกเชน IoT มาผสมรวมกับความน่าเชื่อถือ และระบบรักษาความปลอดภัยของไอบีเอ็ม ที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มาให้บริการบนคลาวด์ (IBM Cloud)”

ไอบีเอ็มเริ่มออกไปจับมือกับพันธมิตรที่เข้มแข็งในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามารถ ที่นำ AI เข้าไปช่วยในการตั้งศูนย์ป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ มีความร่วมมือกับ ไอเน็ต (iNet) ในการเข้าไปให้บริการคลาวด์โซลูชัน อย่างในอุตสาหกรรมการเงิน AI สามารถนำพฤติกรรมการใช้งานมาเรียนรู้ อย่างการรูดบัตรเครดิต ถ้ามีการรูดติดกันหลายๆ ครั้ง หรือจากคนละสถานที่ ตัววัตสัน ก็จะเรียนรู้ และนำไปสู่กระบวนการแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการขโมยบัตรเครดิตไปใช้งาน

“ไอบีเอ็มใช้ประสบการณ์กว่า 60 ปี ทำเรื่อง วัตสัน (Watson) ที่เป็น AI มาใช้งานได้เกือบทุกอุตสาหกรรม ที่สามารถปรับไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจที่หลากหลาย ที่ปัจจุบันให้บริการแล้วใน 80 ประเทศ จากลูกค้ากว่า 1.6 หมื่นรายใน 20 อุตสาหกรรม”

อีกความตั้งใจ คือ ถ้าจะให้ประเทศไทยแข่งกับประเทศอื่นได้ ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ให้แก่อินโดจีน ในส่วนของตอนบน เข้าไปทำตลาดเปิดใหม่อย่าง พม่า กัมพูชา ลาว ทำให้ไอบีเอ็ม อยู่ในช่วงการวางแผนเข้าไปบุกตลาดเหล่านี้ร่วมกับพาร์ตเนอร์

“ตามแผนการที่วางไว้คือ ในปี 2019 ไอบีเอ็มจะเริ่มรุกเข้าไปในตลาดอินโดจีน พร้อมไปกับการผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า จะสามารถสร้างสัดส่วนรายได้ 5-10% จากภูมิภาคอินโดจีน”

อย่างไรก็ตาม อีกภาคส่วนที่ต้องเร่งให้มีการพัฒนา คือ การสร้างทักษะให้แก่บุคลากรในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับภาครัฐ และหน่วยการศึกษา ที่จะเข้าไปสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ พร้อมกับเข้าไปเป็นส่วนร่วมกับคณะทำงานในการวางแผนประเทศไทย 4.0 โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพ และทีมที่ไอบีเอ็มประเทศไทย ก็พร้อมที่จะเติบโต

น.ส.ปฐมา กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน การทำธุรกิจไม่ว่าใครก็ตามเป็นทางเลือกของลูกค้าทั้งนั้น จะทำอย่างไรให้ไอบีเอ็ม เป็นหนึ่งทางเลือกอันดับต้นๆ ไม่ใช่เฉพาะลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ เพราะโซลูชันที่ไอบีเอ็ม มีวันนี้ สามารถลงมาเล่นได้ทุกตลาด ถือเป็นความท้าทายที่ภาพของไอบีเอ็ม ในระดับเอนเตอร์ไพรส์ ต้องขยายไปยังธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น