กสท โทรคมนาคม ดึงธนาคารกรุงไทย ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์ครบวงจรผ่านแอปพลิเคชัน “กรุงไทยเน็กซ์” (Krungthai Next) เปิดทางลูกค้า กสท ที่เป็นบุคคลทั่วไปทั้งบริการโมบาย และบรอดแบนด์ จำนวนรวมกว่า 2.3 ล้านราย สามารถชำระค่าบริการได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปจุดให้บริการ ปัดไม่มีแผนลดจำนวนจุดบริการ แต่อาจนำข้อมูลมาใช้วางแผนการบริหารจัดการในอนาคต ยอมรับอาจนำข้อมูลบิ๊กดาต้าจากการชำระค่าบริการบนแอปมาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาแพกเกจโปรโมชันที่เหมาะต่อลูกค้ามากขึ้น
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กสท กับธนาคารกรุงไทย ครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อขยายช่องทางการชำระเงินของลูกค้าที่เป็นบุคคลทั่วไป ลูกค้ากลุ่มนี้มีจำนวนรวมกว่า 2.3 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าโมบาย 2 ล้านราย และบริการบรอดแบนด์มากกว่า 2 ล้านรายทั่วไทย
“คาดว่าลูกค้า 80-90% ของ กสท ที่เป็นกลุ่มพรีเพด จะหันมาชำระค่าบริการผ่านแอปพลิเคชันนี้ ความร่วมมือนี้จะเพิ่มช่องทางให้ลูกค้ามีทางเลือกชำระค่าบริการได้สะดวกขึ้น ขณะนี้ไม่มีเป้าหมายลดจุดให้บริการ แต่อาจจะนำข้อมูลมาใช้พิจารณาปรับเปลี่ยนช่องทางที่ไม่ได้รับความนิยม”
แนวคิดนี้ของ กสท สะท้อนว่า บริษัทกำลังพยายามสนองนโยบาย “สังคมไร้เงินสด” ของรัฐบาล โดยปัจจุบัน ลูกค้า กสท สามารถชำระค่าบริการที่ร้านค้าปลีกอย่างเซเว่นอีเลฟเวน และธนาคารอื่น ราวหมื่นจุด แต่นับจากนี้จะสามารถชำระผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai Next ได้
จุดเด่นของบริการใน Krungthai Next คือ ระบบคิวอาร์โค้ด ครอส แบงก์ บิล เพย์เมนต์ (QR Code Cross Bank Bill Payment) ซึ่งลูกค้า กสท สามารถชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารใดก็ได้ โดยที่ กสท สามารถบริหารจัดการเงินสด ลดปัญหาการจัดเก็บและสูญหายของเงินสด และสามารถเรียกดูรายการรับชำระค่าบริการผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย ชื่อ KTB Corporate Online ได้จุดเดียว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ด้วยระบบนี้ จะทำให้ กสท ไม่ต้องเปิดท่อตรงกับทุกธนาคาร แต่ทำครอส แบงก์ บิล เพย์เมนต์ได้เลย
“ตัวนี้เองจะทำให้สามารถรับชำระผ่านทุกธนาคาร ยิงที่คิวอาร์ ก็จะสามารถชำระค่าบริการกับ กสท ได้เลย หลังบ้านจะสามารถแยกและทราบที่มาที่ไปของการชำระเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งหมดนี้ตรงตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าจะขยายไปยังส่วนอื่น และจะผลักดันให้เกิดประเทศไทย 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ”
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ไม่เปิดเผยฐานผู้ใช้โมบายแบงกิ้งของธนาคารในขณะนี้ ระบุเพียงว่า ผู้ใช้งานกำลังเติบโตต่อเนื่อง โดย Krungthai Next จะเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับ กสท เท่านั้น เนื่องจากอนาคต ธนาคารมีแผนให้บริการรับชำระค่าบริการกับกลุ่มลูกค้านิติบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อจ่ายเงินกับหน่วยงานภาครัฐได้ง่ายขึ้น
Krungthai Next ยังจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อยอดธุรกิจด้วยบิ๊กดาต้าของทั้ง 2 บริษัท จุดนี้ผู้บริหารยอมรับว่าจะได้เห็นการวิเคราะห์สินเชื่อด้วยเทคโนโลยี AI เนื่องจากการชำระเงินผ่านแอปจะนำไปสู่การวิเคราะห์รายได้ และการตัดสินใจลงทุนของลูกค้าแต่ละราย โดยใช้ AI
“กสท ก็อยากเห็นว่า เวลาลูกค้าวิ่งเข้ามาลูกค้าเป็นกลุ่มไหน นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือต่างๆ ในอนาคต”
ในงานประกาศความร่วมมือนี้ ผู้บริหาร กสท ยังให้ความเห็นเรื่องความคืบหน้าการควบรวม กสท และทีโอที ว่าจะเป็นไปตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการควบรวม ซึ่งหากมีมติเห็นชอบ จะสามารถส่งมติไปที่บอร์ดบริหารของทั้ง 2 บริษัท เพื่อส่งเรื่องเข้า ครม. ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
“กสท ไม่มีข้อจำกัดในการควบรวม เพราะมีการประชุมกับทุกฝ่ายแล้ว มีการทำความเข้าใจว่า การควบรวมจะเกิดประโยชน์ แม้ว่าจะต้องใช้เวลา 1-3 ปี ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และลดความซ้ำซ้อน คาดว่าจะต้องใช้เวลา 3 ปี กว่าการควบรวมจะสมบูรณ์ หมายถึงการเป็นระบบเดียวกัน เพื่อทำรายได้”