xs
xsm
sm
md
lg

BenQ แย้มกลยุทธ์ปีหน้า โชว์ยอดขายไทยปี 61 ทะลุ 280 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากซ้าย นางสาวธัญรัก นาสมยนต์, มร.ดูมัส เฉิน และนายวัชรพงษ์ วงษ์มา
เบ็นคิว ประเทศไทย (BenQ) โชว์ตัวเลขยอดขายปี 2561 ทะลุเป้า 280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.69% อานิสงส์ตลาดโตทุกส่วนโดยเฉพาะโปรเจกเตอร์และแอลซีดีสำหรับผู้เล่นเกม ยกเว้นสินค้ากลุ่มจอแอลซีดีมาตรฐาน ที่ยอดขายลดลง 18.93% เพราะนโยบายถอยจากตลาดนี้ของ BenQ เอง มั่นใจปีหน้าเห็นสัญญาณบวกที่เอื้อให้ BenQ ขยายธุรกิจ B2B ต่อเนื่อง วางเป้าเพิ่มสัดส่วน B2B เป็น 50% ให้ได้ในปี 2020

นายดูมัส เฉิน ผู้อำนวยการสายธุรกิจ บริษัท เบ็นคิวคอร์ปอเรชัน ประจำภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงวิสัยทัศน์ล่าสุดของ BenQ ว่าต้องการเปลี่ยนภาพจากแบรนด์ที่เน้นจำหน่ายสินค้าคอนซูเมอร์ หรือ B2C มาเป็นแบรนด์ B2B ซึ่งเน้นจำหน่ายเป็นโซลูชันให้องค์กร และหน่วยงานต่างๆ

“เราจะเปลี่ยนให้ได้ในปี 2020 (พ.ศ.2563) ต้องให้สัดส่วน B2B ทำรายได้เป็น 50% ของรายได้รวม” ดูมัส ระบุ “ไทยเป็นตลาดที่สำคัญมากของ BenQ ในอาเซียน เราจะทุ่มทรัพยากรเพื่อให้ธุรกิจ B2B เกิดให้ได้”
เลเซอร์โปรเจคเตอร์แบบอินเทอร์แอคทีฟของ BenQ
หนึ่งในสิ่งที่ BenQ ทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ คือ การจัดทัพฮาร์ดแวร์ 5 กลุ่มให้พร้อม ทั้งโปรเจกเตอร์, หน้าจออัจฉริยะ (Smart Display), หน้าจออินเทอร์แอ็กทีฟ (Interactive Flat Panel), ระบบนำเสนอไร้สาย (Wireless Presentation Plug&Play) และจอ LCD สำหรับมืออาชีพ myh’s,fouh Benq ทั้งหมดนี้จะเสริมจุดแข็งของ BenQ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเบอร์ 1 ตลาดดีแอลพีโปรเจกเตอร์ของโลก โดยเฉพาะโปรเจกเตอร์ตลาดการศึกษาที่มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุด 25% และตลาดโปรเจกเตอร์ 4K ที่ BenQ เป็นแชมป์ด้วยแชร์ 38% ของตลาดเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง (ข้อมูลจากฟิวเจอร์ซอร์สรีเสิร์ช)

ดูคัส ย้ำนโยบายของ BenQ เอเชียแปซิฟิก คือ การแสดงจุดยืนให้ผู้บริโภคเห็นว่า BenQ ไม่ได้มีแค่ฮาร์ดแวร์ แต่ BenQ ให้บริการทั้งโซลูชัน เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงการดำเนินงาน จุดนี้ผู้บริหาร BenQ ชี้ว่า ตลาดเลเซอร์โปรเจกเตอร์ต่างประเทศขณะนี้เติบโตมาก เนื่องจากมีการปรับใช้ในโรงละคร โดยเฉพาะเลเซอร์โปรเจกเตอร์ที่หลอดภาพใช้งานได้นาน และการติดตั้งเครื่องทำได้ทั้งแนวตั้ง หรือเอียงได้ โดยไม่มีปัญหาความร้อน

ยังมีธุรกิจกลุ่มสวนสนุก, พิพิธภัณฑ์ที่นำโปรเจกเตอร์มาเรียงต่อกันเป็นระบบเพื่อแสดงภาพขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับธุรกิจ และโรงเรียน ที่ต้องการโซลูชันสำหรับหอประชุมใหญ่ ห้องประชุมเล็ก หรือห้องเรียนย่อย ทั้งหมดนี้ BenQ จะเดินหน้าทำการตลาดทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ คาดว่าจะมีการจัดสัมมนา และออกบูท ต่อเนื่องตลอดปีหน้า

*** กำไรพุ่ง 21%

BenQ สรุปผลการดำเนินงานปี 2561 ว่า รายได้รวมสำหรับประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้น 21.69% แตะระดับ 280 ล้านตามเป้าที่วางไว้ ขณะที่ตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานก็เติบโตในระดับ 21.24% ไล่เลี่ยกัน
ธัญรัก นาสมยนต์ กับเลเซอร์โปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ของ BenQ
นางสาวธัญรัก นาสมยนต์ ผู้จัดการใหญ่ เบ็นคิว ประจำประเทศไทย ระบุว่า ยอดขายที่ปิดได้ตามเป้าเป็นเพราะนโยบายเน้นตลาดการศึกษา และองค์กรที่ต้องการโซลูชันห้องประชุมขนาดเล็กและใหญ่ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายสินค้ากลุ่มโปรเจกเตอร์ (39%) กลุ่มแอลซีดีมาตรฐาน (24%) รองลงมาเป็นหน้าจอแอลซีดีเกมแบรนด์โซวี่ “Zowie” (22%)

“ปีหน้าเราหวังจะโตที่องค์กร และการศึกษา เราต้องอัปเกรดตัวเราเองเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ด้วยการสร้างอินฟราสตรักเจอร์ และตอบโจทย์ลูกค้าให้เร็วขึ้น”

จุดที่น่าสนใจ คือ สินค้ากลุ่มแอลซีดีเพื่อคอเกมแบรนด์ลูกอย่าง Zowie นั้น เติบโตสูงที่สุด 222.99% ในปีนี้ ผู้บริหารเชื่อว่า ความสำเร็จของ Zowie จะเสริมกับเป้าหมายระยะยาวที่ BenQ วางไว้ เนื่องจากแม้จะหวังให้ธุรกิจ B2B ขยายตัวเป็นสัดส่วน 50% ใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่ BenQ ก็ต้องรักษาฐานตลาดคอนซูเมอร์ไว้เช่นกัน จุดนี้ยอมรับว่า สินค้ากลุ่ม Zowie จะมีบทบาทหลักในการรักษาสมดุลยอดขายฝั่ง B2C ไว้ช่วง 2-3 ปีนับจากนี้

อย่างไรก็ตาม BenQ ยอมรับว่าปี 2561 คือ ปีที่ยอดขายกลุ่มจอแอลซีดีมาตรฐานหดตัวลงมากที่สุด (ลดลง 18.93%) สาเหตุเป็นเพราะบริษัทมีนโยบายถอย และไม่ทำตลาดสินค้ากลุ่ม 21 นิ้วลงมา

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราโฟกัสตลาดใหม่ ประกอบกับตลาดแอลซีดีสแตนด์อโลนเน้นการแข่งขันที่ราคาสูงมาก ขณะเดียวกัน ก็มีความต้องการซื้อพร้อมเครื่องพีซี BenQ จึงมูฟไป และทำ Zowie ขึ้นมาเป็นหลัก”

ผู้บริหาร BenQ ไม่กังวลเรื่ององค์กรมีระบบใช้งานในห้องประชุมอยู่แล้ว เชื่อว่าหลายบริษัทจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และนำเทคโนโลยีใหม่มายกระดับห้องประชุม ซึ่งจะลดต้นทุนการดำเนินงาน และค่าเดินทางของพนักงานในองค์กรได้ จุดนี้ BenQ เห็นโอกาสชัดเจนในตลาดรีเพลสเมนต์ ซึ่งองค์กรจะตัดสินใจเปลี่ยนจากระบบเดิมมาใช้ระบบใหม่

ปัจจุบัน ธุรกิจของ BenQ ที่เป็น B2C คิดเป็น 90% ของยอดขายรวม BenQ ทำตลาดไทยผ่ายดีลเลอร์หลัก 4 ราย ซึ่งเมื่อต้องบุกตลาดโซลูชัน BenQ จึงจับมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้วางระบบ หรือ SI จำนวน 20-30 รายในปีนี้ จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2560
หน้าจอสำหรับช่างภาพมืออาชีพของ BenQ
นายวัชรพงษ์ วงษ์มา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ กล่าวเสริมว่า งบการตลาดของ BenQ ที่วางไว้ในปีหน้า จะยังอยู่ที่ระดับ 2% ของยอดขาย เท่ากับระดับเดิมในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม งบที่ใช้จริงในปี 2561 กลับมากกว่าจนเกือบแตะระดับ 3% คาดว่าทิศทางนี้จะเกิดขึ้นในปีหน้าเช่นกัน

“สินค้าที่เรามีแผนจะทำตลาดปีหน้า คือ เลเซอร์โปรเจกเตอร์ที่มีเทคโนโลยีป้องกันฝุ่น ทำให้หลอดภาพให้สีสด ใช้งานนาน และลดความยุ่งยากในการดูแลรักษา ส่วนสินค้ากลุ่ม IFP ก็มีการติดเซ็นเซอร์วัดคุณภาพอากาศในห้องเรียน มีการฉาบสารนาโนไอออนนิกซิลเวอร์ ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เด็กทุกคนสามารถใช้มือจับที่หน้าจอเพื่อทำกิจกรรมในห้องเรียนได้ปลอดภัย เพราะเชื้อโรคจะตายไป มีใบรับรองบอกว่าฆ่าแบคทีเรียชนิดไหนได้บ้าง โปรเจกเตอร์ยังมีฟีเจอร์ลดแสงลงอัตโนมัติ ช่วยให้ครูไม่แสบตา”

ทั้งหมดนี้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ B2B ที่ BenQ จะให้ความสำคัญต่อเนื่องจากปีนี้ถึงปีหน้า คาดว่าจะช่วยสานต่อให้ปี 2562 รายได้รวม BenQ จะเติบโตขึ้นอีก 30% ทีเดียว.
หน้าจอ IFP ที่มีเซ็นเซอร์วัดคุณภาพอากาศในห้องเรียน มีการฉาบสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ให้เด็กทุกคนจับที่หน้าจอเพื่อทำกิจกรรมในห้องเรียนได้ปลอดภัย สนนราคาเริ่มต้นราว 169,000 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น