กลุ่มสามารถ แตก ซีเคียวอินโฟ ธุรกิจย่อยภายใต้บริษัท สามารถเทลคอม ทุ่ม 200 ล้านบาท จับมือกับไอบีเอ็ม ตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยไซเบอร์ (CSOC) ขึ้นเป็นแห่งแรกภายในประเทศไทย ด้วยการนำ AI Watson มาช่วยตรวจจับ และวิเคราะห์การโจมตี รองรับภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น เน้นเจาะกลุ่มภาครัฐ หวังกวาดรายได้ 100 ล้านบาท ภายใน 2 ปี และขึ้นเป็นท็อป 3 ภายใน 5 ปีข้างหน้า
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายหลักในการให้บริการ CSOC คือ องค์กรภาครัฐ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มธุรกิจขนส่ง ไปจนถึงองค์กรธุรกิจที่ใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากหลากหลายอุปกรณ์ โดยที่องค์กรเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องตั้งศูนย์เฝ้าระวังขึ้นมา
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจดูแลระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เกิดจากการช่วยลดต้นทุน ลดภาระการสรรหาบุคลากร ที่ผู้ใช้บริการสามารถเรียกดูข้อมูลความปลอดภัยได้ทันที
“เบื้องต้น ซิเคียวอินโฟ วางเป้าหมายในการสร้างรายได้ 50-100 ล้านบาท ภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยจะมาจากฐานลูกค้าของกลุ่มสามารถในส่วนของภาครัฐ ก่อนที่จะขยายไปสู่ภาคเอกชนต่อไป และจะก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 3 ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยใน 5 ปีข้างหน้า”
นายชวลิต ทินกรสูติบุตร หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านความปลอดภัย บริษัท ซีเคียวอินโฟ จำกัด กล่าวว่า ซีเคียวอินโฟ จะเข้ามาให้บริการทางด้านความปลอดภัยใน 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1.บริการดูแลระบบรักษาความปลอดภัย (Managed Security Service) ที่จะให้บริการแบบครบวงจร
2.การประเมินความเสี่ยง (Cyber Security Risk Assessment) ทั้งการทดสอบเจาะระบบ และการบริหารจัดการด้านการสื่อสารต่างๆ 3.ที่ปรึกษาทางด้านความปลอดภัย (Cyber Security Consultant) จากผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ 4.ศูนย์ฝึกอบรม (Cyber Security Education and Awareness) ในการเปิดอบรมสร้างความรู้ภัยคุกคามไซเบอร์ให้แก่องค์กรต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบป้องกันภัยคุกคามจากไอบีเอ็ม โดยเฉพาะ AI อย่าง Watson ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ไว้ตรวจจับ และวิเคราะห์รูปแบบภัยคุกคามมาให้บริการ พร้อมศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber Security Operation Center : CSOC) ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง