xs
xsm
sm
md
lg

ฟูจิตสึ เฮ โปรเจกต์รัฐโตเท่าตัว ผนึกกรมชลฯ วัดระดับน้ำแบบ AR

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ขณะสแกนเครื่องหมายเออาร์หรือ AR MARKER แล้ววัดระดับน้ำในบริเวณที่สนใจ ผ่านแอปพลิเคชัน SWOC WL
ผู้บริหารฟูจิตสึ (Fujitsu) เผยสัดส่วนโครงการรัฐในมือช่วงปีนี้ เพิ่มขึ้นเท่าตัว 100% อานิสงส์นโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ผลักดันให้บริษัทต่อยอดธุรกิจ SI ได้ฉลุย ล่าสุด ผนึกกรมชลประทานพัฒนาแอปพลิเคชันให้คนไทยสามารถวัดระดับปริมาณน้ำได้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ AR ปีแรกนำร่องติดตั้ง 3 จุดริมเจ้าพระยา ก่อนขยายไปทั่วลุ่มน้ำไทย 935 จุด ตลอด 3-5 ปี จุดเด่นของระบบ คือ ความประหยัดที่เชื่อว่าจะใช้งบติดตั้งเฉลี่ยไม่เกิน 9 หมื่นบาทต่อจุด ต่ำกว่าระบบโทรมาตร ซึ่งใช้เซ็นเซอร์ดั้งเดิมที่มีต้นทุนเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อจุด

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ระบบวัดระดับน้ำแบบ AR ของกรมชลฯ จะเน้นติดตั้งบริเวณชุมชน เขตเศรษฐกิจ และเป็นบริเวณที่ไม่มีระบบโทรมาตรอยู่ โดยให้รายละเอียดว่า แอปใหม่ของกรมชลฯ จะเน้นเรื่องการให้ข้อมูลระดับน้ำแก่ประชาชน แต่ในระยะแรกจะยังนำข้อมูลระดับน้ำจากการสแกนของประชาชนมาคำนวณไม่ได้ ทำให้ระบบโทรมาตรดั้งเดิมยังมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน

“ปัจจุบัน กรมชลฯ มีระบบโทรมาตรวัดระดับน้ำในลุ่มน้ำไทย 800 กว่าจุด (รวมทุกจุดขนาดใหญ่ กลาง เล็ก) เราต้องการระบบวัดระดับน้ำทั้งหมดราว 2,000 จุดในไทย การพัฒนาแอปพลิเคชันนี้จะตอบโจทย์ได้ เพราะแอปพลิเคชันใช้งบประมาณน้อยกว่า และทำได้เร็วกว่า ตอนนี้ใช้งบเริ่มต้น 5 แสนบาท ต่อไปจะเป็นเฟสของการพัฒนาระบบเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าจุดหนึ่งจะไม่เกิน 9 หมื่นบาท กำลังประเมินราคาทั้งโครงการ 5 ปี อยู่ในโมเดลซื้อขาด ไม่ใช่การจ่ายค่าบริการตามระยะเวลา”

*** คนไทยต้องอยู่ได้ ไม่ว่าน้ำมาก หรือน้ำน้อย

“เพราะคนไทยต้องอยู่ให้ได้ไม่ว่าช่วงน้ำมาก หรือน้ำน้อย ทั่วไป คือ กรมชลฯ ต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชน ไม่ใช่ประชาชนวัดเอง กรมชลฯ จึงมีแนวทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม และใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำ เราจึงทำแอปขึ้นมาให้ประชาชนโหลดใช้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายในพื้นที่ที่ตัวเองสนใจ”

แอปพลิเคชันใหม่ล่าสุดของกรมชลฯ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สว็อคดับบลิวแอล” (SWOC WL) ย่อมาจาก SWOC Water Level (SWOC WL) เป็นแอปพลิเคชันบนมือถือที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลด ตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเองแบบเรียลไทม์ (รองรับทั้ง Android และ iOS) ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเองผ่านการสแกนเครื่องหมายเออาร์ หรือ AR MARKER แล้ววัดระดับน้ำในบริเวณที่สนใจ

ด้วยเทคโนโลยี AR ภาพที่ประชาชนจะได้เห็นบนแอปพลิเคชัน คือ จะมี “ไม้บรรทัดวัดระดับน้ำ” แสดงไว้บนหน้าจอ เมื่อลากเส้นระดับน้ำที่เห็นผ่านจอโทรศัพท์มือถือแล้ว ก็จะได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และแนวโน้มของระดับน้ำในลำน้ำ ผู้ใช้งานจะได้รับรายงานแบบอัตโนมัติทันที ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้

“กรมชลฯ ขอเวลาที่จะพัฒนาในช่วงปีนี้ ระบบแอปนี้ดี เพราะไม่ต้องซื้อเครื่องมือวัดน้ำ ไม่มีค่าบำรุงรักษา และมีค่าใช้จ่ายครั้งเดียว เป็นการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนมาก”

แอปพลิเคชันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของกรมชลประทาน ที่หวังจะเป็นองค์กรอัจฉริยะภายในปี 2019 โดยแอปพลิเคชัน SWOC WL ถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจกรมชลฯ ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งหมดนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยที่กรมชลฯ ยึดแนวทางการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับการผลักดันให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการเข้าถึงข้อมูล และร่วมแรงแจ้งข้อมูลปริมาณน้ำเพื่อเตือนภัย
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน (ซ้าย) และ ภาสกร เงินเจริญกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายภาครัฐ ฟูจิตสึไทย
ภาสกร เงินเจริญกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายภาครัฐ ฟูจิตสึไทย ให้สัมภาษณ์ว่า แอปพลิเคชันนี้จะแก้ข้อจำกัดของระบบโทรมาตรดั้งเดิม เนื่องจากหากประชาชนไม่เดินทางไปที่เกต หรือประตูวัดน้ำ จะไม่ทราบเลยว่าระดับน้ำสูงต่ำเท่าไหร่ หรือเกินเกณฑ์ไหม ที่ผ่านมา กรมชลฯ มีการติดตั้งระบบวิเคราะห์ระดับน้ำล่วงหน้าแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้งานได้ และต้องรอรับข้อมูลจากกรมชลฯ เท่านั้น

“นี่ถือเป็นเฟสแรก เราใช้เวลา 3-6 เดือนในการสำรวจร่องน้ำไทย ซึ่งต้องทำเพิ่มเติมจากระบบวัดน้ำด้วย AR ที่มีใช้งานแล้วที่ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย แต่การใช้งานระบบในประเทศไทยแตกต่างกัน เนื่องจากที่ญี่ปุ่นมีการกำหนดขั้นตอนให้ประชาชนเป็นผู้รายงาน และพ่วงกับระบบเตือนภัยอยู่แล้ว ข้อมูลมีความแม่นยำ เพราะเป็นระบบออนคลาวด์ ซึ่งเก็บจีพีเอส ณ จุดที่ถ่าย จึงไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนเหมือนประเทศไทย จุดนี้ หากต้องการต่อยอดให้ระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเตือนภัยได้ อาจต้องใช้เวลาเพื่อแก้ปัญหาการถ่ายภาพผิดประเภทที่อาจเกิดขึ้นได้“

หากไม่มีใครใช้งาน SWOC WL ระบบจะไม่ได้รับข้อมูลระดับน้ำเรียลไทม์ และระบบไม่มีการเก็บพิกัดจีพีเอสของผู้ใช้ ดังนั้น SWOC WL จึงต้องทำงานควบคู่กับเครื่องมือวัดระดับน้ำอื่นของกรมชลฯ โดยเฉพาะระบบโทรมาตรที่มีต้นทุน 2 แสนบาทต่อจุด เนื่องจากต้องใช้ระบบเซ็นเซอร์ เก็บข้อมูลที่เซิร์ฟเวอร์ มีการเชื่อมโยงมาที่ศูนย์กลาง ทั้งหมดนี้ต่างจากแอป SWOC WL ที่จะไม่มีการบันทึกข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ในเฟสแรก

พื้นที่นำร่อง SWOC WL ในปีแรกประกอบด้วย 3 จุดบริการ คือ 1.ท่าเรือวังหลัง โรงพยาบาลศิริราช 2.ท่าเรือนนทบุรี จ.นนทบุรี และ 3.ตลาดน้ำอยุธยา วัดท่าการ้อง จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการนี้มีแผนต่อยอดจุดบริการ 935 จุดครอบคลุมลำน้ำทั่วประเทศใน 3-5 ปี คาดว่าปีหน้าจะขยายได้เป็น 150 จุด ก่อนจะเพิ่มเป็น 300 จุด และ 482 จุดในปีถัดๆ ไป

ปัจจุบัน ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะของกรมชลประทานมีระบบบอกสภาพอากาศ วิเคราะห์ร่องมรสุม ข้อมูลปริมาณฝนที่อาจกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ รวมถึงปริมาณน้ำสภาพอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ ว่าสามารถรับน้ำได้เท่าไหร่ มีแจ้งเตือนอ่างที่น้ำมาก น้ำน้อย มีภาพถ่ายดาวเทียม ทั้งหมดนี้กรมชลประทาน ระบุว่า สามารถจัดการและเฝ้าระวัง รับมือน้ำแล้ง ผ่านสถานการณ์น้ำประจำวันที่สามารถวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยได้

นอกจากความร่วมมือกับฟูจิตสึ กรมชลฯ มีโครงการร่วมมือกับพระนครเหนือ พัฒนาระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลเพื่อพยากรณ์สถานการณ์น้ำเป็นรายฤดูกาล รายสัปดาห์ และการระบุวันเวลาที่อยากทราบผลพยากรณ์

สำหรับเดือนตุลาคมปีนี้ พื้นที่เฝ้าระวังคือ 26 อำเภอ 13 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย, พิจิตร, พิษณุโลก, นครสวรรค์ และอีกหลายจังหวัด

***โปรเจกต์รัฐโต 100%

แม้จะไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขรายได้จากธุรกิจภาครัฐ แต่ภาสกร ย้ำว่า ปีนี้บริษัทสามารถขยายธุรกิจกลุ่มโครงการภาครัฐได้ดี โดยหากพิจารณาเฉพาะจำนวนโครงการภาครัฐที่มีในมือ ถือว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัว 100%

“ถ้าเป็นจำนวนโครงการ ถือว่าเป็นโครงการภาครัฐประมาณ 10% ของฟูจิตสึ เรามีจุดแข็ง คือ เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ขณะที่เราเป็นเอสไอ ผู้วิเคราะห์และติดตั้งระบบครบวงจร ผมมองว่า ความท้าทายของธุรกิจภาครัฐในช่วงปีหน้า คือ การเลือกตั้ง”

ปัจจุบัน สัดส่วยรายได้ของฟูจิตสึ แบ่งเป็นกลุ่ม JOC ซึ่งเป็นการจำหน่ายเทคโนโลยีให้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น และ NON JOC ที่ไม่ใช่สัญชาติญี่ปุ่น สัดส่วนรายได้ขณะนี้อยู่ที่ 60-40 (JOC สูงกว่า) ซึ่งคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากกระแสดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนโลกทั้งใบในขณะนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น