xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวข้าม “อี-วอลเล็ต” ในประเทศ AIS-Singtel ขยายฐาน “VIA” จับตลาดทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ (ซ้าย) และอาเธอร์ แลง
การเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้หันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว อาจไม่เพียงพออีกต่อไปในการที่จะผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ทำให้เอไอเอส เริ่มเดินเกมด้วยการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวที่มาไทยสามารถใช้จ่ายในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น หรือนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวในต่างประเทศก็สามารถใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ชำระเงินได้เช่นเดียวกัน

หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการชำระเงินผ่านมือถือข้ามประเทศไทย ประเด็นหลักเลยคือ การวางรากฐานในระบบพร้อมเพย์ และพัฒนาขึ้นมาเป็น QR Code มาตรฐาน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นภาคส่วนสำคัญในการผลักดันการใช้งานระบบ QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยโทรศัพท์มือถือ

แม้ว่าที่ผ่านมา ในประเทศไทยจะมีการเปิดรับการชำระเงินผ่าน QR Code จากอาลีเพย์ มาสักพักหนึ่งแล้ว แต่รูปแบบดังกล่าวถือเป็นการเปิดให้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย สามารถจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกขึ้น แต่กลับกัน คนไทยไม่สามารถนำอีวอลเล็ตที่มีเข้าไปใช้งานในจีนได้

แต่การมาของอาลีเพย์ ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเกิดการตื่นตัวในแง่ของการรับชำระเงินด้วยระบบ QR Code โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อยที่เป็น SMEs ที่ต้องการลูกค้าจีน ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีด้วยการนำ QR Code มาใช้ในการรับชำระเงิน

ประกอบกับการที่ธนาคารต่างๆ เร่งผลักดันให้เกิดการนำ QR Code ไปใช้ เพื่อรับโอนเงิน หรือชำระค่าสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ที่ออกแคมเปญกระตุ้นให้ร้านค้าเห็นถึงความสะดวกที่เกิดขึ้นจากการก้าวสู่ยุคสังคมไร้เงินสด

ดังนั้น จากความร่วมมือล่าสุดระหว่างกลุ่มสิงเทล ที่เป็นกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีฐานลูกค้าใช้งานกว่า 700 ล้านราย ใน 21 ประเทศ กับเอไอเอส ผู้ให้บริการเครือข่ายอันดับ 1 ในประเทศไทย ผลักดันรูปแบบการชำระเงินผ่านมือถือแบบข้ามประเทศให้เกิดขึ้นแล้วครั้งแรกในประเทศไทย

ที่สำคัญคือ ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มจากการให้บริการแก่ลูกค้าของสิงเทล จากสิงคโปร์ และลูกค้าที่ใช้งาน Rabbit LINE Pay ในไทย ให้สามารถนำกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้งานในไทยกับสิงคโปร์ได้ แต่ในอนาคตก็มีแผนที่จะขยายไปให้บริการแก่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่อไป

ภายใต้เป้าหมายสำคัญของกลุ่มสิงเทล คือ การร่วมผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการสร้างเครือข่ายการชำระเงินให้ทั่วภูมิภาค โดยจะขยายไปยังพันธมิตรอื่นๆ อย่าง Airtel ในอินเดีย Globe ในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะ Telkomsel ในอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะเข้าร่วมภายในปีนี้

ไม่ใช่แค่การเข้าไปเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเท่านั้น เพราะสิงเทล มีแผนที่จะขยายไปยังผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อย่าง Ping An ที่เป็นผู้ให้บริการประกันภัยในจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

รวมถึงการเปิดโอกาสให้พันธมิตรกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายสามารถเข้ามาร่วมอยู่ในแพลตฟอร์มชำระเงินข้ามประเทศในชื่อ “VIA” ได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นโอเปอเรเตอร์ในกลุ่มสิงเทลเท่านั้น

อาเธอร์ แลง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสิงเทล อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าให้ฟังถึงการแข่งขันในตลาดอีวอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในสิงคโปร์ว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการอีวอลเล็ตในสิงคโปร์ 20 กว่าราย ที่จับกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน คือ ประชากรสิงคโปร์ 5 ล้านคน

ส่วนในฝั่งของร้านค้าในสิงคโปร์ ก็จะคล้ายกับในประเทศไทย ที่ภาครัฐมีการผลักดันให้เกิดการสร้าง QR Code มาตรฐานขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางในการรับชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้กลายเป็นว่าผู้บริโภคต้องมีการใช้งานหลากหลายแอปพลิเคชันในการชำระเงิน

“การเปิดแพลตฟอร์ม VIA ขึ้นมาจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถนำกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ไปใช้งานในต่างประเทศได้ทันทีในเรตเงินที่ถูกกว่าปกติ โดยไม่ต้องแลกเงินไปใช้งาน โดยทางสิงเทลหวังว่าจะมีผู้ให้บริการอีวอลเล็ตรายอื่นๆ เข้ามาร่วมอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ เพื่อเข้าสู่ฐานลูกค้าในระดับโลกต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้น เอไอเอสยังไม่ได้เข้ามาร่วมลงทุนใน Rabbit LINE Pay ทำให้ในช่วงแรกผู้บริโภคชาวไทยจึงจำเป็นต้องมีการติดตั้งแอปพลิเคชัน AIS Global Pay เพิ่มขึ้นมา เพื่อผูกกระเป๋าเงินของ Rabbit LINE Pay ใช้งานไปก่อน และในอนาคต จึงมีโอกาสใช้งาน Rabbit LINE Pay เพื่อใช้จ่ายในต่างประเทศได้เลย

เนื่องจากกระเป๋าเงินออนไลน์ของ Rabbit LINE Pay ปัจจุบันมีข้อจำกัดในแง่ของการใช้งาน เพราะเริ่มต้นขึ้นมาจากการให้บริการในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และไทย ทำให้ต้องมีการปรับแต่งเพื่อให้รองรับการใช้งานบนแพลตฟอร์ม VIA ต่อไป

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวเสริมว่า แนวคิดหลักของ VIA คือ การเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินกลางที่เชื่อมเข้ากับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการต่างๆ และทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ คือ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวในไทยก็จะใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น

“ความสะดวกของ Rabbit LINE Pay คือ ลูกค้าที่ใช้งาน LINE กว่า 42 ล้านคน สามารถใช้งานได้ ไม่มีข้อจำกัดในแง่ที่ต้องเป็นลูกค้าของเอไอเอส ดังนั้น คนไทยทุกคนเวลาเดินทางไปต่างประเทศก็สามารถใช้จ่ายเป็นเงินไทยผ่านกระเป๋าเงินออนไลน์ได้ทันที”

ประเด็นสำคัญก็คือ ในฝั่งของร้านค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จะมีช่องทางในการรับชำระค่าสินค้าและบริการที่สะดวกขึ้น ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นทั้งภูมิภาคที่ร่วมกันผลักดัน SMEs ให้สะดวกขึ้น

อย่างในประเทศไทย การที่ Rabbit LINE Pay เข้าไปร่วมมือกับกสิกรไทย ที่มีฐานลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs กว่า 1.6 ล้านราย ที่เข้าสู่ระบบด้วยการนำ QR Code มาตรฐานไปใช้งาน ไม่นับรวมกับลูกค้าที่ใช้งานพร้อมเพย์ บน QR Code มาตรฐาน ทำให้ไทยมีช่องทางชำระค้าสินค้าและบริการด้วย QR Code กว่า 2.6 ล้านจุด

***การแข่งขันของ 2 ยักษ์ใหญ่

แม้ว่าการเปิดเกมรุกในครั้งนี้ของกลุ่มสิงเทล จะดูมีความน่าสนใจ แต่ก็อย่าลืมว่า การที่แอนท์ ไฟแนนเชียล ในเครืออาลีบาบา มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับแอสเซนด์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการทรูมันนี่ ถ้าเปิดให้ลูกค้าที่ใช้งานทรูมันนี่อยู่ สามารถนำไปใช้ชำระเงินค่าสินค้าของอาลีเพย์ได้ ก็จะกลายเป็นก้างชิ้นโตที่ต้องแข่งขันกันต่อไป

เพราะอย่าลืมว่า การกระจายตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ได้กระจุกอยู่แค่ไม่กี่ประเทศ แต่กำลังขยายตัวออกไปนอกภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถ้าทรูมันนี่ สามารถผูกเข้าไปใช้งานในการชำระเงินร่วมกับอาลีเพย์ ในสกุลเงินต่างประเทศได้ ก็จะมีตลาดขนาดใหญ่รออยู่เช่นเดียวกัน

ดังนั้น จะเห็นว่าการเดินเกมในครั้งนี้ เบื้องหลังแล้วก็จะเป็นการแข่งขันของโอเปอเรเตอร์ 2 รายหลักๆ ในประเทศไทย ที่เอไอเอส จะผลักดัน Rabbit LINE Pay ขึ้นมาแข่งขันกับทรูมันนี่ ที่ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่ธนาคาร และมีจำนวนลูกค้ามากที่สุดในไทยอยู่เวลานี้

ส่วนดีแทค หลังจากที่ขายระบบชำระเงินเพย์สบายให้แก่โอมิเซะ ก็กลายเป็นว่าไม่ได้ให้ความสำคัญต่อตลาดเพย์เมนต์เหมือนผู้ให้บริการรายอื่นแล้ว เพราะในเวลานี้ การกลับไปโฟกัสในการหาคลื่นมาให้บริการลูกค้าคงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อดีแทค มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น