xs
xsm
sm
md
lg

เน็ตประชารัฐ ใครเขมือบ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฉตัวเลขลงทุนต่อจุดติดตั้งฟรีไวไฟ โครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวงดีอี งบประมาณ 13,000 ล้านบาท จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ตกจุดละ 5 แสนกว่าบาท บำรุงรักษาให้ใช้งานได้เพียง 6 เดือน ที่มีปัญหาร้องเรียนใช้งานไม่ได้ขณะนี้ กับโครงการของ กสทช.ที่กำลังจะได้ผู้ชนะการประมูล 12 ต.ค.นี้ จำนวน 15,723 หมู่บ้าน คิดเฉพาะต่อจุดติดตั้งฟรีไวไฟ งบประมาณ 6,840 ล้านบาท ตกจุดละ 4 แสนกว่าบาท แต่บำรุงรักษาให้ใช้งานได้ตลอด 5 ปี ชี้ปมงานนี้เงินตกใส่ใคร เพราะหากไม่เปลี่ยนมือให้ กสทช.ทำเรื่องคงไม่แดง

โดย กสทช.พร้อมเดินหน้าโครงการเน็ตโซนซี 15,723 หมู่บ้าน ด้วยราคากลาง 19,674.78 ล้านบาท แม้จะดีเลย์ 15 วันไป 1 โครงการ คือ พื้นที่ภาคเหนือ 2 เหตุประกาศเนื้อหาการประมูลผิดพลาด ส่วนอีก 7 โครงการที่เหลือเป็นไปตามกำหนดการเดิม ประกาศผู้ชนะประมูล 12 ต.ค.นี้ พร้อมลงนามสัญญาต้นเดือนพ.ย.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ตามที่กสทช.ได้ยกเลิกประกาศประกวดราคาจ้างโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (โซนซี) กลุ่มที่ 2 ภาคเหนือ 2 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดข้อผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทำให้รายละเอียดในเอกสารประกวดราคาผิดพลาดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ กรมบัญชีกลาง จึงขอให้กสทช.ปรับเงื่อนไขให้ถูกต้อง โดยให้เวลาในการแก้ไข 15 วัน

ดังนั้น จึงกระทบเฉพาะโครงการสัญญาที่ 2 โครงการเดียว จำนวน 1,851 หมู่บ้าน งบประมาณ 2,325 ล้านบาท แต่อีก 7 โครงการที่เหลือนั้นไม่กระทบยังคงเป็นไปตามเดิมคือ ประกาศผู้ชนะการประมูลวันที่ 12 ต.ค. และสามารถลงนามในสัญญาได้ประมาณต้นเดือน พ.ย.นี้ และจะสามารถเปิดใช้งาน Wi-Fi ฟรี ในหมู่บ้านทั้งหมดประมาณเดือน พ.ค.2562

สำหรับโครงการนี้ กสทช.รับผิดชอบ จำนวน 15,723 หมู่บ้าน ราคากลางอยู่ที่ 19,674.78 ล้านบาท แบ่งเป็น 8 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 ภาคเหนือ 1 มีจำนวน 2,289 หมู่บ้าน งบประมาณ 2,356 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ภาคเหนือ 2 จำนวน 1,851 หมู่บ้าน งบประมาณ 2,325 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จำนวน 1,950 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,741 ล้านบาท สัญญาที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จำนวน 2,124 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,297 ล้านบาท สัญญาที่ 5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จำนวน 2,099 หมู่บ้าน งบประมาณ 2,650 ล้านบาท

สัญญาที่ 6 ภาคกลาง 1 จำนวน 1,921 หมู่บ้าน งบประมาณ 2,296 ล้านบาท สัญญาที่ 7 ภาคกลาง 2 จำนวน 1,917 หมู่บ้าน งบประมาณ 2,521 ล้านบาท และสัญญาที่ 8 ภาคใต้ จำนวน 1,581 หมู่บ้าน งบประมาณ 2,485 ล้านบาท

เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการจะได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยจะมีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi หมู่บ้าน จำนวน 15,584 จุดบริการ มีอาคารศูนย์ USO NET ในโรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และจุดบริการ Wi-Fi พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ 228 โรงเรียน มีห้อง USO NET ในโรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และจุดบริการ Wi-Fi พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ 1,623 โรงเรียน มีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi โรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 3,170 โรงเรียน รวมโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่จะได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 5,021 แห่ง และมีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล (รพ.สต.) จำนวน 91 แห่ง

โดยทั้งหมดนี้ สำนักงาน กสทช. จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้บริการ และบำรุงรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะมีแพกเกจอินเทอร์เน็ตบ้านที่ราคาถูกกว่าราคาตลาดให้แก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการได้ใช้งาน โดยแพกเกจปกติความเร็ว 30/10 Mbps ราคาต้องไม่เกิน 349 บาทต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

***เปรียบเทียบฟรีไวไฟเน็ตประชารัฐ เงินหล่นใส่ใคร!?!

สำหรับโครงการที่ กสทช.รับมาทำนั้น เป็นโครงการเน็ตประชารัฐในพื้นที่โซนซี ซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรก จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี เป็นผู้รับผิดชอบ มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบโครงการภายใต้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท แต่ทีโอทีดูแลบำรุงรักษาให้แค่ 6 เดือน หลังจากนั้นใช้งานไม่ได้เกิดปัญหาในตอนนี้

รวมทั้งใช้งบประมาณของกระทรวงดีอี โดยกระทรวงดีอีเพิ่งขอขยายการเบิกจ่ายงบประมาณจากเดิมที่หมดวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา อีก 1,071 ล้านบาท ไปจนถึงเดือน ธ.ค. จากนั้นในปี 2562-2566 กสทช.จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณต่อ ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการมาประชาชนมักร้องเรียนถึงการใช้งานไม่ได้จนเข้าหูถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดความสับสนว่าพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้งานได้นั้นเป็นความรับผิดชอบของใคร

ทั้งๆ ที่โครงการที่ กสทช.รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นโครงการเน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน และเน็ตโซนซี 15,723 หมู่บ้าน นั้น กสทช.ยังไม่ได้เปิดให้บริการแต่อย่างใด จนทำให้กระทรวงดีอีต้องตั้งศูนย์เน็ตเวิร์ก โอเปอเรชัน เซ็นเตอร์ เพื่อรับแจ้งเหตุขัดข้องผ่านเบอร์ 1111 ต่อ 88 และมีระบบแอปพลิเคชันเพื่อรายงานผลขัดข้องแบบเรียลไทม์ให้ทราบถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่และเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ขณะที่โครงการเฟส 2 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ กสทช.ช่วยกระทรวงดีอีทำ เพราะเห็นท่าไม่ดีจากความกระท่อนกระแท่นในการทำเฟสแรก แต่กระทรวงดีอีก็มีความพยายามจะขอ ครม.กลับมาทำเอง จนแล้วจนรอด สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ เพราะทีโอทีเองก็ยังมีปัญหาที่ยังไม่สามารถส่งมอบงานโครงการเน็ตชายขอบของ กสทช.ได้ทันตามเงื่อนไข และอาจถูกปรับเงินทะลุกว่า 300 ล้านบาทแล้ว

ทำให้ กสทช.ต้องเริ่มโครงการต่อไปเพราะมติ ครม.เดิมคือ ให้ กสทช.ทำ แม้ว่าราคากลางของ กสทช.ดูสูงกว่าคือ 19,674.78 ล้านบาท จำนวน 15,723 หมู่บ้าน แต่โครงการของ กสทช.เมื่อมีการประกวดราคาแล้วต้องได้ราคาที่ต่ำกว่าราคากลางอยู่แล้ว และผู้ชนะประมูลนอกจากต้องมีไวไฟ แล้ว ยังต้องสร้างอาคารศูนย์ USO NET อีกด้วย ซึ่งต่างจากโครงการของทีโอทีที่ไม่ต้องสร้างเพราะกระทรวงดีอีมีศูนย์ดิจิทัลชุมชนอยู่แล้ว

ที่สำคัญถือเป็นคุณกับประเทศชาติ และหากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมองเห็นข้อเท็จจริงมากกว่าคำแก้ตัว การที่เน็ตประชารัฐในพื้นที่โซนซี แบ่งเป็น 2 เฟสแล้วคนรับผิดชอบต่างกัน ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบได้ชัดเจนถึงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความคุ้มค่าของงบประมาณ รวมทั้งความโปร่งใสในการดำเนินการ

เพราะหากให้รายเดิมทำ มีความเป็นไปได้สูงที่ขยะจะถูกซุกใต้พรมไม่ถูกรื้อกระจายมาส่งกลิ่นเหม็นให้คละคลุ้งกระทรวงดีอี

เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะการให้บริการฟรีไวไฟ ของโครงการกระทรวงดีอี จำนวน 24,700 หมู่บ้าน และฟรีไวไฟ 24,700 จุด ใช้เงินดำเนินการด้วยฝีมือทีโอที 13,000 ล้านบาท คิดเป็นต่อจุดติดตั้งฟรีไวไฟ ใช้เงิน 526,315.79 บาท พร้อมการดูแลบำรุงรักษาให้ใช้งานได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น หากพ้นกำหนด 6 เดือนก็แล้วแต่ชะตากรรม

ในขณะที่เน็ตโซนซีที่จะได้ผู้ชนะการประมูลในวันที่ 12 ต.ค.ของ กสทช. คิดเฉพาะจุดติดตั้งฟรีไวไฟทั้งหมด 15,723 จุด ใช้เงินประมาณ 6,840 ล้านบาท (อาจน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับผู้ประมูล) หรือคิดต่อจุดติดตั้งประมาณ 435,031 บาท พร้อมการดูแลบำรุงรักษาให้ใช้งานได้เป็นเวลา 5 ปี หรือ 60 เดือน ซึ่งหากเอาเวลาบำรุงรักษา 5 ปี มาหารจุดติดตั้งก็จะเหลือเพียงไวไฟฟรีจุดละ 87,011 บาทเท่านั้น

'ลองเปรียบเทียบดูจะเห็นว่ากระทรวงดีอี ทำเงินตกหล่นมากแค่ไหน ทีโอที ทำฟรีไวไฟจุดละ 5 แสนบาท บำรุงรักษา 6 เดือน กสทช.ทำ 4 แสนบาท บำรุงรักษา 5 ปี คิดง่ายๆ ถ้าต้องบำรุงรักษา 5 ปีเท่ากับ กสทช. เม็ดเงินที่หายไป 4 ปีครึ่ง เข้ากระเป๋าใคร' แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมที่ร่วมประมูลงานภาครัฐสม่ำเสมอตั้งข้อสังเกตที่ไม่รู้จะมีใครกล้าให้คำตอบหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น