เปิดมุมมอง 4 องค์กรเอกชน ไมเนอร์กรุ๊ป เมืองไทยประกันชีวิต กสิกรไทย และเอไอเอส ปรับตัวอย่างไรเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ธุรกิจ ทุกรายยอมรับต้องเจอกับศัตรูที่มองไม่เห็น และภาพยังไม่ชัดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ทุกองค์กรต้องพร้อมเผชิญหน้า
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ระบุในการจัดสัมมนา AIS Academy for THAIs ที่รวมกับพันธมิตรเปิดมุมมองโลกดิจิทัลเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่คนไทยทุกคน
"แนวคิดในการเติบโตอย่างยั่งยืนของเอไอเอส คือ การร่วมแรงร่วมใจ แบ่งปันความรู้กับทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อที่จะเติบโตไปด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจในครั้งนี้ ที่เปิดกว้างให้คนไทยที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมรับฟังได้แบบไม่ปิดกั้น"
น.ส.กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส ให้มุมมองของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมากที่สุด เพราะการที่เอไอเอสเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทำให้ได้รับผลกระทบจากดิจิทัลแรงกว่าคนอื่น
"ช่วงแรกที่ดิจิทัลเริ่มเข้ามาส่งผลกระทบ ทุกคนมองหน้ากันแล้วไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน และจะเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลง (Change) แต่เป็นการก้าวข้าม (Transform) ที่สำคัญคือ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก"
เชื่อว่าทุกคนมีความกลัวในการทรานฟอร์ม แต่อย่ากลัวแบบวิตกจริต ให้กลัวแบบเตรียมความพร้อม และอย่าพยายามไปทำเหมือนใคร เพราะแต่ละบริษัทก็จะมีบริบทที่แตกต่างกัน เวลาเกิดแรงกระแทกก็จะมีโมเมนตัมที่แตกต่างกัน
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้แง่มุมถึงธุรกิจประกันชีวิต ที่ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องมองมุมกลับ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดกับเมืองไทยฯ รายเดียว แต่โดนเหมือนกันหมดทั่วโลก
"ประเด็นสำคัญคือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ทำให้คู่แข่งในเวลานี้เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่แข่งขันกันภายในธุรกิจประกันภัยเหมือนเดิมแล้ว ดังนั้น ความท้าทายที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือโอกาสที่จะก้าวผ่านไปให้ได้ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่าทำทันหรือไม่ทัน"
ขณะเดียวกัน ทุกองค์กรธุรกิจต้องหันมาประเมินแล้วว่า รูปแบบการทำธุรกิจเดิมจะสามารถเดินหน้าไปได้ขนาดไหน เพื่อให้อยู่ในช่วงกึ่งๆ ทรานฟอร์ม เพราะเชื่อว่าทุกองค์กรยังมองไม่เห็น New S Curve หรือโอกาสในการเติบโตว่าจะมาเมื่อไหร่
นางปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในไมเนอร์ คือ บริษัทต้องเปลี่ยนจากการให้บริการลูกค้า เพื่อดูถึงความพึงพอใจ กลายเป็นต้องเข้าไปดูว่าลูกค้าต้องการอะไร และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
"สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ กลายเป็นปลาเล็กเยอะเยะมากมายตอดปลาใหญ่ ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วที่ปลาใหญ่จะสามารถกินปลาเล็กได้ เนื่องจากคู่แข่งเปลี่ยนไป เกมการแข่งขันเปลี่ยนไป ส่งผลไปถึงบิสิเนสโมเดลที่ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย"
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมการเงิน และการธนาคาร ตอนนี้ภาพของธุรกิจเบลอแล้ว เพราะใครก็สามารถทำธุรกิจนี้ได้ จากการมาของเทคโนโลยี ทำให้เกิดคู่แข่งจากทั้งที่เป็นต่างชาติ และไม่ใช่ธนาคาร
"โจทย์ของกสิกรที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ทำอย่างไรให้อยู่กับลูกค้าตั้งแต่ตื่นเช้าถึงเข้านอน เพื่อเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าในธุรกิจการเงินในทุกก้าวของชีวิต ขณะเดียวกัน เมื่อทุกองค์กรมองไปที่ลูกค้า ธนาคารไม่ได้เก่งทุกเรื่อง จึงเน้นเข้าไปร่วมมือกับพันธมิตรที่จะมาช่วยตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่า"
***แข่งกับอดีต-ล้มแล้วลุกให้เร็ว
น.ส.กานติมา กล่าวต่อว่า การเตรียมความพร้อมที่เอไอเอสทำคือ การลืมตัวเอง อะไรที่เคยทำให้ประสบความสำเร็จ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมในอนาคต ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
"หลายองค์กรติดอยู่กับสิ่งที่เคยทำ สิ่งที่เคยเชื่อ วันนี้บริบทต่างไป สนามแข่งขันต่างไป แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ การแข่งกับตัวเอง แข่งกับความสำเร็จในอดีต ขณะเดียวกัน ก็ต้องระวังคู่แข่งที่ไม่รู้จักมาก่อน ส่วนคนก็อย่ามองเพียงแค่ทำได้เท่า AI แต่ต้องเข้าไปควบคุมจัดการให้ AI ทำงานแทนถึงจะอยู่รอดได้"
นางปัทมาวลัย เสริมว่า ในการเตรียมองค์กรให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลต้องอย่าลืมว่าการนำเทคโนโลยีมาช่วยก็ต้องการบุคลากรที่เข้าไปเสริมเพื่อให้เทคโนโลยีที่นำมาใช้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของพนักงาน และก่อให้เกิดรายได้เข้ามาด้วย
ผู้บริหารกสิกร มองว่า ในการทำธุรกิจเมื่อทุกรายให้ความสำคัญกับลูกค้าเหมือนกัน ก็ต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ให้ดีที่สุด เพราะทุกองค์กรจะได้เห็นพันธมิตรที่เป็นทั้งลูกค้า และบางมุมก็เป็นคู่แข่ง ส่วนในแง่ของการทำงาน ต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้คิด ได้ทำ เพราะเมื่อเกิดความล้มเหลว ต้องล้ม และลุกให้เร็ว ที่สำคัญคือ มีค่าใช้จ่ายจากการล้มให้น้อยที่สุด
นายสาระ ให้ข้อมูลเสริมว่า ในเมืองไทยฯ ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเมื่อเป็นองค์กรขนาดใหญ่การที่มีไอเดียเยอะ แต่ไม่ได้มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ต้องมีการจัดการภายในองค์กรที่จัดสรรทรัพยากรบุคคลไปโฟกัสในสิ่งที่ต้องทำ โดยเฉพาะการที่ระดับซีอีโอ ลงมานั่งทำกับทีม และกระจายงานไปด้วยกัน