xs
xsm
sm
md
lg

ความร่วมมือเพื่อชุมชนดิจิทัลอาเซียน : ซีซาร์ เซงกุปตา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดย ซีซาร์ เซงกุปตา GM, Next Billion Users and Payments

ผู้ประกอบการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้ดีว่าหากพวกเข้าต้องแข่งขันกับธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ เช่น จีนและอินเดีย พวกเขาต้องมองไปไกลกว่าตลาดในประเทศของตัวเอง โดยสัญชาตญาณแล้ว พวกเขาเข้าใจดีว่าหากต้องการให้ธุรกิจเติบโตก็ต้องขยายตลาดไปยังระดับภูมิภาค

ความสำเร็จของผู้ประกอบการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นอยู่กับการบูรณาการอย่างต่อเนื่องของภูมิภาค นับตั้งแต่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ สมาคมอาเซียน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2510 สมาชิกอาเซียนได้พยายามอย่างหนักเพื่อลดภาษีศุลกากรและปรับปรุงการเชื่อมโยงในภูมิภาค ความพยายามเหล่านี้ทำให้อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกในปัจจุบัน

“เพื่อที่จะรักษาตำแหน่งเขตเศรษฐกิจชั้นนำของโลก อาเซียนจะต้องใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตกำลังสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีราคาที่ถูกลง และเกิดไอเดียใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น”

หากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้คลื่นพลังแห่งเทคโนโลยีนี้และสมาชิกในภูมิภาคร่วมมือกัน ก็จะนำมาซึ่งโอกาสสำหรับ SMEs และเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จากผลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยบริษัทที่ปรึกษาการจัดการธุรกิจ Bain & Company การบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลของอาเซียนสามารถช่วยกระตุ้นให้จีดีพีของภูมิภาคเติบโตขึ้น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2568

ปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 7% ของ GDP ของภูมิภาค เมื่อเทียบกับจีน (16% ของ GDP) กลุ่มประเทศยุโรป EU-5 (27% ของ GDP) และสหรัฐอเมริกา (35% ของ GDP) นี่เป็นโอกาสครั้งใหญ่ในยุคดิจิทัลสำหรับอาเซียน ธุรกิจท้องถิ่นและ SMEs อาจขาดหนทางในการขยายธุรกิจ


แต่หากมีการร่วมมือกันในระดับภูมิภาค พวกเขาก็จะสามารถเข้าถึงตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 และประชากรเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 50% ของ GDP ของภูมิภาค และทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 80% ในตลาดแรงงานของภูมิภาคนี้ ธุรกิจ SMEsจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเติบโตหากต้องการให้เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเป็นประโยชน์ต่อทุกคน

ทั้งนี้ มี 3 มาตรการที่เป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อคโอกาสสำหรับ SMEs ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาตรการแรกคือการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูล (free flow of data) การไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลระหว่างประเทศต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสนับสนุนการค้าแบบดิจิทัล

พร้อมไปกับการผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในระดับภูมิภาคสำหรับธุรกิจ มาตราการที่สองคือระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่เป็นแบบเปิดและสามารถทำงานร่วมกันได้ เครือข่ายระบบการชำระเงินระดับประเทศที่เชื่อมต่อกันจะช่วยให้ผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างไร้พรมแดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการดำเนินธุรกิจ

มาตรการสุดท้ายคือกฎระเบียบระดับชาติเกี่ยวกับการค้าข้ามพรมแดนที่มีใจความที่กระชับและมีความกลมกลืนจะช่วยให้บริษัทต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถทำการค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศได้และใช้เวลาน้อยลงในการศึกษากฎหมายที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องสนับสนุนรัฐบาลในการสร้างชุมชนดิจิทัลแบบบูรณาการมากขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทต่างๆ ก็มีความรับผิดชอบในการลงทุนในชุมชนที่ดำเนินการอยู่ ที่ Google เชื่อว่า SMEs เป็นกระดูกสันหลังของชุมชนท้องถิ่นและเป็นอนาคตของเศรษฐกิจ

หาก SMEs ในอาเซียนดำเนินธุรกิจไปได้สวย ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในภูมิภาคก็จะได้รับการยกระดับด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ Google จึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน SMEs ในอาเซียน เราตั้งเป้าจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลให้กับผู้ที่ทำงานในธุรกิจSMEsจำนวน 3 ล้านคนในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563

เมื่อเดือนที่แล้วที่สิงคโปร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้จัดทำกรอบการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะช่วยให้ SMEs ของอาเซียนสามารถกระตุ้นการเติบโตของ GDP ให้เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี พ.ศ. 2568 ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมมือกันเพื่ออนาคตที่สดใสในยุคดิจิทัลสำหรับทุกคนในอาเซียน


กำลังโหลดความคิดเห็น