xs
xsm
sm
md
lg

ส่องโมเดลการควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจ กสท-ทีโอที (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี
ในที่สุดความพยายามของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่คัดค้านการตั้ง2บริษัทลูกคือ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ก็เป็นผลเมื่อปลัดหญิงแห่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) อย่าง 'อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย' ตั้งคณะทำงานขึ้นมาให้ทั้งสองบริษัทหาทางออกร่วมกันหากไม่อยากเดินตามโมเดลตั้งบริษัทลูก ทำให้สิ่งที่หลายคนอยากให้เกิดคือการควบรวมของทั้งสองรัฐวิสาหกิจ อย่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที จึงเกิดขึ้น ภายใต้ชื่อ 'บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ'

***ควบทันทีตามกฎหมายควบรวม

ทั้งสองบริษัทต่างเสนอโมเดลการควบรวมที่แตกต่างกันออกไป โดยทีโอที เสนอให้ออก พ.ร.บ.การจัดตั้ง บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล กสท และ ทีโอที ไม่ให้ลงทุนซ้ำซ้อนจากนั้นภายในปี 2562-2568จึงค่อยๆ ตั้งหน่วยธุรกิจ และท้ายที่สุดในปี 2568จึงค่อยโอนทรัพย์สินทั้งหมดของ กสทและทีโอที ไปเป็นของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ

เนื่องจากโมเดลนี้ทีโอทีเห็นว่าจะไม่กระทบต่อ2ประเด็นคือ สิทธิการใช้คลื่นความถี่ เพราะตามมาตรา46แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553ที่กำหนดว่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อกิจการโทรคมนาคมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต จะโอนแก่กันมิได้ หากมีการควบรวมกิจการจะมีความเสี่ยงที่ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของ กสท และทีโอทีสิ้นสุดลงและต้องคืนให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือไม่

อีกประเด็นคือ การกระทบต่อคดี Access Chargeที่ทีโอทีฟ้องกสทและบริษัทเอกชนภายใต้สัญญาสัมปทานของ กสทกว่า3แสนล้านบาท เมื่อมีการควบรวมกันจะทำให้เอกชนหลุดพ้นจากความรับผิด เช่นเดียวกับ กสทได้ หรือจะมีความเสี่ยงหรือไม่ที่เอกชนจะหยิบยกเรื่องการควบรวมจนหมดสภาพความเป็นนิติบุคคล มาเป็นข้อต่อสู้ในคดีความได้หรือไม่

ทว่าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ มีความเห็นว่า โมเดลที่ทีโอทีเสนอนั้น เป็นการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกบริษัท และการโอนทรัพย์สินในอนาคตก็จะมีปัญหาเรื่องการประเมินทรัพย์สินและการโอนทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก

ดังนั้นโมเดลที่ กสท เสนอจึงเป็นโมเดลที่ทำได้ง่ายและทำได้ทันที โดย กสท เสนอให้ จัดตั้งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติทันทีภายในปีนี้ตาม พ.ร.บ.บริษัท มหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยระยะแรกอาจให้ กสท และ ทีโอที เป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความราบรื่น เพื่อศึกษาในประเด็นด้านการเงิน , กฎหมายและคดีความ ,โครงสร้างบุคลากร
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท
หลังจากนั้นในปี 2562-2564บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จะทำการจัดตั้งหน่วยธุรกิจและ/หรือบริษัทลูกตามความเหมาะสม โดยเริ่มจากธุรกิจที่มีความชัดเจนคือโมบายล์ ไปพร้อมๆกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาคุณภาพต่างๆโดยอิงตามพื้นฐานและทรัพยากรต่างๆที่ กสทและทีโอทีมี และตั้งแต่ปี 2565บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จะทำการSynergyทรัพยากรต่างๆ และปรับกระบวนการไปพร้อมๆกันกับการตั้งหน่วยธุรกิจและ/หรือบริษัทลูกเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องที่ทีโอทีกังวลกระทรวงดีอีจะเป็นผู้ทำหน้าที่หาคำตอบให้

***ควบรวมเพื่อห้ามเลือดในเบื้องต้น

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า แม้ว่าตอนนี้ทั้งสองบริษัทยังมีกำไรอยู่ แต่ในระยะยาวเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2568จะทำอย่างไร ตอนนี้ทั้งสององค์กรกำลังเลือดไหล การควบรวมตอนนี้ถือเป็นการห้ามเลือดไม่ให้เราเลือดไหลจนหมดตัวและตายไปในที่สุด สิ่งที่ทีโอทีกังวล กสท ก็ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่าไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องคดีความแม้จะควบรวมไปแล้วคดีก็ยังคงสามารถดำเนินการไปตามเดิม

สำหรับเรื่องสิทธิการใช้คลื่นความถี่ ในเมื่อได้สิทธิมาแล้วสิทธินั้นก็ต้องตามองค์กรไปด้วยแม้จะมีการควบรวมกิจการก็ตาม ซึ่งประเด็นแรก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต้องสอบถามอัยการสูงสุดหรือสำนักงานกฤษฎีกา ส่วนประเด็นหลังกระทรวงดีอีต้องสอบถามไปทางกสทช. ซึ่งเรื่องนี้จริงๆแล้วทีโอทีเขาอยากให้ประกาศเป็น ม.44เพื่อความมั่นใจว่าเขาจะไม่ถูกดำเนินความผิดย้อนหลังว่าทำให้รัฐเสียหายซึ่งก็ต้องอยู่ที่รัฐบาล

***ควบรวมต้องเสร็จภายใน1ก.พ.2562

สำหรับกรอบเวลาในการควบรวมกิจการนั้น หลังจากสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาครั้งสุดท้ายจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ในวันที่ 29ส.ค.แล้ว จึงเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันที่ 12ก.ย.เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนควบรวม ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับรองแผนการควบรวม

จากนั้นเมื่อครม.เห็นชอบแผนการควบรวมองค์กรและแผนการเปลี่ยนผ่าน จะต้องมีคณะทำงานฯและการจัดจ้างที่ปรึกษา ที่กระทรวงดีอี หรือ สคร.เป็นผู้จัดจ้าง ต้องมีการตั้งคณะกรรมการควบรวมและคณะทำงานเปลี่ยนผ่าน ได้แก่ คณะทำงานเรื่องการเงินและแผนธุรกิจและคณะทำงานเรื่องของโครงสร้างและบุคลากร โดยกระบวนการควบรวมจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 1ก.พ.ปีหน้า

***เร่งทำความเข้าใจพนักงานทั้งสองฝ่าย

แม้ว่าแนวทางนี้จะเป็นแนวทางที่ทั้งผู้บริหารและพนักงานต่างเห็นพ้องต้องกัน และ เห็นว่าดีกว่าการแตกเป็นบริษัทลูก แต่ผู้บริหารทั้งสองบริษัทก็ต้องทำความเข้าใจกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประธานคณะกรรมการทีโอที 'พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์' ก็ได้ลงมาชี้แจงต่อพนักงาน เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เช่นกันโดยเขากล่าวว่า การควบรวมครั้งนี้จะไม่กระทบต่อจำนวนพนักงานและสวัสดิการที่เคยได้ ส่วนข้อกังวลที่ทีโอทีกังวลนั้นหากรัฐบาลหาคำตอบให้ได้ ทีโอทีก็ไม่ขัดข้องที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน
พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ประธานบอร์ดทีโอที
ความหวังในการควบรวมกิจการครั้งนี้น่าจะมาถูกที่ ถูกเวลาที่สุดแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดควบรวมมาก่อน แต่ก็ทำไม่ได้เสียที เพราะต่างคนต่างอยู่สุขสบาย เป็นเสือนอนกินจากส่วนแบ่งรายได้สัญญาสัมปทาน แต่ครั้งนี้ถือว่าเข้าตาจนหากไม่หนีตายด้วยการควบรวมก็อาจจะต้องใช้โมเดลผุดบริษัทลูกซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ถูกใจพนักงานจำนวนมาก และดูไม่น่าไว้ใจเรื่องการถูกฮุบในอนาคต ดังนั้นการพร้อมใจของทุกฝ่ายในครั้งนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างมากของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น