xs
xsm
sm
md
lg

Ericsson เปิดตัว Spectrum Sharing ให้เครือข่าย 5G ทำงานบนเสา 4G ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อีริคสัน (Ericsson) เปิดตัวโซลูชัน 5G ใหม่ล่าสุดทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในประเทศไทย หนุนโอเปอเรเตอร์เปิดใช้สัญญาณ 5G ได้เร็วขึ้นด้วยการแบ่งปันคลื่นความถี่ให้เครือข่ายสามารถรองรับระบบ 4G และ 5G ภายในคลื่นความถี่เดียวกัน ยืนยันการผสมคลื่นความถี่ทั้งต่ำ กลาง และสูง จะไม่กระทบกับความเร็วที่กังวลกันว่าอาจต่ำกว่ามาตรฐาน 5G เพราะแต่ละย่านจะให้ผลต่างไปตามการใช้งานอยู่แล้ว

นาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิดตัวโซลูชัน 5G ใหม่นี้ เกิดขึ้นเพื่อให้โอเปอเรเตอร์สามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้บริโภคยังมีอุปกรณ์ 5G ไม่ครบทุกคน โซลูชันนี้จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์เตรียมตัวเปลี่ยนผ่านจาก 4G สู่ 5G ได้ดีขึ้น

“ความท้าทายเรื่อง 5G ของโอเปอเรเตอร์ไทย คือ การเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่โดยที่ยังต้องควบคุมต้นทุน ยังมีเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก” นาดีน ระบุว่า การสำรวจล่าสุดประเมินว่า ปริมาณทราฟฟิกรับส่งข้อมูลระหว่างปี 2017-2023 จะเติบโตมากขึ้น 8 เท่าตัว และภายในปี 2023 จะมีทราฟฟิก 5G มากกว่าทราฟฟิกข้อมูลปี 2017 ถึง 1.5 เท่าตัว

เทรนด์ข้อมูลมหาศาลนี้ทำให้อีริคสัน เชื่อว่าจะมีแรงส่งให้โอเปอเรเตอร์ลงทุน 5G ไม่เพียงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นแต่ 5G ยังเป็นวิสัยทัศน์สำคัญให้นโยบายประเทศไทย 4.0 เกิดได้จริง โดยปัจจุบัน อีริคสัน ระบุว่า พนักงานทั้งหมด 11,000 คน ล้วนทำงานบนระบบ 5G ทั้งสิ้น

ในช่วงก่อนปี 2020 ที่อีริคสัน เชื่อว่าจะเห็นบริการ 5G เป็นรูปเป็นร่างในไทย หรือปี 2020-2023 ที่จะได้เห็นการใช้งาน 5G อย่างจริงจัง อีริคสัน จึงเปิดตัวซอฟต์แวร์สเปกตรัมแชร์ริง (Spectrum Sharing) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเสารสัญญาณ 4G ให้กลายเป็นไฮบริด 4G/5G ได้ โดยที่โอเปอเรเตอร์ไม่ต้องแบ่งพื้นที่บนคลื่นความถี่ไว้ให้สำหรับระบบ 5G

วุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายเน็ตเวิร์คโซลูชัน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่าการต้องตัดคลื่นมาให้บริการ 5G จะทำให้คลื่นเพื่อให้บริการ 4G น้อยลง อาจส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพของระบบ 4G ลดลง แต่การแบ่งปันสเปกตรัมจะช่วยให้ฮาร์ดแวร์ 4G และ 5G ของอีริคสันสามารถทำงานร่วมกันได้ราบรื่น ทำให้โอเปอเรเตอร์ไม่ต้องทุ่มเทให้กับมาตรฐานเดียว

“โอเปอเรเตอร์จะเปลี่ยนความถี่ที่มีอยู่ให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ด้วย Spectrum Sharing ทำให้เกิด 5G ได้บนระบบเดียวกันโดยที่ยังมี 4G ได้ ลูกค้าที่มีอุปกรณ์รองรับ 5G ก็จะใช้งานได้ทันที”

นอกจาก Spectrum Sharing อีริคสัน ยังเปิดตัวสตรีทมาโคร (Street Macro) อุปกรณ์กระจายสัญญาณ 5G ที่สามารถติดได้บนเสาไฟฟ้าริมทาง ยังมีระบบ RAN compute อุปกรณ์จับคู่สำหรับโครงสร้างเครือข่ายวิทยุที่ช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถส่งสัญญาณ ควบคุมสัญญาณวิทยุ หรือการปรับแต่งอื่นเพื่อให้รองรับ 5G เต็มขั้น รวมถึงระบบสายส่งสัญญาณที่อีริคสัน ยืนยันว่าได้ร่วมมือกับจูนิเปอร์ (Juniper) ทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถควบคุมระบบข้ามค่ายได้แบบไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ตาม วุฒิชัย ยอมรับว่า การผสมหลายคลื่นจะมีผลต่อความเร็วที่ได้ ซึ่งทุกอย่างยังต้องดูที่การใช้งาน เช่น ย่านคลื่นความถี่ต่ำจะเหมาะกับอุปกรณ์ IoT ที่ใช้ในปัจจุบัน หรือระบบรายงานการใช้ไฟฟ้า ย่านกลางเหมาะกับผู้ใช้ทั่วไปที่ต้องการดาวน์โหลดไฟล์ และย่านสูง ช่องสัญญาณใหญ่จะเหมาะกับการรับส่งข้อมูลศูนย์ควบคุมในโรงงาน ทั้งหมดนี้ถือเป็นรูปแบบการใช้งาน 5G ที่ต่างกันไปโดยไม่ยึดติดกับมาตรฐานความเร็ว 5G

เบื้องต้น นาดีน มั่นใจว่า ธุรกิจไทยจะมีการนำ 5G มาใช้พัฒนาธุรกิจจริงจัง เพียงแต่ยังต้องรอดูว่า คลื่นที่จะใช้ 5G ในไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน สำหรับการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะแรงกดดันจากผู้ผลิตจีน นาดีน ย้ำว่าไม่กังวล เพราะอีริคสันเป็นผู้นำตลาดอยู่แล้ว

“อีริคสัน เป็นผู้นำด้านมาตรฐาน ถือสัญญา 5G มากที่สุดในตลาด เราโฟกัสในสิ่งที่ทำได้ เราจะนำเอาบทเรียนมาเรียนรู้ในประเทศไทย” นาดีน ทิ้งท้ายโดยบอกว่าอีริคสันได้เซ็น 5G MOU กับผู้ให้บริการไปแล้ว 40 รายทั่วโลก เริ่มให้บริการเขิงพาณิชย์แล้วใน 3 ประเทศ คือ T mobile, Sprint, Verizon ในสหรัฐอเมริกา, Vodafone ในอังกฤษ และ Swisscom ในสวิตเซอร์แลนด์



กำลังโหลดความคิดเห็น