บอร์ด กสทช. ยื้อเคาะมาตรการเยียวยาคลื่นให้ดีแทค เหตุข้อมูลลูกค้าที่เหลือยังไม่ชัด สั่งสำนักงานฯ ทำข้อมูลอัปเดต รวมถึงแผนการประมูลคลื่น 900/1800 MHz เสนอที่ประชุม 12 ก.ย. ฝันเร่งประมูลเต็มสปีดภายในเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่ดีแทคส่งหนังสือแจงสื่อมวลชนเสียใจต่อการตัดสินใจของ กสทช.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้ลงมติในการใช้มาตรการเยียวยากับลูกค้าของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ตามที่ดีแทคส่งหนังสือขอทบทวนในการใช้มาตรการเยียวยากับลูกค้าดีแทคคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา
โดยดีแทค แจ้งว่า ดีแทคสนใจคลื่น 900 MHz แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการทำระบบสัญญาณป้องกันการรบกวนที่ต้องให้ผู้ชนะประมูลเป็นผู้สร้างเอง โดยลูกค้าที่อยู่ในระบบของดีแทคล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2561 มีจำนวน 3.46 แสนเลขหมาย ลูกค้า 1800 MHz แบ่งเป็นลูกค้ารายบุคคล 1.6 แสนเลขหมาย ลูกค้าองค์กร 1.7 แสนเลขหมาย และเป็นลูกค้าคลื่น 850 MHz จำนวน 9.5 หมื่นเลขหมาย ที่เหลือแยกไม่ได้
ดังนั้น ที่ประชุมจึงต้องการให้สำนักงาน กสทช. ทำข้อมูลล่าสุดของลูกค้าดีแทคที่เหลือมาให้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อเสนอในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 12 ก.ย. รวมถึงการทำแผนการประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz และคลื่น 1800 MHz ที่เหลืออีก 7 ใบอนุญาต
แนวทางเบื้องต้น คือ ต้องมีการขยายงวดการชำระเงินของทั้ง 2 คลื่น แต่เรื่องการลดราคาคงทำไม่ได้ คาดว่าสำนักงานจะสรุปเรื่องทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในวันที่ 7 ก.ย. เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการเยียวยาของดีแทคว่าจะสามารถเยียวยาให้ได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการประมูลสำนักงานจะเร่งให้มีการประมูลภายในเดือน ต.ค.นี้
นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบเกณฑ์และผลการพิจารณาตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามที่คณะทำงานตรวจสอบฯ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงาน กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม
ในกรณีบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ต้องนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ (16 ก.ย.2556 ถึงวันที่ 3 ธ.ค.2558) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,381,958,336.14 บาท
ก่อนหน้านี้ กทค. ได้เคยมีคำสั่งตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 17/2558 ให้บริษัทฯ นำส่งรายได้ช่วงที่ 1 (16 ก.ย.2556-17 ก.ค.2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 1,069,983,638.11 บาท ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ จะต้องนำส่งเงินรายได้เพิ่มเติมเป็นจำนวน 2,311,974,698.03 บาท พร้อมนำส่งดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
ส่วนกรณีบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ต้องนำส่งเงินรายได้ ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ (16 ก.ย.2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย.2558) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 869,512,486.51 บาท โดยที่ กทค. ได้เคยมีคำสั่งตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 17/2558 ให้บริษัทฯ นำส่งรายได้ช่วงที่ 1 (16 ก.ย.2556-17 ก.ค.2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 627,636,136.84 บาท ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ จะต้องนำส่งเงินรายได้เพิ่มเติมเป็นจำนวน 241,876,349.67 บาท พร้อมนำส่งดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้น มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
สำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่เกิดจากการใช้โครงข่ายในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศมาตรการคุ้มครองฯ พ.ศ.2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz เป็นจำนวนเงิน 2,300,772.59 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (ตั้งแต่ 16 ก.ย.2556 ถึงวันที่ 3 ธ.ค.2558) เป็นจำนวนเงิน 1,875,043.24 บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (ตั้งแต่ 16 ก.ย.2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย.2558 เป็นเงินจำนวน 425,729.35 บาท)
ทั้งนี้ กทค.ได้เคยมีมติในการประชุมครั้งที่ 17/2558 และมติในการประชุมครั้งที่ 23/2558 เห็นชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ 1 (16 ก.ย.2556-17 ก.ค.2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 788,960.13 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เป็นเงินจำนวน 594,352.99 บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด เป็นเงินจำนวน 194,634.14 บาท ดังนั้น จึงเห็นชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมเป็นจำนวน 1,511,812.46 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เป็นเงินจำนวน 1,280,717.25 บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด เป็นเงินจำนวน 231,095.21 บาท
***ดีแทค ผิดหวัง กสทช. ยังไม่ตัดสินใจเยียวยา
ด้าน นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค กล่าวว่า คลื่น 850 MHz เป็นคลื่นที่มีความสำคัญต่อผู้ใช้งานพื้นที่ชนบท หรือผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น คลื่นนี้จึงมีความสำคัญต่อการคุ้มครองให้ใช้บริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานได้รับผลกระทบจนกว่าคลื่นความถี่จะถูกนำไปใช้งานด้วยการจัดสรรให้ผู้ประกอบการรายใหม่
“การดูแลผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ใช้งานต่อเนื่องถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กสทช.ที่จะคุ้มครองลูกค้าร่วมกับดีแทค และที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายอื่นล้วนได้รับความคุ้มครองจาก กสทช.ทั้งสิ้น”
ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. ได้มีระบุมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม จากการที่คลื่นความถี่ที่ถือครองกำลังจะสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อให้ผู้ใช้งานที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม ซิมไม่ดับและมั่นใจในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
การนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ ไม่เพียงแต่ทำให้ลูกค้าดีแทคได้รับผลกระทบเท่านั้น ยังส่งผลถึงการสร้างรายได้ให้แก่รัฐในการจัดการคลื่นความถี่ช่วงคุ้มครองชั่วคราวอีกด้วย ซึ่งดีแทคกำลังดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบจากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่