หลังจากแอปเปิล (Apple) เริ่มให้บริการแพลตฟอร์มในการฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิ่ง แอปเปิล มิวสิค (Apple Music) มานานกว่า 3 ปี สถิติล่าสุดที่มีการเก็บข้อมูลคือมีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนจากทั่วโลก เข้ามาใช้งานคลังเพลงที่มีให้เลือกฟังกว่า 45 ล้านเพลง
ในมุมของผู้บริโภค อาจมองว่าบริการอย่าง Apple Music ถือเป็นช่องทางในการเข้าถึงเพลงจากศิลปินทั่วโลกได้สะดวกขึ้น ที่สำคัญคือมีการเลือกเพลงที่น่าสนใจมาให้ฟัง เสมือนมีดีเจคอยคัดสรรเพลงมาให้เลือกฟัง
โดยในการคัดเลือกเพลง Apple Music จะมีทั้งการนำระบบ AI มาใช้งาน เพื่อวิเคราะห์ถึงประเภทเพลงที่เปิดฟัง ก่อนนำเสนอเพลงที่มีความใกล้เคียงกันออกมา กับอีกรูปแบบคือการใช้มนุษย์ หรือพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ คัดเลือกเพลงออกมานำเสนอ พร้อมกับพัฒนาบริการใหม่ๆออกมาต่อเนื่อง
กลับกันในมุมของศิลปิน-นักแต่งเพลง การมาของแพลตฟอร์มฟังเพลงสตรีมมิ่ง เหมือนเป็นการเปิดโลกกว้างให้แก่ศิลปินในการค้นหาแรงบันดาลใจ รวมถึงช่วยให้เข้าใจศิลปินที่ชื่นชอบในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
4 มุมมองจาก 4 ศิลปิน
3 สมาชิกจาก โพลีแคท (Polycat) นะ รัตน จันทร์ประสิทธิ์ เพียว วาตานาเบะ และ โต้ง พลากร กันจินะ ให้มุมมองที่น่าสนใจถึงบริการอย่าง Apple Music ว่าช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการฟังเพลงมากขึ้น และในอีกมุมก็ช่วยให้ศิลปินทำเพลงได้ง่ายขึ้น เพราะมีแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“ไม่ใช่แค่คนฟังเท่านั้นที่ต้องการฟังเพลง เพราะคนทำเพลงก็ฟังเพลงด้วยเหมือนกัน พอฟังได้ง่าย ก็จะเกิดการคิดแนวเพลงใหม่ที่เร็ว และง่ายขึ้น อย่างการทำเพลยลิสต์ใน Apple Music มาแชร์กันฟังภายในวง เพื่อให้สมาชิกเห็นถึงแนวทางเพลงที่ต้องการทำให้ชัดเจนมากขึ้น”
ขณะเดียวกัน ด้วยการที่ Apple Music มีระบบแนะนำเพลง (Suggestions list) มาให้ ก็ช่วยเปิดกว้างให้เข้าถึงศิลปิน และวงที่เป็นแรงบันดาลใจได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อฟังมากขึ้น ก็จะช่วยให้ทำเพลงแบบลงรายละเอียดได้มากขึ้นด้ว
ถัดมา วี วีโอแลต วอเทียร์ มองว่า การมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงออกมาให้บริการ ก็ช่วยตอบโจทย์การใช้งานของคนรุ่นใหม่ ที่ชอบค้นหา เลือกเพลงที่ต้องการฟัง รวมถึงการที่เปิดให้สร้างเพลยลิสต์ไว้ฟัง และแชร์ให้เพื่อนๆ ก็ช่วยให้คนใช้สนุกกับการฟังเพลงมากขึ้น
ส่วนในมุมของการเป็นศิลปิน ที่เคยมีประสบการณ์ทั้งอยู่ในค่ายเพลง ก่อนออกมาเป็นศิลปินอิสระ เพื่อเดินตามแนวทางของตัวเอง Apple Music ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ศิลปินเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังใหม่ๆ ได้จากทั่วโลก ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศอีกต่อไป
สำหรับ เอิ๊ต ภัทรวี ศรีสันติสุข ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจถึงแนวทางในการเลือกฟังเพลงว่า การเลือกฟังเพลงในแนวใดก็จะสะท้อนตัวตนของคุณออกมา ซึ่งการใช้งาน Apple Music เปรียบเหมือนการใช้งานโซเชียลมีเดียอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะช่วยให้เข้าใจถึงศิลปิน และงานเพลงได้มากขึ้น
“จุดที่ชื่นชอบมากที่สุดใน Apple Music คือเรื่องการนำเสนอรายละเอียดของศิลปิน ที่ช่วยอธิบายความเป็นมา หรือการใส่ใจในรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และใช้มานำเสนอในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญคือช่วยเปิดโอกาสให้ใครๆก็สามารถทำเพลง ทำอัลบั้มให้คนอื่นฟังได้”
ส่วนในทัศนะของดี เจอราร์ด หรือ อุกฤษ วิลลีญ์ บรอด ดอนกาเบรียล ศิลปินที่แจ้งเกิดจากรายการ The X Facter Thailand เปิดมุมมองว่า Apple Musiv ช่วยให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ ความคิด และเรื่องราวต่างๆของศิลปินจากทั่วโลก
“ตอนนี้ศิลปินทุกคนบนโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งกลายเป็นการก้าวไปสู่โลกที่ใหญ่มากๆ มีทุกคนกำลังทำสิ่งเดียวกันอยู่คือ ฟังเพลง และทำเพลง ที่สำคัญคือสามารถเป็นตัวของตัวเอง ในการทำซาวน์ให้คนทั่วโลกได้ฟัง”
จะเห็นได้ว่าการมาของ Apple Music ไม่ได้เป็นแค่เพียงแพลตฟอร์มในการฟังเพลงของผู้ใช้อย่างเดียว แต่กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ศิลปินค้นหาแรงบันดาลใจ และเปิดโลกกว้างให้แก่ศิลปินในการทำเพลงให้ทุกคนบนโลกได้ฟังด้วย