xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเปิดเสรีดาวเทียม ประเทศไทยพร้อมหรือยัง (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าประเทศไทยจะไม่ผูกขาดกับดาวเทียมไทยคม ดาวเทียมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นดาวเทียมของประเทศไทยอีกต่อไป เมื่อรัฐบาลยุคนี้ได้มีความพยายามในการมีกฎหมายกิจการอวกาศ ที่ต้องทำให้เสร็จและมีผลบังคับใช้ก่อนปี 2564 ที่ไทยคมจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และไทยต้องมีดาวเทียมของตนเองทดแทน โดยการเปิดเสรีให้ต่างชาติสามารถเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยตามเงื่อนไข PPP (Public-Private-Partnership)

แต่ดูเหมือนว่าเวลาที่เหลืออีก 3 ปีนั้น อาจจะไม่ทันการณ์ที่ประเทศไทยจะเตรียมการเรื่องดังกล่าวได้ทัน เพราะขณะนี้ กฎหมายกิจการอวกาศ ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ต้องทำงานร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังคงอยู่ระหว่างการปรับแก้ให้ครอบคลุมและเป็นสากลมากที่สุด และเรื่องยังค้างอยู่ที่กระทรวงดีอี

ด้วยเพราะยังมีบางเรื่องที่ยังไม่ได้ระบุในกฎหมาย เพราะยังขาดผู้รู้ในบางมุมที่จะสอดแทรกในข้อกฎหมายให้ครอบคลุม อาทิ การสร้างดาวเทียมผู้ส่งดาวเทียมจำเป็นต้องทำประกันภัย หากดาวเทียมสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน ค่าใช้จ่ายตรงนี้ต้องมีการระบุให้ชัดเจนเพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นจริง มันคือสิ่งที่มีมูลค่าสูง

นอกจากนี้ยังต้องมีการเปลี่ยนแนวคิดของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย เพราะมีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติแว่วมาว่า เขาไม่คิดว่าจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแบบเสรีได้ เพราะเขาเห็นว่าประเทศไทยมีทั้งดาวเทียมไทยคมที่ผูกขาดตลาดมานาน แถมยังมีบริษัทสตาร์ทอัปดาวเทียมน้องใหม่ไฟแรง ที่เจ้าของบริษัทมีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้นำประเทศในขณะนี้อีกด้วย

ดีอีเร่งร่างกฎหมายอวกาศ

การขับเคลื่อนกิจการอวกาศนั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 โดยจะต้องมีการร่างพระราชบัญญัติกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. .... และนโยบายการกำหนดสิทธิในการส่งและรับสัญญาณและการเข้าตลาดของดาวเทียมต่างชาติ (Landing Right and Market Access Policy) ขึ้นมาก่อน

ซึ่งขณะนี้เรื่องยังคงค้างอยู่ที่กระทรวงดีอีในการปรับแก้ จึงยังต้องลุ้นกันหืดจับว่าจะสามารถส่งออกจากกระทรวงดีอีเพื่อเข้าสู่กระบวนการเพื่อประกาศเป็นกฎหมายได้ทันภายในปีนี้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีแต่ดาวเทียมไทยคมและความรู้เรื่องดาวเทียมก็มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจ การเขียนกฎหมายจึงต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ เพื่อให้ได้กฎหมายที่เป็นสากล ไม่ซับซ้อนและเกิดปัญหาในอนาคต
วีระพงษ์ แพสุวรรณ
นอกจากนี้ในระหว่างที่รัฐกำลังง่วนอยู่กับการปรับแก้กฎหมาย บริษัทดาวเทียมน้องใหม่ไฟแรงก็ยังอาศัยสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำประเทศในการส่งหนังสือถึงกระทรวงดีอีเสนอตัวในการทำหน้าที่ให้บริการดาวเทียมแทนประเทศไทยไปก่อน ในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่ได้ข้อสรุปของการมีดาวเทียมในประเทศ แม้คนในกระทรวงจะบอกว่าไม่สามารถอนุมัติได้ตามที่ขอเพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 ซึ่งกำหนดว่ารัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ แก่ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งกระทรวงดีอีต้องเป็นผู้รักษาไม่ใช่เอกชน

ดังนั้นดาวเทียมที่ประจำอยู่ในระดับวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary orbit) หรือ GSO ณ ตำแหน่งวงโครจรที่ 50.5 องศาตะวันออกที่บริษัทดังกล่าวต้องการจึงไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายระบุว่ารัฐต้องเป็นผู้รักษา แม้จะใช้กำลังภายในด้วยการเล่นมุขต่อสายตรงหา "ลุงตู่" ระหว่างการหารือกับกระทรวงดีอี เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ก็อาจไม่เป็นผล เพราะคงไม่มีใครกล้าเสี่ยงเอาขาข้างหนึ่งไปอยู่ในตาราง

เพราะรัฐมองว่าการให้ดาวเทียมต่างชาติเข้าสู่ตลาดในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นเรื่องการให้ใบอนุญาตแต่เป็นเรื่องการเข้าสู่ตลาด (market access) ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการทำข้อตกลงระดับระหว่างประเทศ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการค้าเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทยจึงจะให้สิทธิแก่ดาวเทียมต่างชาติได้

ด้วยเหตุนี้รัฐจึงต้องมีดาวเทียมของตนเอง แต่คนในหน่วยงานรัฐด้วยกันเองก็ยังอยู่ในอาการงงๆ เพราะการทำงานเรื่องดาวเทียมยังคงมั่วๆนัวๆกันอยู่ระหว่างกระทรวงดีอีและกระทรวงวิทย์ฯ หรือ หากมีสำนักงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะจะต้องสังกัดอยู่กับกระทรวงไหน การรวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียวให้มาอยู่ในความดูแลของกระทรวงดีอีเพียงกระทรวงเดียวจะดีกว่าการกระจัดกระจายอยู่คนละหน่วยงานเหมือนอย่างเดิมหรือไม่ ทุกอย่างยังไม่มีคำตอบ

ดาวเทียมสื่อสารไทยคมที่มีปัญหามากในช่วงที่ผ่านมาและจะมากที่สุดในช่วงต่อไป ก็มาจากการทำงานที่มึนๆงงๆของทั้งกระทรวงดีอีและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีกฎหมายไม่ชัดเจนแบบฟันธงได้ว่าต้องเป็นหน้าที่ใครรับผิดชอบแบบไม่ต้องกังวลเรื่องคุกเรื่องตาราง

ดาวเทียมแบบไหนที่ไทยต้องการ

ปัจจุบันรัฐบาลใช้ดาวเทียม 2 ประเภท คือ ดาวเทียมสื่อสาร ของไทยคม และดาวเทียมสำรวจที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่กระทรวงวิทย์ฯ ดูแล เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ดาวเทียมมีความสามารถในการให้บริการในราคาที่ไม่แพงเหมือนเมื่อก่อน แถมยังมีแอปพลิเคชั่นที่หลากหลาย ทำให้หลายคนกังขาในสิ่งที่รัฐบาลกำลังหาสเปคของดาวเทียมทั้งสองประเภท

ชื่อของดาวเทียมโครงการดาวเทียม THEIA ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงผุดขึ้นมา เพราะปัจจุบันกระทรวงกลาโหมใช้ดาวเทียมไทยคมอยู่แต่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2564 จึงจำเป็นต้องมีดาวเทียมของตนเองแทนไทยคม ซึ่งทันทีที่มีข่าวว่ารัฐบาลสนใจบริษัทนี้ในการร่วมลงทุนสร้างดาวเทียม กระแสสังคมก็ไม่เห็นด้วยทันที เพราะเห็นว่าเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองและบริษัทก็โนเนมมากๆในวงการดาวเทียม ซึ่งรัฐบาลก็ได้ออกมาบอกแล้วว่าเป็นเพียงแค่การศึกษา แต่แค่นี้รัฐบาลก็น่าจะพอรับรู้แรงเสียดทานแล้ว

ขณะที่ดาวเทียมสำรวจอย่าง ธีออส 2 โดย GISTDA กระทรวงวิทย์ฯก็เกิดปัญหาเช่นกันจน "สุวิทย์ เมษิณทรีย์" รมว.กระทรวงวิทย์ฯต้องออกมาตั้งกรรมการพิจารณาโครงการจัดซื้อดาวเทียม ธีออส 2 ร่วมพิสูจน์ข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส

โครงการธีออส 2 ซึ่งมีมูลค่าโครงการทั้งหมด 7,800 ล้านบาทนั้น มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีผู้ผ่านคัดเลือกเข้าประมูลโครงการ 8 ราย ซึ่งหลังจากผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ผ่านการประมูล 1 ราย จากนั้นจึงทำสัญญาว่าจ้างและเริ่มสร้างต่อไป

หลายคนจึงตั้งคำถามตามประสายุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วว่าราคาที่ว่า ถูกต้องหรือไม่และรัฐจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีดาวเทียมสำรวจดวงนี้

"วีระพงษ์ แพสุวรรณ" ประธานคณะกรรมการบริหาร GISTDA กล่าวว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าว ได้เซ็นสัญญาไปแล้ว แต่กระบวนการยังไม่ได้เริ่ม ซึ่งหลังจากได้ข้อพิจารณาสรุปจากคณะกรรมการแล้ว ก็ต้องมาพิจารณากันอีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ เมื่อเซ็นสัญญาแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการขั้นตอนรายละเอียดการดำเนินงาน ที่เรียกว่า SOW ซึ่งรวมทั้งการไปเตรียมการตามแบบ เตรียมก่อสร้าง เตรียมกระจายหน่วยงานที่จะมารับผิดชอบในการก่อสร้างและอื่นๆ

การหาดาวเทียมก่อนที่กฎหมายจะเสร็จ ยังคงสร้างความกังวลและสงสัยต่อนักวิชาการอีกว่า สุดท้ายจะกลายเป็นปมปัญหาในอนาคตเหมือนการบริหารกิจการดาวเทียมในสมัยก่อนๆหรือไม่ จะกลายเป็นว่าเรื่องเก่าก็แก้ไม่เสร็จ เรื่องใหม่ก็ไม่รู้จะไปทางไหนอีก พอกหางหมูกันไม่รู้จบ


กำลังโหลดความคิดเห็น