ประเทศนี้ถนัดแต่สร้างภาพต่อต้านทุจริตคอรัปชัน หลังกระทรวงการต่างประเทศ ล้มประมูลโครงการ e-passport เฟส 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม มูลค่า 1.24 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลมีบริษัทผ่านเงื่อนไขเพียงรายเดียว ทั้งๆ ที่ในการจัดหาเฟส 2 บริษัทผ่านเพียงรายเดียวเช่นกัน แต่กลับจ้างงานไม่คิดจะล้มประมูล เปิด 7 ข้อสงสัยที่กระทรวงต้องตอบหากไม่อยากตกเป็นผู้ต้องหาเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย ทำประเทศชาติ ประชาชนเสียหายเสียโอกาสในการใช้ Passport ใหม่ที่มีเทคโนโลยีด้าน Security ที่ทันสมัยป้องกันการปลอมแปลง
แหล่งข่าวในวงการไอซีที กล่าวว่า การที่กระทรวงการต่างประเทศได้ออกประกาศ ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2561 เรื่องยกเลิกการประกวดราคาการจัดทำ e-passport ระยะที่ 3 โดยอ้างว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไขเพียงรายเดียว จึงเห็นควรให้ยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ถือเป็นใบเสร็จชั้นเยี่ยมที่แสดงให้ข้อพิรุธในการประกวดราคาครั้งนี้ ทั้งในด้านการฉกความลับของบริษัทที่เข้าร่วมประมูล เพื่อปิดโอกาสหรือเปิดประตูแพ้ในการประกวดราคาครั้งหน้า และเป้าหมายสูงสุดเมื่อล้มประมูลนี้จะเข้าทางบริษัทเอกชนบางราย ที่ตกเงื่อนไขด้านเทคนิค แต่ผ่านฉลุยด้านคอนเน็กชัน
“อย่าหลอกสังคมว่าผ่านเงื่อนไขรายเดียวแล้วจำเป็นต้องล้มประมูล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่เป็นธรรมกับตัวเลขในบัญชีมากกว่า เพราะที่ผ่านมาเคยมีเอกชนอย่างจันวาณิชย์ผ่านเพียงรายเดียว แต่ก็จ้างได้ไม่มีปัญหาไม่ต้องล้มประมูล ครั้งนี้มันโจ่งแจ้งเกินไปแล้วชนิดเห็นใบเสร็จคาตา”
เปิดเส้นทางประมูล
ทั้งนี้ โครงการจัดทำ e-passport ระยะที่ 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม หรือภายในระยะเวลา 7 ปี แล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน ราคากลาง 12,438,750,000 บาท หรือเล่มละ 829.25 บาท ประมูลด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยมีเอกชน 4 รายเข้าร่วมประกวดราคาประกอบด้วย 1. กิจการร่วมค้า จันวาณิชย์ (บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด และบริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด) ซึ่งเป็นคู่สัญญาในปัจจุบัน 2. กิจการร่วมค้า TIM (บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด, IDEMIA (ฝรั่งเศส) CP และ MSC) 3. กิจการร่วมค้า ดาต้าโปรดักส์ ทอปปัง (บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ทอปปัง ฟอร์ม จำกัด และ Gemalto) และ 4. กิจการร่วมค้า WIN (กลุ่มสามารถ, ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, Dermalug (เยอรมัน) และMSCS)
โดยลำดับความเป็นมาของโครงการ e-passport ระยะที่ 3 เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2561 กระทรวงการต่างประเทศออกประกาศจ้างเอกชนผลิต และให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม หรือภายในระยะเวลา 7 ปี แล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน ราคากลาง 12,438,750,000 บาท หรือเล่มละ 829.25 บาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอด้านราคาในวันที่ 23 ก.ค.2561, ยื่นเอกสารข้อเสนอทางด้านเทคนิค วันที่ 24 ก.ค. 2561 และให้เอกชนเข้าสาธิตในพื้นที่จำลองที่อาคารอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 หลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศ เรียกทุกบริษัทเข้าชี้แจงเพิ่มเติมวันที่ 3 ส.ค. 2561 กำหนดประกาศผลในวันที่ 17 ส.ค. 2561
โดยที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนน 100 คะแนน ใช้เกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) ระหว่างคุณภาพ (ทางด้านเทคนิค) ต่อราคา ในอัตราส่วน 60:40 ซึ่งในขั้นตอนการซื้อ และขอรับเอกสาร มีผู้ขอรับเอกสาร 16 ราย และยื่นข้อเสนอราคา 4 ราย
ผ่านบริษัทเดียวก็เคยจ้าง
โครงการ e-passport ระยะที่ 3 ถูกเกาะติดโดยสำนักข่าวอิศรา ที่จับจ้องกลิ่นฉาวๆ ของโครงการนี้มาโดยตลอด ทันทีที่กระทรวงการต่างประเทศล้มประมูล “ชาตรี อรรจนานันท์” อธิบดีกรมการกงสุล ก็ให้สัมภาษณ์อ้างเหตุผลที่ออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาจ้างผลิต และให้บริการจัดทำ e-passport ระยะที่ 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม ดังกล่าวว่า ดำเนินการตามนัยข้อ 56 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว หรือมีผู้ยื่นข้อเสนอหลายรายแต่ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กําหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียวให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนั้น” ซึ่งไม่มีเหตุผลอื่น ทุกอย่างชัดเจนตามข้อกฎหมายที่ประกาศไป
แหล่งข่าวกล่าวว่าอาจเป็นไปได้ที่ถือกฎหมายคนละฉบับกัน หรือในอดีตกฎหมายเปิดช่องให้มีโอกาสประพฤติมิชอบได้ เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูการจัดซื้อจัดจ้าง e-passport ระยะที่ 2 จำนวน 7 ล้านเล่ม เมื่อปี 2555 วงเงิน 5,804,750,000 บาท ใช้การประมูลแบบอี-ออคชั่น มีเอกชน 4 ราย เข้าร่วมประมูล และสาธิตระบบ ปรากฏว่า บริษัท จันวาณิชย์ผ่านเพียงรายเดียวในครั้งนั้นไม่ได้ยกเลิก และจัดประมูลใหม่ แต่กระทรวงการต่างประเทศทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัท จันวาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2555 สิ้นสุดสัญญา 10 ต.ค. 2562 (สัญญาเลขที่ 176/2556 )
“2 มาตรฐานชัดเจนไม่รู้จะสะกดคำว่าถูกต้องอย่างไร เฟส 2 ผ่านรายเดียวได้งาน ผ่านมา 5-6 ปี เฟส 3 ผ่านรายเดียวล้มประมูล”
7 พิรุธล้มประมูล
สิ่งที่น่าสังเกตของการล้มประมูลครั้งนี้ ที่ดูน่ามีเหตุผลกว่าที่พยายามอ้างกัน คือ
ประเด็นคำถามที่ตามมา คือ 1. ที่ผ่านมา ภาพรวมการประกวดราคาครั้งนี้ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ เหตุใดจึงต้องมีการล้มประมูล เพียงเพราะมีผู้ผ่านเกณฑ์เพียงรายเดียว 2. การประกาศยกเลิกเช่นนี้ เป็นธรรมหรือไม่ ต่อผู้เข้าร่วมประกวดราคา ซึ่งแต่ละรายได้นำเสนอข้อมูลความลับทางการแข่งขันของตนไปแล้วอย่างละเอียด ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อความได้เปรียบ เสียเปรียบในการร่วมประกวดราคาในครั้งต่อไป
3. ภาพลักษณ์ของประเทศจะได้รับผลกระทบในทางลบหรือไม่ จากการประกาศยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร 4. กระทรวงการต่างประเทศจะประกาศการประกวดราคาใหม่ได้เร็วที่สุด เมื่อใด 5. ในช่วงที่รอการประกวดราคาครั้งใหม่ ซึ่งบริษัทคู่สัญญาเดิมจะเป็นผู้ให้บริการอย่างไม่มีกำหนด ในช่วงรอยต่อ จะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์โดยไม่สมควรหรือไม่ และจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ และความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่
6. โดยปกติแล้ว ในการประกวดราคา ผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย ย่อมต้องแข่งขันกันนำเสนอเทคนิคที่ดีกว่า ในราคาที่คุ้มค่ากว่าในปัจจุบัน เพื่อให้ชนะการประกวด ดังนั้น การยกเลิกการประมูลครั้งนี้ย่อมส่งผลให้รัฐสูญเสียโอกาสในการให้บริการประชาชนด้วย Passport ใหม่ ซึ่งมีความปลอดภัยสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลง และมีค่าดำเนินการที่ถูกลง
และ 7. มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในการล้มการประมูลครั้งนี้อาจส่งผลให้รัฐบาลเสียประโยชน์ เช่น ต้องเสียงบประมาณในการต่อสัญญากับผู้ให้บริการรายเดิม เพื่อไม่ให้บริการประชาชนต้องหยุดชะงัก, เสียโอกาสในการใช้ Passport ใหม่ที่มีเทคโนโลยีด้าน Security ที่ทันสมัยป้องกันการปลอมแปลง อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประกวดราคา ให้กลับมาร่วมประมูลได้อีก
สิ่งที่น่ากังวลในแง่การฉกฉวยข้อมูลความลับการค้าของผู้เข้าร่วมประกวดราคาที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีการกำหนดให้ผู้เข้าประกวดราคาทำ Demonstration & Benchmarks Test เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยผู้ร่วมประกวดทั้ง 4 รายได้นำเสนอข้อมูลทางด้านเทคนิคอย่างละเอียด ซึ่งถือเป็นข้อมูลความลับในการแข่งขัน
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายยังได้ลงทุนติดตั้งระบบเพื่อทำการทดสอบ และจัดทำ e-passport ฉบับตัวอย่าง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา โดยมีมูลค่าการลงทุนไปแล้ว ไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาท
“การล้มประมูลงานนี้ได้หลายเด้ง ดูเหมือนเอื้อประโยชน์กับบางรายทำให้รู้ข้อมูลด้านเทคนิค ความลับการค้า สิ่งที่ทำไม่ได้จนตกเทคนิค ไม่รู้ทั้งหัวหงอก หัวดำ ที่ลอยหน้าลอยตา ต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน คิดอ่านกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง หรือคิดว่าต้านคอรัปชั่นแค่สร้างภาพเท่านั้น จะได้รู้กันไว้”
มีข้อมูลให้รับรู้เพื่อเจ็บใจเล่น เพราะคิดว่าโปร่งใสจริงอย่างที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า การประกวดราคาครั้งนี้มีความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ แม้จะมี บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิมในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ร่วมประกวดราคาด้วยก็ตาม (ตามการให้สัมภาษณ์ของนายดอม ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561)
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กระบวนการในการประกวดราคา e-passport ระยะที่ 3 ยังแสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้าง และโปร่งใสอย่าง 1. เปิดกว้างให้ทั้งบริษัทไทย และต่างชาติเข้าร่วมประมูล 2. เปิดกว้างทางด้านเทคนิค โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการกำหนดยี่ห้อ หรือเอื้อต่อผู้ประกอบการ รายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ 3. มีการกำหนดให้ผู้เข้าประกวดราคาทำ Demonstration & Benchmarks Test เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กระทรวงการต่างประเทศ