xs
xsm
sm
md
lg

นับใหม่! AIS-DTAC-True Move H ใครมีคลื่นความถี่มากที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หลังจบการประมูลคลื่น 1800 MHz ไปหมาดๆ ค่ายมือถือทั้งเอไอเอส และดีแทค ต่างได้รับใบอนุญาตกันไปรายละ 1 ใบอนุญาต ส่วนทรูไม่เข้าร่วมการประมูลด้วย ขณะที่เดือนกันยายน 2561 คลื่นบางส่วนของดีแทค จะหมดอายุสัมปทานไปอีก ดังนั้น การประมูลครั้งนี้จึงส่งผลต่อสถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมบ้านเรา เกิดความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ว่า ขณะนี้คลื่นที่แต่ละค่ายถืออยู่ในมือนั้น สรุปแล้วมีคลื่นอะไร ที่จำนวนเท่าไรกันบ้าง ทั้งคลื่นความถี่ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และคลื่นความถี่ตามสัญญากับพันธมิตร

ดูกันแบบชัดๆ เคลียร์ๆ ตามกราฟนี้แสดงให้เห็นว่า เอไอเอส มีคลื่นความถี่ในการให้บริการรวมทั้งสิ้น 120 MHz ขณะที่ค่ายทรู มีคลื่นความถี่ทั้งหมด 110 MHz และดีแทค มี 100 MHz

เมื่อการประมูลจบลง วันรุ่งขึ้น เสือปืนไวอย่างเอไอเอส ชิงประกาศจุดยืนเป็นค่ายมือถือที่มีคลื่นความถี่มากที่สุดในอุตสาหกรรม เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการทุกราย คือ 120 MHz (60 MHz X 2)

การได้คลื่น 1800 MHz จากการประมูลครั้งนี้ ทำให้เอไอเอส มีคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 4G ที่ดีที่สุดในประเทศ ด้วยคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีแบนด์วิธกว้างที่สุดถึง 40 MHz (20 MHz X 2) ที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่เหมาะสมที่สุดในการให้บริการ 4G ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐานของเทคโนโลยี

มีผลให้ความเร็วของการใช้งาน 4G ของลูกค้าผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือที่รับ 4G ทุกรุ่นเพิ่มขึ้น 15-30% รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานของลูกค้าถึง 33% หลังเปิดใช้งานคลื่นความถี่ใหม่ พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในตลาดของเอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการ 4G รายเดียวที่มีคลื่นความถี่ติดกัน

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีแบนด์วิธกว้างที่สุดถึง 40 MHz (20 MHz X 2) ที่ต่อเนื่องกัน เป็นคลื่นความถี่ Super Block 1800 MHz โดยที่เราไม่ต้องลงทุนโครงข่ายเพิ่ม สามารถเพิ่มความถี่ให้ลูกค้าได้ทันทีที่ กสทช. อนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งคาดว่าจะให้บริการได้ภายในปลายเดือน ก.ย.นี้

ปกติเทคโนโลยี LTE นั้น 1 บล็อก จะมีประสิทธิภาพสูงสุดตัองใช้คลื่น 1800 MHz จำนวน 40 MHz (20 MHz X 2) นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราต้องประมูลคลื่น 1800 MHz จาก กสทช. ทำให้ลูกค้า 4G ของเอไอเอส ที่มีอยู่กว่า 22 ล้านเลขหมาย มีความเร็วในการใช้งานเพิ่มขึ้น 15-30% ทันที จากเดิมที่เรามีคลื่น 30 MHz (15 MHzx2) สามารถให้ความเร็วสูงสุดที่ 300 Mbps ก็จะเพิ่มเป็น 390 Mbps เมื่อเรามีคลื่น 1800 MHz เป็น 40 MHz (20 MHz X 2) สอดรับต่อการใช้ดาต้าของลูกค้าที่มีการใช้งานอยู่ที่คนละ 8.9 Gbps ต่อเดือน

คลื่น 1800 MHz ยังสามารถนำมาให้บริการ IoT บนเทคโนโลยีมาตรฐาน eMTC ซึ่งเป็น IoT ที่สามารถให้ความเร็วได้สูงสุด 1 Mbps เหมาะสำหรับอุปกรณ์ IoT ที่มีการเคลื่อนที่ และต้องอัปเดตข้อมูลบ่อยๆ ขณะที่ IoT มาตรฐาน NB-IoT บนคลื่น 900 MHz ใช้ความเร็วในการส่งข้อมูลความเร็วสูงสุด 200 Kbps สำหรับอุปกรณ์ IoT ที่นานๆ อัปเดตข้อมูล

ที่สำคัญคลื่น 1800 MHz ยังเป็นคลื่นตัวเลือกหนึ่งที่อยู่ระหว่างการศึกษาว่าสามารถเป็นคลื่นที่รองรับการให้บริการ 5G ดังนั้น การได้คลื่น 1800 MHz ที่แบนด์วิธกว้างเต็มแถบ จึงเป็นการเตรียมการไปสู่การให้บริการ 5G ในอนาคต

“เป้าหมายสำคัญของเอไอเอส คือ การมอบประสบการณ์ดิจิทัลที่ดีที่สุดอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยในทุกมิติ วันนี้เราก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยการลงทุนด้านเครือข่ายครั้งใหญ่ จากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพิ่ม ทำให้ปัจจุบัน เอไอเอส เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่ถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.มากที่สุด และเป็นรายเดียวที่มีคลื่นต่อเนื่องกันถึง 40 MHz (20 MHz X 2) เรียกว่าเป็นแบนด์วิธคลื่นสำหรับให้บริการ 4G ในระบบ FDD ที่กว้างที่สุดในประเทศไทย”

ดังนั้น เมื่อนับรวมคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 40 MHz (20 MHz X 2), คลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 30 MHz (15 MHz X 2) ที่เป็นของเอไอเอสเอง และอีก 30 MHz (15 MHz X 2) ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับ TOT และคลื่นความถี่ 900 MHz อีกจำนวน 20 MHz (10 MHz X 2) ทำให้เอไอเอส มีคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งสิ้น 120 MHz (60 MHz x 2) ซึ่งเต็มเปี่ยมประสิทธิภาพ และพร้อมต่อการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเครือข่ายในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น