ไปรษณีย์ไทย เตรียมแผนสร้างศูนย์ไปรษณีย์ขนาดใหญ่เพิ่ม 2 แห่ง ศรีราชา-วังน้อย พื้นที่ละ 120 ไร่ รองรับงานที่เพิ่มขึ้น ชูเทคโนโลยีทำงานอัตโนมัติตั้งแต่ต้นจนจบ คาดใช้งบไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน มั่นใจได้ใช้ภายใน 5 ปี
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ปณท มีแผนในการสร้างศูนย์คัดแยกไปรษณีย์ขนาดใหญ่แบบอัตโนมัติ (Full Automation) เพิ่มอีก 2 แห่งภายใน 5 ปี เพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 2 แห่ง คือ ที่หลักสี่ กรุงเทพฯ และศรีราชา จ.ชลบุรี โดยทั้ง 2 แห่งใหม่นี้คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งขณะนี้ได้สถานที่แล้ว คือ อีอีซี ศรีราชา จ.ชลบุรี และวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา บนเนื้อที่แห่งละ 120 ไร่ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการสร้างแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาท
สำหรับขั้นตอนแรก ปณท ต้องหาผู้รับเหมาถมที่ และปรับพื้นที่เพื่อให้ที่ดินได้สภาพคงที่ ไม่ยุบในภายหลังซึ่งต้องใช้เวลาถมที่ประมาณ 1 ปี เพื่อให้พื้นดินคงที่ จากนั้นจึงจะเริ่มก่อสร้างอาคาร และนำระบบที่เกี่ยวข้องมาลงในพื้นที่ โดยต้องการให้มีความเป็นระบบออโตเมติกมากที่สุด เพื่อไม่ต้องมีอุปสรรคในการเพิ่มคน โดยขณะนี้กำลังดูรูปแบบของแต่ละประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เยอรมนี หรือสวิตเซอร์แลนด์ ว่าจะนำมาทำให้เหมาะสมกับประเทศไทยได้อย่างไร
เบื้องต้น ปณท สามารถจัดสรรงบประมาณในการซื้อที่ดินที่ประมาณ 600 ล้านบาท โดยพื้นที่ศรีราชา จะเป็นการซื้อที่โดยตรงจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ส่วนที่วังน้อย จะเป็นการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ขณะที่งบประมาณในการสร้างแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะสามารถของบระหว่างปีได้ หากแผนที่เสนอผ่านการพิจารณาจากบอร์ด
นางสมร กล่าวว่า ปณท ยังคงมุ่งมั่นในการเดินหน้าเป็นไปรษณีย์ 4.0 โดยมีกลยุทธ์หลักในการดำเนินงานที่จะต้องยกระดับเรื่องคุณภาพบริการ โดยขับเคลื่อน 3 ด้าน คือ การให้บริการที่เป็นเลิศ (Service) การนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งระบบตั้งแต่การรับฝาก-คัดแยก-ส่งต่อ-นำจ่าย เพื่อให้รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น
รวมไปถึงจับมือกับพันธมิตรต่างๆ เปิดจุดให้บริการรับฝากในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า และสถานีบริการน้ำมัน การยกระดับเครือข่ายให้มีความแข็งแกร่ง (Strong) นำเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter และ Mixed Mail Sorter มาใช้ในการปฏิบัติงานให้มีความรวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการเปิดศูนย์ไปรษณีย์ e-Commerce แยกออกมาจากศูนย์หลักสี่ แต่อยู่บริเวณใกล้กัน ภายในปีนี้ เพื่อแยกระบบการขนส่งสินค้า e-Commerce ออกจากระบบงานขนส่ง EMS ปกติ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce โดยเฉพาะ พร้อมได้ติดตั้ง GPS ที่รถขนส่งไปรษณีย์กว่า 1,000 คันแล้ว เพื่อควบคุมคุณภาพการขนส่งให้ทันเวลา สามารถติดตามรถขนส่งได้แบบ Real Time ลดปัญหาความล่าช้า ซึ่งก็ทำให้การควบคุมการส่งต่อไปรษณียภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ตรงเวลา
อีกทั้งยังมีบริการรองรับกลุ่มธุรกิจ e-Commerce ซึ่งปัจจุบันถือเป็นลูกค้ากลุ่มหลักอีกกลุ่มหนึ่งของไปรษณีย์ไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริการ Prompt Post เตรียมการฝากส่งล่วงหน้า บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) เป็นบริการเสริมใช้ควบคู่กับบริการ EMS โดยจัดทำจ่าหน้าผ่านระบบ Prompt Post ผู้รับปลายทางสามารถชำระเงินค่าสินค้าผ่าน Wallet@Post ของไปรษณีย์ไทย
สำหรับการส่งของให้ลูกค้าที่ต่างประเทศ ก็มีบริการเหมาจ่าย EMS One Price คิดตามขนาดกล่อง/ซอง บริการ e-Packet รองรับและส่งเสริมธุรกิจ e-Commerce ระหว่างประเทศที่ต้องการฝากส่งสินค้าในราคาประหยัด บริการ Courier Post เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการส่งสินค้าที่มีมูลค่า และต้องการความรวดเร็ว และบริการ EMS World ซึ่งนำจ่ายได้ตามมาตรฐานที่กำหนด (Delivery on Time) สูงถึง 98% ตามหลักเกณฑ์ และเป้าหมายที่ UPU กำหนด ถึงที่หมายภายใน 3-5 วัน เป็นต้น
ในส่วนของบริการเชิงสังคมนั้น ไปรษณีย์ไทยได้รับโอกาสจากรัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้รับผิดชอบโครงการใหญ่ๆ ระดับประเทศ เช่น การเป็นผู้ขนส่งให้ภาครัฐ โครงการดิจิทัลชุมชน ด้าน E-Commerce ที่จะเป็นช่องทางการค้าขายสินค้าดี สินค้าเด่นของทุกชุมชน ผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com โครงการไปรษณีย์ไทย...เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาชุมชน โดยใช้ที่ทำการไปรษณีย์เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเครือข่าย และนำสินค้าในชุมชนมาขายผ่านเครือข่ายไปรษณีย์
“เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเครือข่ายที่แข็งแกร่ง จะทำให้ไปรษณีย์ไทยเป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่มีหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนทุกธุรกิจของคนไทย และประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างแน่นอน”