การต่อยอดธุรกิจเดิม ไปสู่การให้บริการในรูปแบบใหม่ ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเวลานี้ สำหรับ "เอไอเอส" ที่หมายมั่นจะปั้นกลุ่มธุรกิจองค์กรให้ขึ้นมาสร้างสัดส่วนรายได้ราว 1 ใน 3 ภายในระยะเวลาอันสั้น
หน้าที่สำคัญนี้ จึงตกอยู่กับ "ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล" ที่เข้ามารับตำแหน่ง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอสในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และใช้เวลากว่า 3 เดือนในการปรับโครงสร้างธุรกิจให้สามารถเข้าไปแข่งขันได้ และพร้อมที่จะเติบโตในอนาคต
ยงสิทธิ์ เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เอไอเอส หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจองค์กรมากขึ้น เนื่องมาจากเดิมที่เอไอเอสเริ่มธุรกิจมาจากการให้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคทั่วไปเป็นหลัก ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งที่แม้ว่าจะเป็นผู้นำในตลาดนี้ แต่ก็พบว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงอัตราการเติบโตช้าลง
ทำให้เมื่อหันไปมองผู้ให้บริการโทรคมนาคมในต่างประเทศอย่าง สิงเทล ที่พบว่าธุรกิจองค์กรสร้างรายได้ให้แก่สิงเทลกว่า 38% ของรายได้รวม ประกอบกับมีการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีองค์กรที่ใช้เลขหมายของเอไอเอสถึง 76% แต่ปัญหาคือจากเดิมที่เอไอเอสเน้นคอนซูเมอร์ หันมาเป็นองค์กร ก็ต้องเริ่มจากการให้บริการโทรศัพท์ก่อน
เอไอเอส มีความแข็งแกร่งในเรื่องของอินฟราสตรักเจอร์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่างคอร์เน็ตเวิร์กที่เป็นไฟเบอร์เกือบ 2 แสนกิโลเมตร มีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นมารองรับลูกค้าปัจจุบันมากกว่า 40 ล้านคน
"ที่ผ่านมาเอไอเอสลงทุนระบบเหล่านี้ไป แต่นำมาใช้เอง เพื่อให้บริการลูกค้าในกลุ่มคอนซูเมอร์ 40 ล้านราย ไม่ได้ถูกนำมาให้ลูกค้าองค์กรใช้งาน จึงกลายเป็นสิ่งที่สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งฐานลูกค้า แบรนด์ ช่องทางจำหน่าย อินฟราสตรักเจอร์ ความรู้ และประสบการณ์"
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเอไอเอส มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าองค์กรธุรกิจไม่ถึง 10% ของรายได้ ก่อนที่จะเข้าไปซื้อกิจการของ ซีเอส ล็อกซอินโฟร์ ทำให้รวมๆแล้วตอนนี้เอไอเอสมีรายได้จากธุรกิจองค์กรประมาณ 14% ทำให้เมื่อมองถึงสัดส่วนของสิงเทล เปรียบเทียบกับเอไอเอสแล้วยังห่างกันอยู่ ทำให้ต้องมีการเร่งเครื่องในกลุ่มธุรกิจนี้ขึ้นมา
การที่มีพอร์ตโฟลิโอของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งการให้บริการโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ ไปจนถึงคลาวด์ และไอโอที ทำให้เอไอเอสกลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่มีครบเครื่อง ดังนั้นในมุมของลูกค้าถ้ามีปริมาณการใช้งานมากก็สามารถทำราคาให้แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม การที่มีบริการแบบเดิมอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอ ทำให้มองไปถึงการสร้างบริการใหม่ นวัตกรรมที่มีบิสสิเนสโมเดลใหม่ขึ้นมา ที่สำคัญคือไม่เข้าไปตัดราคาคู่แข่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูง เพราะสุดท้ายก็เหมือนการนำเงินไปเผาเล่นมากกว่า
ทั้งนี้ การก้าวเข้ามาผลักดันธุรกิจองค์กรในครั้งนี้ ถือว่าต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความท้าทายกับลูกค้า ที่จะเข้าไปสร้างการเติบโต โดยเบื้องต้นได้เตรียมแผนไว้ 2 รูปแบบคือ การเข้าไปเติบโตตามตลาดที่มีโอกาส กับอีกส่วนคือเข้าไปเติบโตแบบก้าวกระโดดในธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น
"เอไอเอสเป็นองค์กรที่มีความระมัดระวังสูงในการลงทุนในธุรกิจใหม่ ดังนั้นในการผลักดันธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นในช่วงนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา หลังจากนี้ ก็จะค่อยใช้วิธีการนำเสนอบริการใหม่ๆ เข้าไปเติมเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจองค์กรต่อไป"
***รักษาจุดแข็ง สร้างความได้เปรียบจากคู่แข่ง
จุดแข็งที่เอไอเอสมี และผู้บริโภคทั่วไปรับรู้คือในแง่ของการให้บริการที่เป็นมืออาชีพ มีแบรนด์ที่ชัดเจนในเรื่องของความเป็นผู้นำในการให้บริการ รวมถึงเรื่องบริการหลังการขาย การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งจากจุดแข็งเหล่านี้ ทำให้เอไอเอส ยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโทรคมนาคมได้
"สิ่งเหล่านี้พิสูจน์มาแล้วในแง่ของการบริหารจัดการต่างๆ ที่จะมาช่วยรักษาความสัมพันธ์ของทั้งลูกค้า และช่องทางจำหน่ายต่างๆ ด้วยคอนเซปต์เหล่านี้จะช่วยให้การรุกเข้าไปในธุรกิจองค์กรด้วยการต่อยอดจากของเดิมทั้งคุณภาพของเครือข่าย และบริการแบบมืออาชีพ จะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้หลายๆองค์กรหันมาเลือกใช้บริการจากเอไอเอสมากขึ้น"
***กลัวข้อจำกัดมากกว่าการแข่งขัน
สำหรับการแข่งขันในธุรกิจองค์กรของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ปัจจุบันจะมีผู้ให้บริการหลักๆอยู่ด้วยกัน 2 ราย ซึ่งแต่ละรายก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยการที่มีความเชื่อในประสิทธิภาพ และทีมงานของเอไอเอส จึงทำให้ไม่กังวลในจุดนี้มากเท่าไหร่นัก
เพียงแต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของข้อจำกัดจากการกำกับดูแลของภาครัฐ อย่างเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่กลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการจากต่างประเทศ อีกส่วนคือเรื่องของการปรับตัวในการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้บริโภค ที่มีบางส่วนกลัวในการนำเทคโนโลยีไปใช้งาน อย่างเรื่องของการนำระบบชำระเงินดิจิทัลมาใช้ ผู้ประกอบการบางรายก็ไปกลัวเรื่องเสียภาษี เป็นต้น
***หน่วยงานกำกับดูแลควรยกระดับมาตรฐาน
ขณะเดียวกัน เมื่อมองถึงปัจจัยที่ทำให้การเติบโตในธุรกิจองค์กรของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เกิดขึ้นได้ยากมาจากการที่ข้อกำหนดบางประการของหน่วยงานกำกับดูแล อย่างเรื่องการยืนยันตัวตน ที่แม้ว่าจะมีการปรับแก้มาหลายครั้ง จนล่าสุดเริ่มหันมาใช้วิธีการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยก็ตาม ยิ่งพอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็มีความยากขึ้นไปอีก
"ตอนนี้ในหลายบริษัท จริงๆไม่ได้มีผู้ใช้โทรศัพท์น้อย แต่ส่วนที่บริษัทจ่ายตรงนี้น้อย อย่าง สมมุติมีพนักงาน 2 หมื่นคน บริษัทอาจจะจ่ายตรง 2,000 คน ที่เหลือบริษัทให้เป็นเงิน หรือนำบิลมาเบิก หรือในส่วนของ SMEs ที่จดทะเบียนธุรกิจ แต่บริษัทจดทะเบียนในนามบุคคล เพราะการจดทะเบียนในนามบริษัทมีความยุ่งยาก ต้องใช้เอกสารประกอบเพิ่มเติม"
ดังนั้น ถ้ามาตรการของภาครัฐเอื้อให้แก่องค์กรธุรกิจ ในการอำนวยความสะดวกให้สามารถเปิดใช้เลขหมายโทรคมนาคมหรือจดทะเบียนในนามนิติบุคคลได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก พร้อมกับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการยืนยันตัวจนก็จะทำให้ตลาดตรงนี้มีช่องทางเติบโตอีกมาก
โดยกลุ่มเป้าหมายที่เอไอเอสเล็งเห็นว่ามีโอกาสในการเติบโตได้คือกลุ่มลูกค้า SMEs ที่มีความต้องการใช้งานเบอร์โทรศัพท์แตกต่างจากกลุ่มคอนซูเมอร์ เน้นนำไปใช้งานเพื่อสื่อสาร ติดต่อค้าขาย ทำให้หันมาโฟกัสในการพัฒนาบริการที่เน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้เป็นหลัก
ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องสิทธิในการนำข้อมูลไปใช้งาน ที่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการ OTT จากต่างประเทศ สามารถนำพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตไปใช้เพื่อโฆษณา หรือทำการตลาดดิจิทัลได้ โดยไม่มีหน่วยงานใดๆมาควบคุม กลับกันด้วยประกาศของ กสทช. กลับบังคับให้ผู้ให้บริการในประเทศ ไม่สามารถนำข้อมูลการใช้งานของลูกค้าไปใช้เพื่อกิจกรรมทางการตลาด หรือนำไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ทางอ้อมให้เกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเป็นข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตนของผู้ใช้ก็ตาม
"จากข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้ผู้ให้บริการในไทย ไม่สามารถให้บริการแพลตฟอร์มที่มีราคาถูก หรือฟรีได้ แต่ถ้ามีการกำหนดมาตรการในการควบคุมข้อมูลเหล่านี้ใหม่ โอกาสที่จะนำโมเดลนี้ไปช่วยผลักดันธุรกิจ IoT ในการให้บริการประชาชน ก็จะช่วยเร่งให้เกิดการใช้งานได้รวดเร็วขึ้น"
***ใช้ NB-IoT เป็นฐานสำคัญสู่การสร้างนวัตกรรม
ยงสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการลงทุนขยายโครงข่าย NB-IoT ของเอไอเอส ที่เพิ่งมีการลงทุนเพื่อให้สามารถใช้งานได้ทั่วประเทศว่า เป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนรายได้ธุรกิจองค์กรของทางเอไอเส เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เชื่อว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
"การลงทุนขยายโครงข่าย NB-IoT เป็นสิ่งที่ยืนยันความพร้อมในการลงทุนของเอไอเอส เพราะอุปกรณ์ IoT ไม่สามารถจำกัดพื้นที่การใช้งานเฉพาะจุดได้ แต่ต้องครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะอีกหน่อยถ้ามีการนำ IoT ไปใช้งานในรถยนต์ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ก็ต้องพร้อมให้บริการในทันที"
ตอนนี้ ภาพที่หลายๆฝ่ายเห็นร่วมกันคือการนำอุปกรณ์ IoT ไปใช้ในส่วนของคอนซูเมอร์ แต่ในความเป็นจริง IoT จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญให้หลายๆภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร โรงงานการผลิตต่างๆ ที่สามารถนำ IoT ไปช่วยเพิ่มผลผลิต และลดขั้นตอนการทำงานได้
ที่สำคัญคือทางเอไอเอส มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตร AIAP (AIS IoT Alliance Program) ขึ้นมา เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ให้บริการ IoT ที่ต้องการแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อ เพราะทางเอไอเอสเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดัน IoT ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้แน่นอน