คนไทยเตรียมใช้บริการออนไลน์เร็วทันใจขึ้น เพราะทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ (ทรูไอดีซี) ของไทย และบีบีไอเอ็กซ์ (BBIX) สัญชาติญี่ปุ่น ประกาศร่วมทุนจับมือกันก่อตั้ง “บริษัท บีบีไอเอ็กซ์ ประเทศไทย” เพื่อให้บริการศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Exchange Point : IXP) ในประเทศไทย จุดเด่น คือ การให้บริการระดับเลเยอร์ 2 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายการันตีว่า นี่คือ IXP ระดับโลกรายแรกของไทย
ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้จัดการทั่วไป และประธานคณะผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ทรูไอดีซี กล่าวว่านี่คือการก่อตั้ง IXP ระดับ “เวิร์ลคลาส” แห่งแรกในไทย โดยปัจจุบัน ไทยมี IXP แล้ว 2-3 เจ้า แต่การเป็นเวิลด์คลาสของบีบีไอเอ็กซ์ ประเทศไทย จะผลักดันให้แบรนด์ หรือบริษัทใหญ่ ลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
“B2C ได้ประโยชน์ชัดเจนเรื่องลดความล่าช้าของการเดินทางข้อมูล นอกจากนี้ คือ ผู้ใช้จะสามารถใช้บริการของ ISP รายใดก็ได้ จะได้ความเร็วเท่ากัน นี่คือ ครั้งแรกที่มีการตั้งในไทย” ศุภรัฒศ์ ระบุ “วิสัยทัศน์เราไม่ได้หยุดแค่นี้ เราต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลาง IXP ของอาเซียน สิ่งที่ธุรกิจได้รับ คือ ถ้าเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซ ก็จะช่วยให้บริการอีคอมเมิร์ซมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเร็วขึ้น ถ้าเป็นบริษัทผู้ให้บริการระบบ AI ก็จะทำได้แม่นยำ เรียลไทม์ เพราะความเร็วที่เพิ่มขึ้น”
ประโยชน์เหล่านี้ คือ ผลจากการเป็น IXP ที่ให้บริการระดับเลเยอร์ 2 ต่างจาก IXP ทั่วไปที่ให้บริการในไทยระดับเลเยอร์ 3 โดยขณะนี้ ทรูไอดีซี ก็ยังให้บริการระดับเลเยอร์ 3 ควบคู่ต่อไปเพราะการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างระดับสามารถทำงานร่วมกันได้ ตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละที่ โดยความแตกต่างของบริการ IXP ระดับเลเยอร์ 2 และ 3 คือ ระดับ 3 ต้องฝากข้อมูลไว้ที่อื่นก่อน แต่เลเยอร์ 2 จะส่งไปที่ผู้ใช้ได้เลย ผลคือการรับส่งข้อมูลออนไลน์เร็วขึ้น 5-6 เท่าตัว การควบคุมข้อมูลทำได้ดีกว่า ลดต้นทุนฝั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ 10% หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ
*** คนไทยสัมผัสเลเยอร์ 2 ปลายปีนี้
บริการ IXP เลเยอร์ 2 ของบีบีไอเอ็กซ์ ประเทศไทยมีกำหนดเริ่มให้บริการปลายปีนี้ ต้นสังกัดทั้ง 2 ฝ่ายไม่เปิดเผยเม็ดเงินลงทุน ระบุเพียงว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทบนสัดส่วนการถือหุ้น 51-49% โดยทรูไอดีซี ลงทุนส่วนพื้นที่ และระบบเซิร์ฟเวอร์ ขณะที่ BBIX ญี่ปุ่น มีลูกค้าบริษัทข้ามชาติในหลายประเทศ ทั้งคู่สามารถเริ่มธุรกิจได้เลยโดยกำลังพิจารณาว่าจะต้องลงทุนเพิ่มอีกมากน้อยขนาดไหน
“วันนี้เราจะใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ที่เรามีอยู่แล้ว ทำให้เริ่มดำเนินการได้ด้วยความรวดเร็ว เราจะพิจารณาโอกาสขยายต่อไป” ศุภรัฒศ์ ผู้บริหารทรูไอดีซี กล่าว
มร.เคอิชิ มากิโซโน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีไอเอ็กซ์ และบริษัท บีบีไอเอ็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เผยว่า บริษัทลงทุนธุรกิจ IXP ในรูปแบบบริษัทร่วมทุนที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก เพราะมองเห็นวิสัยทัศน์ร่วมกัน โดยจากความเชี่ยวชาญของ BBIX ที่มีลูกค้าระดับโลกอยู่ในมือแล้ว ก็จะพร้อมดึงมาร่วมได้บนแผน 3 เฟส คือ 1. เน้นที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร 2. ขยายไปนอกกรุงเทพฯ และ 3. คือ ไปภูมิภาค ทั้งหมดนี้ไม่มีการเปิดเผยกรอบเวลาของแต่ละเฟส
ผู้บริหารทรูไอดีซี ย้ำด้วยว่า การร่วมทุนตั้งศูนย์ IXP เลเยอร์ 2 ในไทยครั้งนี้ ไม่มีเจตนาแข่งกับ IXP สิงคโปร์ ซึ่งบริษัทใหญ่บางรายใช้บริการเพื่อให้บริการคนไทย
“ขอเทียบเป็นสนามบิน ถ้าคนตัดสินใจได้ว่าต้องการไปที่ไหน ก็เดินทางมาที่ประเทศนั้น ถ้ามาทะเล ก็มาประเทศไทย ไม่ต้องไปต่อเครื่องที่อื่น ขึ้นอยูกับการใช้งานในแต่ละกรณี“ ศุภรัฒศ์ อธิบาย “กลยุทธ์ของเราไม่ใช่แข่งสิงคโปร์ เราเน้นให้เร็วขึ้นเท่านั้น เมื่อบริษัทใหญ่เห็นโอกาส ก็จะเทเงินทุนเข้ามาที่ไทยมากขึ้น ผมเชื่อว่าจะผลักดันให้เงินทุนจากบริษัทข้ามชาติมาที่ไทยมากขึ้น”
เหตุที่เชื่อมั่นเช่นนี้ เพราะสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่ติดอันดับโลก โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่เป็นหนึ่งในบริการออนไลน์ที่คนไทยใช้งานนานที่สุดในแต่ละวัน จุดนี้ผู้บริหารยอมรับว่า เฟซบุ๊กนั้น เป็นลูกค้า BBIX แล้วที่สิงคโปร์ และฮ่องกง แต่ยังไม่เป็นลูกค้าในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า ปัจจุบัน FB ใช้บริการ IXP ที่ไหน เพื่อให้บริการคนไทย
“ตอนนี้ตลาดไทยมีบริษัทใหญ่ที่ต้องบริหารข้อมูลออนไลน์มหาศาลราว 580 ราย ตัวเลขนี้เป็นจำนวนครึ่งเดียวของตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเราเชื่อว่าจะเติบโตได้มากกว่านี้” เคอิชิ ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายที่เชื่อว่าจะสนใจใช้บริการ IXP เลเยอร์ 2 ของบริษัท คือ กลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) กลุ่มบริษัทข้ามชาติ (MNC) บริษัทผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ (ISV) บริษัทด้านโทรคมนาคม บริษัทผู้ประกอบการ/ลูกค้าองค์กร บริษัทผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ (Content Provider) บริษัทอีคอมเมิร์ซ และผู้ให้บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ Over the top players (OTT)
เบื้องต้น ทั้ง 2 ผู้ร่วมทุนยังไม่สามารถเปิดเผยราคาบริการ IXP เลเยอร์ 2 สำหรับประเทศไทย โดยปัจจุบัน โลกมี IXP เลเยอร์ 2 ราว 610 บริษัททั่วโลก ทั้งหมดนี้ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นพันธมิตรที่สามารถจับมือกันเพื่อบริหารข้อมูลได้
*** รวมจุดแข็ง
จุดแข็งของบีบีไอเอ็กซ์ คือ การเป็นบริษัทผู้ให้บริการ IXP ที่เจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย บีบีไอเอ็กซ์ เป็นบริษัทภายใต้เครือของซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป (SoftBank Group Company) และถือหุ้นโดยซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป 100% ให้บริการหลายภาษา ญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ
ขณะที่ทรูไอดีซีนั้น เป็นชื่อย่อจาก ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ หรือ ทรู ไอดีซี เป็นผู้ให้บริการด้านดาต้าเซ็นเตอร์ และบริการคลาวด์ที่เคลมว่าเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย ให้บริการทั้งระบบคลาวด์ และศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ครอบคลุมจุดศูนย์กลางธุรกิจหลักในกรุงเทพฯ 4 แห่ง ได้แก่ 1. ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ ศูนย์ทรู ไอดีซี นอร์ทเมืองทอง 2. ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ศูนย์ทรู ไอดีซี มิดทาวน์ รัชดา 3. ทรู ไอดีซี พัฒนาการ 4. ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา
ยังมีดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับภูมิภาค คือ ทรู ไอดีซี ที่นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ทั้งหมดได้มาตรฐาน ISO หลากหลาย เป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการคลาวด์ทั้ง Amazon Web Services, Google และ Microsoft รวมถึงพันธมิตร ทางเทคโนโลยีอย่าง VMware, Huawei, ZTE, Avaya และ Veeam
ทั้ง 2 บริษัทเชื่อว่า การเปิดให้บริการบริษัทใหม่ “บีบีไอเอ็กซ์ ประเทศไทย” จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่ได้มาตรฐาน และด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วขึ้น
สำหรับศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IXP) คือ โครงสร้างพื้นฐานการให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นจุดที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่างๆ เชื่อมต่อกัน เพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดย IXP เป็นสถานที่ (กายภาพ) ที่ผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น ISP และ CDN เชื่อมต่อระหว่างกัน โดยทำหน้าที่แลกเปลี่ยนทราฟฟิก (Traffic) ไปยังระบบเครือข่ายภายนอก ซึ่งเป็นของผู้ให้บริการรายอื่นๆ
การเข้าร่วมกับ IXP ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถลดเส้นทางในการส่งผ่านทราฟฟิก (Traffic) ไปยังผู้ให้บริการรายอื่นที่เข้าร่วมกับจุดเชื่อมต่อดังกล่าวให้สั้นลงได้ ส่งผลให้ความล่าช้าของข้อมูล (Latency) ลดลง บริการเวลาเดินทางไปและกลับของข้อมูล (Round-trip Time) ได้ดีขึ้น และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตลงได้ด้วย.