xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. เปิด TOR โครงการเน็ตห่างไกล 15,723 หมู่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงาน กสทช. เปิด TOR โครงการ NET ห่างไกล Zone C 15,723 หมู่บ้าน ดำเนินการโดยใช้การประกวดราคาแบบ e-Bidding โปร่งใสทุกขั้นตอน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) หรือที่เรียกกันว่า โครงการ NET ห่างไกล Zone C ในส่วนที่สำนักงาน กสทช. รับผิดชอบ จำนวน 15,723 หมู่บ้าน

ที่เป็นโครงการที่สนับสนุนโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศของรัฐบาล ที่จะขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย

สำนักงาน กสทช. ดำเนินโครงการนี้ด้วยความโปร่งใสทุกขั้นตอน ใช้การประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding ตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งมีตัวแทน 6 คนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นผู้สังเกตการณ์โครงการในทุกขั้นตอนตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) ไปจนกระทั่งจบโครงการ

ทั้งนี้ ขอบเขตของงานตามโครงการนี้ต่างโครงการ NET ชายขอบ 3,920 หมู่บ้านในครั้งที่แล้ว เป็นการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยจะต้องมีการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก เพื่อขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังหมู่บ้านเป้าหมาย ฉะนั้น คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประกวดราคาในโครงการนั้น จึงกำหนดว่าต้องเป็นผู้รับใบอนุญาตโทรคมนาคมแบบที่ 3 ประเภทมีโครงข่ายจากสำนักงาน กสทช. เท่านั้น จึงจะเข้าร่วมประกวดราคาเป็นผู้ดำเนินโครงการได้

ส่วนโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) นี้ เป็นการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายที่มีโครงข่ายพาดผ่านแล้ว ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงได้กำหนดขอบเขตของงานให้เปิดกว้าง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีผู้เข้าร่วมการประกวดราคามากที่สุด โดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประกวดราคา เป็นผู้รับใบอนุญาตโทรคมนาคมแบบที่ 1 หรือแบบที่ 3 จากสำนักงาน กสทช.

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินงานที่ผู้ให้บริการมีข้อผูกมัดตามสัญญาที่จะต้องจัดให้มีบริการ และการบำรุงรักษาตลอดระยะเวลา 5 ปี จึงได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตแบบที่ 1 ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง ที่ได้รับใบอนุญาตแบบออโตเมติกไลเซนส์

ที่ต้องมีรายได้จากการประกอบกิจการทางด้านโทรคมนาคมในรอบปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ยต่อปีนับตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10% ของเงินลงทุนของแต่ละสัญญา ซึ่งไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโครงการระยะ 5 ปี (OPEX)

เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นได้ว่า บริษัทที่ชนะการประกวดราคาในโครงการนี้ เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ และมีเงินลงทุนในการดำเนินการที่เพียงพอ สามารถดำเนินงานตามโครงการได้ ไม่ก่อให้เกิดการทิ้งงานจนเกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ เพราะหากเกิดการทิ้งงานจะเกิดผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่มีทางเลือกมากนักในการเข้าถึงบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีจำนวนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จำนวนกว่า 60 ราย มีคุณสมบัติที่สามารถเข้าร่วมประกวดราคาได้ในครั้งนี้

นายฐากร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ใช้กรอบวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 19,674,785,365 บาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 3,935,000,000 บาท ในการดำเนินการ สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการจัดจ้างด้วยประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding แบ่งออกเป็น 8 สัญญา ตามพื้นที่เป้าหมายประกอบไปด้วย

1. สัญญาที่ 1 พื้นที่เป้าหมาย ภาคเหนือ 1 ประกอบด้วย จ.เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง และลำพูน จำนวน 2,289 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,356 ล้านบาท

2. สัญญาที่ 2 พื้นที่เป้าหมาย ภาคเหนือ 2 ประกอบด้วย จ.กำแพงเพชร, ตาก, นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี จำนวน 1,851 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,325 ล้านบาท

3. สัญญาที่ 3 พื้นที่เป้าหมาย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ประกอบด้วย จ.นครพนม, บึงกาฬ, มุกดาหาร, เลย, สกลนคร, หนองคาย, หนองบัวลำภู และอุดรธานี จำนวน 1,950 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,741 ล้านบาท

4. สัญญาที่ 4 พื้นที่เป้าหมาย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จำนวน 2,124 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,297 ล้านบาท

5. สัญญาที่ 5 พื้นที่เป้าหมาย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จำนวน 2,099 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,650 ล้านบาท

6. สัญญาที่ 6 พื้นที่เป้าหมาย ภาคกลาง 1 ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี, ชัยนาท, ชุมพร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ระนอง, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี และอ่างทอง จำนวน 1,921 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,296 ล้านบาท

7. สัญญาที่ 7 พื้นที่เป้าหมาย ภาคกลาง 2 ประกอบด้วย จ.จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ตราด, นครนายก, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ระยอง, ลพบุรี, สมุทรปราการ, สระแก้ว และสระบุรี จำนวน 1,917 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,521 ล้านบาท

8. สัญญาที่ 8 พื้นที่เป้าหมาย ภาคใต้ ประกอบด้วย จ.กระบี่, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, พังงา, พัทลุง, ภูเก็ต, ยะลา, สงขลา และสตูล จำนวน 1,581 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 2,485 ล้านบาท

“เมื่อโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการจะได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยจะมีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi หมู่บ้าน จำนวน 15,584 จุดบริการ มีอาคารศูนย์ USO NET ในโรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ และจุดบริการ Wi-Fi พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ 228 โรงเรียน มีห้อง USO NET ในโรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และจุดบริการ Wi-Fi พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ 1,623 โรงเรียน มีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi โรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 3,170 โรงเรียน รวมโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่จะได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 5,021 แห่ง และมีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล (รพ.สต.) จำนวน 91 แห่ง”

ทั้งหมดนี้ สำนักงาน กสทช. จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้บริการ และบำรุงรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะมีแพกเกจอินเทอร์เน็ตบ้านที่ราคาถูกกว่าราคาตลาดให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการฯ ได้ใช้งาน โดยแพกเกจปกติความเร็ว 30/10 Mbps ราคาต้องไม่เกิน 349 บาทต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประกวดราคา และลงนามในสัญญาประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 และจะสามารถเปิดใช้งาน Wi-Fi ฟรี ในหมู่บ้านทั้งหมดประมาณเดือนพฤษภาคม 2562


กำลังโหลดความคิดเห็น