xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทค เสนอแนวทางปลดล็อกคลื่น 900 MHz ให้รถไฟฟ้าย้ายไปใช้คลื่น 450 MHz แทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ถึงเปิดกี่รอบก็ไม่มีคนมาประมูลคลื่น 900 MHz หลังเจอปัญหาเพียบโดยเฉพาะเรื่องการรบกวนกับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้า ด้าน 'ดีแทค' เสนอผ่าทางตันด้วยการให้รัฐออกหน้าให้ใช้คลื่น 450 MHz แทนการใช้คลื่น 900 MHz เพื่อแก้ปัญหาการรบกวนกัน หรือหากเปลี่ยนความถี่ไม่ได้ ก็ควรให้ กสทช.ออกเงินการทำฟิลเตอร์ของแต่ละค่าย ดีกว่าผลักให้เป็นภาระผู้ประมูลได้ฝ่ายเดียว

นายราจีฟ บาวา (ขวา) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยถึงกรณีการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และไม่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอร์เรเตอร์) รายใดที่เข้าร่วมประมูลคลื่นดังกล่าว ดังนั้น ดีแทค มีข้อเสนอแนะที่อยากจะให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กสทช. และสมาคมโทรคมนาคมฯ มาหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เบื้องต้น ดีแทค มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเงื่อนไขคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 เสนอให้รถไฟฟ้าย้ายการใช้คลื่นความถี่จาก 900 MHz ไปอยู่ในย่านคลื่นความถี่ 450 MHz บนเทคโนโลยี LTE-R ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะใช้ใน 2 ปีข้างหน้า ดีกว่าใช้เทคโนโลยี GSM-R ซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 450 - 470 MHz ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ครอบครองคลื่นความถี่ดังกล่าวอยู่ โดยดีแทค ได้อ้างว่า ทีโอที ได้คื่นคลื่นความถี่ดังกล่าวมาที่ กสทช.แล้ว

ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ให้รถไฟฟ้าใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ดังเดิม แต่ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการแต่ละรายจะต้องติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่เอง (filter) ซึ่งอาจจะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) หรือเงินที่ได้จากการประมูลแทน

หรือประเด็นที่ 3 หากต้องการใช้คลื่นย่าน 900 MHz ควรจะย้ายคลื่นความถี่ดังกล่าวไปอยู่ปลายสุดของช่วงคลื่นความถี่โดยไม่ให้ช่วงคลื่นความถี่ติดกับผู้ให้บริการรายใด

'เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา มีการประชาพิจารณ์ คลื่น 900 MHz แต่มีปัญหาเรื่องการรบกวนคลื่นความถี่ ว่า คลื่น 850 MHz จะกวนคลื่น 900 MHz ทำให้กสทช.ไม่นำคลื่น 900 MHz มาประมูล ก่อนจะมาทบทวนใหม่ โดยให้ผู้ชนะประมูลคลื่น หรือผู้รับใบอนุญาตเป็นคนรับผิดชอบ ทำให้ต้นทุนการทำอุปกรณ์ฟิลเตอร์ไม่ชัดเจน ความรับผิดหากรถไฟฟ้าถูกรบกวน ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบ มันเป็นความเสี่ยงที่ประเมินไม่ได้ เราคอยดูว่า กสทช.จะแก้ปัญหาอย่างไร เราเห็นประเทศจีนใช้ 450 MHz ซึ่งไทยก็น่าจะจัดสรรได้เพราะไทยมีคลื่น 470 MHz ที่ไม่มีใครใช้' นายราจีฟ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดีแทคมองว่า หากมีการปรับแก้เงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz ดีแทค มีความสนใจที่จะประมูลคลื่น 900 MHz เนื่องจากดีแทคสนใจคลื่นความถี่ต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศไทยไม่มีการวางแผนบริหารคลื่นความถี่ที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดปัญหาในการจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละครั้ง ซึ่งการบริหารคลื่นความถี่จะกำหนดใน 6 เดือนไม่ได้ จะต้องมีการวางแผน 3-5 ปี ฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ คลื่นความถี่ย่าน 850-900 MHz เป็นคลื่นที่ต้องใช้กับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนคลื่น 450 MHz เหมาะกับใช้ในกิจการรถไฟฟ้า

สำหรับการเยียวยาคลื่น 850 MHz นั้น ดีแทคหวังว่า กสทช.จะเยียวยาคลื่นดังกล่าวให้ใช้ต่อไป เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยปัจจุบัน ดีแทคมีลูกค้าที่ใช้บริการคลื่น 850 MHz ที่อยู่ในสัญญาสัมปทานระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 ก.ย.61 นี้ จำนวน 4 แสนเลขหมาย และมีจำนวนสถานีฐาน 13,000 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น