xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประมูลคลื่น 900MHz จะรุ่งหรือจะล่ม!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วันที่ 8 สิงหาคมนี้ กสทช. จะเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจยื่นคำขอเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตของคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz แต่ดูเหมือนว่า การประมูลใบอนุญาตคลื่น 900MHz จะมีความเคลื่อนไหวมากที่สุด

ทั้งนี้ 900 MHz เป็นคลื่นความถี่ต่ำเพียงแบนด์เดียวที่ยังหลงเหลือให้ผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมสามารถจับจองไปให้บริการแก่ผู้บริโภคได้ คลื่นความถี่ต่ำมีความสำคัญอย่างยิ่งในการให้บริการครอบคลุมในพื้นที่เป็นวงกว้าง เพราะสามารถส่งสัญญาณได้ไกลมากกว่า 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคลื่นย่านความถี่สูง นั่นคือการตั้งเสาสัญญาณแต่ละแห่งย่อมมีระยะทางที่ห่างกันมากกว่าเสามือถือของคลื่นย่านความถี่สูง จึงสามารถลดต้นทุนและเวลาในการสร้างเสาได้

ทันทีที่ดีแทคประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่กำหนดให้ยื่นเข้าร่วมประมูลเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา กสทช. งัดไม้ตายจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz สวนกลับในทันทีเพื่อปิดประตูใส่คำขอเยียวยาใช้คลื่น 850 MHz ต่อของ ดีแทค ตามหลักการว่า หากไม่เข้าประมูล ก็จะไม่ได้เยียวยา เร่งให้ดีแทคต้องปรับกลยุทธ์เร่งขอเปิดเจรจากับ กสทช. โดยยื่นจดหมายแสดงความสนใจในคลื่นความถี่ 900 MHz และคลื่นความถี่ต่ำย่านอื่นๆ หากนำมาเปิดประมูลในอนาคต

แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า ถึงดีแทคจะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มาได้ ก็ใช่ว่าจบ!

เพราะอุปกรณ์และเสาสัญญาณที่เปิดบริการอยู่ทั่วประเทศในปัจจุบันมากกว่า 13,000 เสา สามารถรองรับคลื่น 850 MHz เท่านั้น แต่ใช้งานไม่ได้กับคลื่น 900 MHz นั่นจึงเป็นที่มาของคำร้องของดีแทคที่ขอใช้งานคลื่นความถี่ 850MHz ต่อไปอีก 2 ปี เพื่อให้บริการลูกค้าปัจจุบันไม่สะดุด พร้อมๆ กับทยอยลงทุนสร้างเสาสัญญาณ และติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารชุดใหม่เพื่อใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHz โดยเฉพาะ

แต่ดีแทคกับ กสทช. จับมือชื่นมื่นกันอยู่ได้ไม่นานก็ต้องวงแตก เมื่อ กสทช ประกาศฟ้าผ่าเพิ่มเงื่อนไขในกฎการประมูล ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบแก้ไขให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz และ 900 MHz รายอื่นด้วย

ดีแทค ซึ่งดูจะเป็นของตายที่ กสทช. มั่นใจแน่ว่า จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz แน่ๆ ล่าสุด ออกมาประกาศชัดว่า เป็นห่วงกฎการประมูลที่ กสทช. ใส่เพิ่มเติมเข้ามา ที่อาจทำให้ดีแทคต้องเปลี่ยนใจ โดยให้เหตุผล 2 เรื่อง คือ ค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการดำเนินงาน แม้ กสทช. จะยอมลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบการรบกวนกันของคลื่นได้

แต่จากการประเมิน ดีแทคเชื่อว่า จำนวนเงินดังกล่าวไม่ครอบคลุมงบประมาณในการดำเนินการสร้างระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ให้กับผู้ที่ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่น และระบบคมนาคมขนส่งทางราง

นอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้ชนะการประมูลจะต้องรับความเสี่ยงจากการเข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน ในสถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตรายเดิมทั้งหมดที่มีอยู่ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ มิหนำซ้ำ กสทช. ยังขอสงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลยังจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการในการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงคลื่นความถี่เดิม

เปรียบเหมือนซื้อที่ปลูกบ้าน อยู่ไปวันดีคืนดี มีคำสั่งบังคับให้ผู้ซื้อรื้อบ้าน ย้ายสลับแปลงที่ดินกับแปลงที่ดินที่ติดกัน แล้วลงทุนสร้างบ้านหลังใหม่อีกหลัง

กฎการประมูลที่สร้างปัญหาตามหลังและค่าใช้จ่ายบานปลายเป็นภาระผูกพันให้กับผู้ชนะประมูลทำให้ดีแทคต้องตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ขณะที่ กสทช. ก็ต้องหาผู้ซื้อคลื่นความถี่ออกไปให้ได้

ท้ายสุด ผู้บริโภคคือคนรับเคราะห์ เพราะต้องไม่ลืมว่า ขนาดปัจจุบัน ผู้บริโภคทั้ง 70 กว่าล้านคนทั้งโทร.ทั้งเล่นเน็ต อยู่บนคลื่นความถี่ที่ เปรียบเหมือนภาพรวมถนนที่มีความกว้างถึง 420 MHz ยังติดๆ ขัดๆ เลย แล้วหากประมูล 900 MHz ล่มไปอีก ขณะที่คลื่นความถี่ 1800 MHzก็ดูท่าจะขายไม่หมดอีก เท่ากับว่า ถนนสายสื่อสารของประเทศไทยจะหดหายไปหลายเลน

ถ้าพรุ่งนี้ (8 ส.ค.) ไร้เงา ดีแทค เข้าประมูล 900 MHz ก็ดูเหมือนสมเหตุสมผลนะ


กำลังโหลดความคิดเห็น