xs
xsm
sm
md
lg

แอบดูผลงาน "ดีอี" ตั้งพาร์ค 4.0 (ทับซ้อน) ราวดอกเห็ด (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี กับ อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี
ยังคงเป็นวลีเด็ดถูกค่อนขอดอยู่ตลอดกับคำว่า "ไทยแลนด์ 0.4" เพราะขณะที่เอกชนซึ่งเลิกง้อนโยบายรัฐและก้าวไปสู่ดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น ด้วยตัวเอง เลยคำว่า 4.0 แล้วนั้น นโยบายภาครัฐที่ประกาศปาวๆกลับยังโดนล้อว่าทำงานแบบ 0.4 ได้ยังไง ทั้งๆที่ประเทศไทยมีกระทรวงชื่อใหม่กิ๊กอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี อยู่ทั้งกระทรวงแล้วก็ตาม

แถมยังมี 2สำนักงานใหม่ ผุดขึ้นมาอีก คือ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ที่มีบทบาทหลักในการเป็นเลขานุการให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) ที่นานๆประชุมหน กับการดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่ไม่รู้จะมอบหมายให้ใครทำ และไม่มีงบประมาณเป็นของตนเอง กับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ที่มีงานเด่นคือการจัดงาน บิ๊ก แบง มหกรรมจัดแสดงผลงานนวัตกรรม คล้ายๆกับงานสตาร์ทอัปไทยแลนด์

แต่สำนักนี้เหมือนเป็นลูกเมียหลวงที่มีงบหล่นทับมากมาย แต่ยังไม่ได้ทำไรจริงจังเพราะเงินมาช้าจึงหยิบงานเก่าสานต่อไปก่อนจากการเคยเป็น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ที่ยังคงชอบแต่การจัดงานและจัดงาน

นี่ยังไม่นับสำนักงานใหม่อีก 2 สำนักงานอย่างน้อยที่จะคลอดออกมาตาม 2 พ.ร.บ.ที่รอมานานมากแล้วก็ยังไม่ผ่านสภาเสียที คือ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ตอนนี้ได้โยนให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ตั้งสำนักงานชั่วคราวขึ้นมาดูแลก่อนกฎหมายจะคลอด

ผุดพาร์ค ราวดอกเห็ดทั้งที่เอกชนมีแล้ว

ประเทศไทยมีสมาคมฯ ชมรมฯ สมาพันธ์ฯ สถาบันฯ มากมายนับไม่ถ้วน ร้างบ้าง รอดบ้าง ไม่มีคนรู้จักเพราะอยู่ในวงแคบๆบ้าง และจะมีสักกี่แห่งที่เป็นที่รู้จัก และเมื่อเป็นที่รู้จักเขาก็จะมีประสบการณ์และความสัมพันธ์ในวงการนั้นๆ ตามที่เขาถนัดมาอย่างยาวนานและเหนียวแน่น แต่กระทรวงดีอีก็ยังมีแนวคิดในการสร้างของใหม่ขึ้นมา ทั้งๆที่เรื่องบางเรื่องมีอยู่แล้ว ทำไมต้องทำให้ซ้ำซ้อนกัน เปลืองงบประมาณ และกำลังคนไปอีก

เริ่มตั้งแต่การจัดงานบิ๊ก แบง ที่ดูยังไงมันก็เหมือนกับการจัดงาน สตาร์ท อัป ไทยแลนด์ สปอนเซอร์ร่วมงานและนวัตกรรมไม่ต่างกัน ที่สำคัญคือพุ่งเป้าไปที่สตาร์ท อัป เหมือนกัน และอีกส่วนก็คือการโรดโชว์เพื่อให้รู้ว่ารัฐบาลทำอะไร ไม่ต่างกับการใช้เงินและกำลังคนเพื่อสร้างภาพ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล จนปัจจุบันไปไกลถึงขนาดจัดระดับภูมิภาคด้วย

เฉกเช่นกับการสร้างดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ และมีสถาบันไอโอที อยู่ในนั้น แต่กลับได้ยินความคืบหน้าแต่เพียงว่ามีคนสนใจ แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ตอกเสาเข็ม เหมือนการขายคอนโดที่ประกาศขายจนเกือบร้างแต่ก็ยังไม่เห็นมีโครงการขึ้นแม้แต่น้อย ส่วนสถาบันไอโอที ก็ติดขัดเรื่องงบประมาณจากสำนักงบประมาณที่เพิ่งให้มา แผนเดิมที่ต้องสร้างสถาบันไอโอทีอีก 3 ปีกว่าจะเสร็จ ถามว่าจะทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือไม่โดยเฉพาะกับประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ประเทศผู้พัฒนานวัตกรรม

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี "พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์" ยังมีแนวคิดในการสร้างสนามทดสอบ 5G ในพื้นที่เดียวกันด้วย แต่เมื่อสถาบันไอโอทียังไม่เสร็จเลยปรับแผนไปใช้พื้นที่ของม.เกษตร ศรีราชา แทน แถมยังมีแนวคิดในการสร้าง ไซเบอร์ พอร์ต แบบฮ่องกง เพื่อสนับสนุนสตาร์ท อัป ไทยแบบที่เอกชนเขาทำกันมาระยะหนึ่งแล้วด้วย
ถามว่า เรื่องไอโอที เอไอ และ 5G ทำไมเอกชนต้องพึ่งรัฐ จะรอรัฐสร้างให้ซ้ำซ้อนกับเอกชนทำไม ทั้งๆที่เอกชนมีความรู้ ความเข้าใจมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้บริษัทเอกชนที่ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในไทยทั้งสิ้น ส่วนเรื่องสตาร์ท อัป เราจะมีซิลิคอน วัลเล่ย์ ในไทยที่เป็นของรัฐบาลทำไม ทั้งๆที่เอกชนก็แข่งขันกันสนับสนุนสตาร์ท อัป อยู่แล้ว สตาร์ท อัปเหล่านั้น จะอยากอยู่ในกรอบของรัฐบาลหรือรัฐบาลจะมีอิสระในการทำงานหรือเงินทุนให้เขาได้อย่างเอกชนหรือไม่ เอกชนอยู่ในอุตสาหกรรมย่อมรู้ว่าความต้องการตลาดคืออะไร อะไรขายได้ หรือควรเก็บไว้บนหิ้ง

ยังไม่พอ บอร์ดดีอีเองยังชงเรื่อง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เกิดสภาดิจิทัลฯมีหน้าที่ทำงานเหมือนสภาอุตสาหกรรม หรือ สภาหอการค้าไทย อีกด้วย นี่ยิ่งไปกันใหญ่ อย่างนั้นสมาคมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ, สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือแม้แต่สมาคม
โทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จะมีไว้ทำอะไร จริงอยู่ที่สมาคมเดิมๆเหล่านี้ หลายคนอาจมองว่าเป็นสมาคมมาเฟีย ทำเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าสภาดิจิทัลฯที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะไม่เดินซ้ำรอยเดิม ควรจะแก้ปัญหาด้วยการให้ความสำคัญและทำงานร่วมกันมากขึ้น ให้เป็นในทิศทางเดียวกัน ดีกว่าหรือไม่

ไม่เพียงเท่านี้ ETDA หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอีก็ยังผุด e-Commerce Park ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ ฝึกอบรม จัดทำโครงการต่างๆ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้สามารถส่งออกไปยังตลาดโลก โมเดลเหมือนที่ประเทศจีนมีโดยเน้นการระดมทุนจากภาคเอกชนแทนการรองบประมาณจากรัฐบาล

นอกจากนี้ยังมี ETDA ได้เซ็นเอ็มโอยูกับ Digital Asia Hub Hong Kong ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งโดยศูนย์เบิร์กแมนไคลน์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมแห่งโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด (The Berkman Klein Center for Internet & Society, Harvard Law of School) เพื่อร่วมกันจัดตั้ง The Digital Asia Hub Thailand หรือ DAH.th เพื่อสร้างเครือข่ายและการทำงานร่วมกันในประเด็นทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเปิดกว้างสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยร่วมกันพัฒนาศักยภาพ เผยแพร่ความรู้ และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงทางด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมของเครือข่ายในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึง Digital Asia Hub ในฮ่องกง และ Berkman Klein Centre ที่ Harvard Law School ในรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในด้านของผู้เชี่ยวชาญ การวิจัย และการอบรมบุคลากร โดยมี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ (Multi-Stakeholder Collaboration) ทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งมีทั้งภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาล ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในประเด็นด้าน Digital Transformation 2. หลักสูตรการศึกษาโดยจัดกิจกรรมการศึกษาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่มุ่งให้ข้อมูลแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในภาคเอกชนและภาครัฐเกี่ยวกับประเด็น Digital Transformation กฎหมายและทางสังคม รวมถึงการจัดโครงการฝึกงานหรือโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นในกลุ่มความร่วมมือ

และ 3.การสนับสนุนด้านการวิจัยซึ่ง Digital Asia Hub Thailand จะมีส่วนร่วมในการวิจัยที่มุ่ งเน้นประเด็นการปรับใช้หลักการของ GDPR, cybersecurity Analytic กับการพัฒนาขีดความสามารถ และประเด็นเทคโนโลยีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่

แนวทางประชารัฐเพื่อความยั่งยืนจริงหรือ

นี่แค่ตัวอย่างแสดงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ยังไม่นับรวมสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่เพิ่มเติมอีก ปัญหาคือ จะบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างไร หรือ ต่างคนต่างตั้ง ต่างคนต่างทำงานไม่มีจุดยึดโยงระหว่างกัน ซึ่งเข้าใจได้ว่าด้วยอุปสรรคของงบประมาณและกำลังคนทำให้รัฐบาลมุ่งเน้นการทำงานแบบประชารัฐ

ไม่แปลกที่จะเห็นภาพรมว.ดีอี ควงคู่อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี เดินสายดูงาน สร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่เคยว่างเว้น จึงเกิดเป็นเอ็มโอยูบนโต๊ะทำงานมากมายหลายฉบับที่ไม่รู้จะเริ่มแอ็กชั่นตรงไหนก่อน

การจับมือกับภาคการศึกษา ภาคเอกชน จะยั่งยืนหรือไม่ หากเปลี่ยนรัฐบาล และสิ่งที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดนี้จะกลายเป็นเพียงอนุสรณ์ที่ขึ้นรา และเหลือเพียงแค่ความทรงจำหรือไม่ หากคำว่าผลงานเป็นแค่ระดมตั้งพาร์ค ตั้งฮับ ตั้งหน่วยงาน เซ็นเอ็มโอยู เพื่อถือว่าทำงานเก่ง ทำงานเป็น มีผลงานอวดอ้างได้มากมาย โดยไม่สนใจเนื้องานที่ได้จริงๆ ก็วังเวงเหลือเกิน ไทยแลนด์ 4.0 !!


กำลังโหลดความคิดเห็น