xs
xsm
sm
md
lg

“ฟูจิตสึ” มั่นใจ 2-3 ปี โรงงานอัจฉริยะบูมในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คอง เษี่ยว เอี๊ยน ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมดิจิทัล บริษัท ฟูจิตสึประเทศไทย และ แอลฟี ลี มุน ชุง ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจบริการและโซลูชัน
“ฟูจิตสึ” ระบุแนวโน้มตลาด IoT และ AI ในองค์กรธุรกิจไทยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนใน 2-3 ปี เชื่อจากปัจจุบันที่บริษัทส่วนใหญ่อยู่ในช่วงลงทุน และจัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูล อีก 3 ปีจากนี้หลายบริษัทไทยจะพร้อมไปสู่การใช้งาน AI เพราะมีข้อมูลเพียงพอ ยอมรับขณะนี้ธุรกิจโซลูชันโรงงานอัจฉริยะทำรายได้ให้ฟูจิตสึไทยมากที่สุด แต่ปีหน้าสมาร์ทรีเทลอาจจะมาแรงจนทำสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น

แอลฟี ลี มุน ชุง ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจบริการและโซลูชัน บริษัท ฟูจิตสึ ให้สัมภาษณ์ถึงวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีและบริการสำหรับปี 2561 ของบริษัทว่า นอกจากระบบไอที ปีนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับบุคลากรในองค์กร ร่วมกับการโฟกัสที่ธุรกิจโซลูชันการจัดการข้อมูลจากหลายส่วน ซึ่งเชื่อว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า หลายธุรกิจในประเทศไทยเข้าสู่เส้นทาง AI ที่ระบบไอทีสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้โดยใช้ข้อมูล

“หลายบริษัทไทยมีเซ็นเซอร์อยู่แล้ว บางที่มีข้อมูล 10 ปี แต่ไม่เคยวิเคราะห์ จุดที่ฟูจิตสึอยากโฟกัสในตลาดไทย คือ ไปคุยกับลูกค้าที่เก็บข้อมูลมาหลายปี เพื่อเอาข้อมูลมาทำเป็นรายงานให้เห็นภาพชัด จากนั้นค่อยวิเคราะห์ว่านำข้อมูลไปใช้อะไรได้บ้าง”

แอลฟี ระบุว่า ธุรกิจโซลูชันที่ฟูจิตสึ มองว่าจะมาแรงในปีนี้คือโซลูชันระบบงานประกันคุณภาพ (quality assurance) และงานบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ซึ่งจะมีบทบาทสูงในกลุ่มองค์กรที่เป็นโรงงานภาคการผลิต โดยขณะนี้องค์กรไทยที่เป็นลูกค้าของฟูจิตสึส่วนใหญ่กำลังติดตั้งและใช้งานระบบในขั้นตอนการวิเคราะห์ ทำให้ในช่วง 3 ปีจากนี้ หลายธุรกิจไทยจะพร้อมก้าวไปที่ระดับ AI ได้เพราะมีข้อมูลเพียงพอ

นอกจากระบบงานไอที แนวคิดหลักของฟูจิตสึสำหรับปีนี้ยังอยู่ที่การสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อความสำเร็จหรือ Co-creation for succuess ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นบันไดให้โรงงานปรับปรุงกระบวนการผลิตสู่โรงงานอัจฉริยะ เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีก และบริการด้านการเงิน ที่จะเพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้ามากขึ้น

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการสำรวจบริษัทที่เป็นลูกค้าของฟูจิตสึ ซึ่งพบว่าความท้าทายในแต่ละช่วงการลงทุนระบบไอทีขององค์กรนั้นต่างกันไป โดยความท้าทายช่วงวางแผน คือ การขาดพนักงานที่มีทักษะ ติดขัดระเบียบองค์กร และไม่มีผู้นำทีมที่ชัดเจน ขณะที่ช่วงที่จะเริ่มนำโซลูชันมาใช้จริง ความท้าทายกลับอยู่ที่การต่อต้านจากคนในบริษัทเอง เรื่องเงินทุน และเรื่องความปลอดภัย

“คีย์หลักที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จได้ จึงอยู่ที่คน ผู้นำ และข้อมูล” แอลฟีระบุ “ฟูจิตสึ เป็น SI ที่เป็นเซอร์วิสอินทิเกรเตอร์ วางระบบได้อยู่แล้ว แต่ฟูจิตสึ จะเน้นเข้าไปออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ฟูจิตสึต้องการทำความเข้าใจมุมมองคน ไม่ใช่เรื่องไอที เราหวังจะเข้าใจกลยุทธ์ของลูกค้า และจะมองปัญหาของลูกค้าในหลายมิติ จากนั้น จะเชื่อมโยงกับโซลูชันของฟูจิตสึ ให้แก้ได้เร็ว ทั้งหมดนี้จะเปิดช่องให้มีการต่อยอดระยะยาวได้”
แอลฟี ลี มุน ชุง
ไม่เพียงแนวคิดนี้ แอลฟี ยังเผยผลการสำรวจล่าสุดที่ฟูจิตสึ ทำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าธุรกิจออฟไลน์วันนี้เน้นลงทุนไอทีเพื่อลดต้นทุน และมองเห็นความเสี่ยงเรื่องคู่แข่ง โดยแม้กลุ่มสถาบันการเงิน คือ 1 ในธุรกิจ 5 กลุ่มหลักที่พร้อมทำดิจิทัลมากที่สุด แต่ธุรกิจกลุ่มรีเทลก็กำลังก้าวไปพร้อมกัน รองลงมาเป็นการขนส่ง การผลิต และเฮลท์แคร์

ขณะนี้ ฟูจิตสึ ปักหลักให้บริการโซลูชันโรงงานอัจฉริยะในหลายประเทศทั่วเอเชีย ประกอบด้วยสิงคโปร์ ฟูจิตสึมีโครงการทำระบบคลาวด์ให้ SME ใช้งานง่าย ขณะที่มาเลเซีย ฟูจิตสึมีโครงการกับบริษัทปิโตรนัส ทำระบบติดตามความเหนื่อยล้าพนักงานเพื่อตอบโจทย์กฏหมายแรงงาน ระบบนี้สามารถระบุตัวพนักงานที่ทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน

สำหรับไทย ฟูจิตสึทำโครงการกับปูนซีเมนต์นครหลวง จัดทำระบบจัดการทรัพยากร เพื่อการบำรุงรักษาที่ประหยัดต้นทุนกว่าเดิม และระบบติดตามพนักงานในโรงงานที่สามารถควบคุมจัดการได้จากระยะไกล จุดนี้ ฟูจิตสึ เชื่อว่า ภาคการผลิตไทยยังมีโอกาสลงทุนเพิ่มในด้านอื่นมากขึ้น เช่น ระบบ Preventive Maintenance ด้วยระบบเสียง และการสั่น ซึ่งฟูจิตสึสามารถจัดทำระบบไอทีที่ฟังเสียงเครื่องจักร เพื่อหาความผิดปกติได้ ลดข้อจำกัดจากเดิมที่ต้องใช้แรงงานคนซึ่งติดตามไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ฟูจิตสึหันมาใช้ไมโครโฟน แล้วเปรียบเทียบรูปแบบคลื่นเสียง เพื่อให้ระบบเตือนได้ก่อนที่เครื่องจักรจะเสีย

“กลุ่มเป้าหมายของระบบนี้ คือ โรงงานข้ามชาติ รองลงมา คือ บริษัทญี่ปุ่น หรือบริษัทอื่นที่เป็นคนไทย สำหรับเอสเอ็มอี เรามีโครงการสตาร์ทสมอล ทำระบบตรวจเครื่องจักรผ่านระบบคลาวด์ เสียค่าใช้จ่ายน้อย เป็นรายเดือน ใช้ระบบผ่านแท็บเล็ตได้”

คอง เษี่ยว เอี๊ยน ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมดิจิทัล บริษัท ฟูจิตสึประเทศไทย ระบุว่า ปีนี้บริษัทจะเน้นธุรกิจโซลูชันในประเทศไทย 3 ส่วน คือ โซลูชันสมาร์ทแฟกทอรี่ (เพื่อโรงงาน) สมาร์ทรีเทล (เพื่อธุรกิจค้าปลีก) และสมาร์ทเวิร์กเพลส (สำนักงานอัจฉริยะ) โดยกลยุทธ์ที่บริษัทวางไว้สำหรับบุกตลาดสมาร์ทแฟกทอรี คือ การเน้นเดินตามกรณีความสำเร็จของโครงการที่เคยดำเนินการมา เช่นกรณีปูนซีเมนต์นครหลวง ที่เริ่มใช้ระบบของฟูจิตสึ เมื่อต้นมกราคมที่ผ่านมา เชื่อว่าจะลดต้นทุนการบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ 10% รวมถึงต้นทุนการบริหารทรัพยากรบุคคลในโรงงาน เช่นเดียวกับโรงงานสุขภัณฑ์ TOTO ซึ่งใช้ระบบฟูจิตสึ ที่เวียดนาม ก่อนขยายมาใช้ในประเทศไทย

“การทำสุขภัณฑ์มักใช้การตรวจสอบด้วยตา แต่การตรวจด้วยตาจะทำให้ไม่เห็นข้อผิดพลาด ระบบป้องกันคุณภาพของฟูจิตสึ จะทำให้พนักงานเทียบสินค้าในหลายขั้นตอน ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น”
คอง เษี่ยว เอี๊ยน
สำหรับกลยุทธ์ที่ฟูจิตสึ วางไว้เพื่อบุกตลาดสมาร์ทรีเทล คือ การทำ co-creation เห็นได้ชัดจากกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ฟูจิตสึทำระบบรีเทลให้ ทำให้ลูกค้าเอสซีบี และเดอะมอลล์ ที่ซื้อสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เกต ไม่ต้องเข้าคิว และสามารถจ่ายเงินเอง ระบบของฟูจิตสึ รองรับการจ่ายเงินดิจิทัล สามารถเดินไปที่คีออสแล้วกดชำระเงินด้วยพร้อมเพย์ หรืออาลีเพย์ รองรับ 10 กว่าสาขาแล้วในขณะนี้

จุดนี้คองย้ำว่า โซลูชันโรงงานอาจจะเหมือนกันในหลายประเทศ แต่โซลูชันรีเทลของแต่ละประเทศมักจะแตกต่างกัน ดังนั้น ฟูจิตสึจึงต้องเข้าไปทำงานร่วมกับธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ร่วมมือกันออกแบบโซลูชันที่เหมาะสมที่สุด

ขณะที่กลยุทธ์บุกตลาดสมาร์ทเวิร์กเพลส คือ การเน้นที่ระบบจองทรัพยากรให้พนักงาน ตัวอย่างคือบริษัทอนันดาฯ ใช้ระบบฟูจิตสึ ให้พนักงานจองโต๊ะได้จากสมาร์ทโฟน ช่วยบริษัทประหยัดพื้นที่ จุดนี้ ผู้บริหารฟูจิตสึ ระบุว่า เห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจงานอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ หรือ RPA (Robotic Process Automation)

“RPA ใช้กันมาก ถือว่าเป็นเทรนด์ใช้มากในบริษัทกลุ่มโทรคมนาคม ประกัน ธนาคาร ตอนนี้โรงงานกำลังใช้มากขึ้นในระบบรับออเดอร์ ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ RPA เพื่อลดพนักงาน แต่ใช้เพื่อหมุนคนไปทำงานที่มีความต้องการมากกว่า”

ยังมีระบบติดตามเครื่องจักรแบบดิจิทัล ซึ่งอำนวยความสะดวกให้พนักงานเก็บข้อมูล รูป วิดีโอ โพสต์ขึ้นคลาวด์ แบบไม่ใช้กระดาษ เรียลไทม์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต

“ตลาดสมาร์ทแฟกทอรีตอนนี้ทำรายได้ราว 50% ของรายได้รวมฟูจิตสึ โดยรีเทล และเวิร์กเพลส มีสัดส่วนราว 25% เท่ากัน เชื่อว่าสัดส่วนของรีเทลจะเพิ่มเป็น 30% ในปีหน้า ไม่ได้กินส่วนแบ่งตลาดเดิมไปแต่อาจมีบริการส่วนอื่นเข้ามาเพิ่ม และตลาดเวิร์กเพลสอาจแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น”.


กำลังโหลดความคิดเห็น