xs
xsm
sm
md
lg

ดีอี เตรียมตั้ง “ไซเบอร์พอร์ต” หนุนสตาร์ทอัป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงดีอี ปิ๊งไอเดีย ไซเบอร์พอร์ต เลียนแบบ โมเดล ฮ่องกง หวังเป็นศูนย์รวมสตาร์ทอัป ระดับภูมิภาค คาด 2 เดือนจะได้รูปแบบการจัดตั้งบริษัท เพื่อให้เกิดจริงในปีนี้ ส่วนความคืบหน้าในการทดลองเทคโนโลยี 5G เตรียมหาข้อสรุปในการใช้พื้นที่ของ ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา ก่อน ในวันที่ 26 ก.ค. นี้ เผยรัฐบาลไม่ต้องออกเงิน เพราะทำตามแนวคิดประชารัฐ

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนเองพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงดีอี สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้มีโอกาสไปเยือนฮ่องกง เพื่อดูงานที่ไซเบอร์พอร์ต (Cyberport) ซึ่งเป็นหน่วยงานในรูปแบบบริษัท ที่รัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สตาร์ทอัป ด้านดิจิทัล และ FinTech ระดับแนวหน้าแห่งเอเชีย โดยเป็นชุมชนดิจิทัลที่มีสมาชิกกว่า 1,000 บริษัท ทั้งบริษัทข้ามชาติ ได้แก่ IBM Microsoft Lenovo ธุรกิจ SMEs ไปจนถึงธุรกิจ สตาร์ทอัป โดยมุ่งเน้นการสร้างกลุ่มธุรกิจที่สำคัญสำหรับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาฮ่องกงเป็นสมาร์ท ซิตี

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดีอี จึงมีความร่วมมือร่วมกันในการสร้างบริษัท ไซเบอร์พอร์ต ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย โดยจะใช้พื้นที่ดิจิทัล พาร์ค ศรีราชา เป็นศูนย์รวมของสตาร์ทอัปในภูมิภาคนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางกรอบแนวคิดในการจัดตั้งบริษัท คาดว่าจะสามารถคิดเสร็จภายใน 2 เดือนนับจากนี้ เพื่อให้เกิดขึ้นจริงภายในปีนี้

“ปัจจุบัน การผลักดันสตาร์ทอัปของประเทศไทยยังกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน นักลงทุนที่เข้ามาหรือสตาร์ทอัปต่างชาติไม่รู้ว่าจะเข้ามาอย่างไร เรามีทั้งสมาร์ท วีซ่า มีเงินทุน แต่มันกระจัดกระจาย การมีไซเบอร์พอร์ตจะทำให้เป็นศูนย์รวม เราจะมีพื้นที่ให้ มีเงินทุนจากต่างชาติให้ และศูนย์นี้ก็จะมีความต้องการในตลาดให้สตาร์ทอัปได้คิดงานได้ตรงจุด ไม่ใช่คิดเอง โดยไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร ถ้าเราไม่ทำสตาร์ทอัปจะหนีไปเมืองนอกหมด ซี่งไซเบอร์พอร์ตที่ฮ่องกงก็มีสตาร์ทอัปคนไทยอยู่ที่นั่นด้วย”

สำหรับไซเบอร์พอร์ต ฮ่องกงมีเนื้อที่ ประมาณ 92,900 ตร.ม. อยู่บนเกาะฮ่องกง ติดริมทะเล เป็นที่ตั้งของ สำนักงาน พลาซ่า โรงหนัง โรงแรม ร้านอาหารจำนวนมาก เพื่อวัตถุประสงค์ให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ รวมทั้งพื้นที่ที่เรียกว่า Smart Space ขนาด 11,150 ตร.ม. สำหรับการบ่มเพาะนักธุรกิจ ไซเบอร์พอร์ตมี 3 โปรแกรมหลักๆ คือ 1. ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน โดยจัดให้มีโปรแกรม Internship เพื่อฝึกงานและโปรแกรมทางด้านการศึกษาต่างๆ

2. จัดโปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบการด้วยเวิร์กช็อปให้ความรู้ต่างๆ และเปิดพื้นที่ทำงานร่วม (Co-working space) เพื่อเป็นชุมชนคนดิจิทัลโดยเฉพาะ และ 3. เปิดโอกาสให้สตารท์อัปจากทั่วโลกมาทำงานที่ฮ่องกง และช่วยเหลือสตารท์อัปฮ่องกง ในเรื่องของโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศ และสนับสนุนในด้านเครือข่ายที่จะพบปะคนในวงการเดียวกัน

นายพิเชฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในศูนย์ดิจิทัล พาร์ค ศรีราชา จะใช้เป็นพื้นที่ทดสอบเทคโนโลยี 5G ด้วย โดยเบื้องต้นจะใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต ศรีราชา จ.ชลบุรี ในการเป็นพื้นที่ทดสอบก่อน ระหว่างรอสถาบันไอโอที ที่ยังสร้างไม่เสร็จ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 26 ก.ค. นี้ ว่าจะใช้พื้นที่ใดบ้าง เนื่องจากเทคโนโลยี 5G ต้องลงทุนเสาเพิ่มจำนวนมาก หากผู้ให้บริการทุกรายลงทุนกันหมดจะเกิดปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน เราต้องคิดวิธีให้สามารถใช้เสาร่วมกันได้

นอกจากนี้ แอปพลิเคชันในอนาคตจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และเน็ตเวิร์กไม่สามารถหยุดชะงักได้ จึงจำเป็นต้องทดสอบให้แน่ใจว่า 5G จะต้องใช้มาตรฐานใด ซึ่งการทดสอบระบบนี้กระทรวงแทบไม่ต้องใช้เงินลงทุนเลย เพราะเป็นความร่วมมือระหว่างกันแบบประชารัฐทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา

“ตอนนี้มีความเป็นไปได้ 2 ช่วงความถี่ คือ ย่าน 3.3-4.2 GHz กับช่วงย่านความถี่ 24-29 GHz และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นคลื่นย่านความถี่ 24-29 GHz ซึ่งการเตรียมความพร้อม 5G นั้น เป็นเสมือนการสร้างสนามทดลองการประยุกต์ใช้ 5G เพราะมาตรฐานทั่วโลกยังไม่ออก”


กำลังโหลดความคิดเห็น