xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเกาะที่ 2 อาเซียนใช้ AI ชี้ต้นทุนสูง-ขาดผู้เชี่ยวชาญเป็นอุปสรรค อินโดฯ อยู่เบอร์ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการนำมาปัญญาประดิษฐ์มาใช้คิดเป็น 17.1% ขององค์กรทั้งหมดในประเทศ แต่จำนวนผู้เชี่ยวชาญกลับมีไม่เพียงพอ ขณะที่อินโดนีเชียอยู่อันดับ 1 แต่ภูมิภาคนี้ยังตามหลังกลุ่มเอเชียเหนือ อยู่หลายขุม

ผลการสำรวจล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย IDC บริษัทวิจัยการตลาด และให้คำปรึกษาด้าน IT ชั้นนำของโลกในหัวข้อ IDC Asia/Pacific Enterprise Cognitive/AI survey ชี้ให้เห็นว่า การนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาใช้ในภูมิภาคนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมองภาพรวมของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 14% เปรียบเทียบกับเพียง 8% ของปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามีหลายบริษัทนำปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ได้อย่างอัจฉริยะของระบบคอมพิวเตอร์ (AI/cognitive intelligence) เข้ามาฝังไว้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น

มีผู้ตอบแบบสำรวจถึง 52% จัดลำดับให้ความต้องการค้นหาข้อมูลข่าวสารความเข้าใจเชิงลึกทางธุรกิจ (business insights) ได้ดีขึ้นเป็นพลังผลักดันที่สำคัญที่สุดในการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ เหตุผลนี้ถูกเลื่อนจากอันดับ 3 ในปีก่อนขึ้นมา เผยให้เห็นว่า ตลาดในภูมิภาคนี้มีกำลังมีวุฒิภาวะ (maturity) เพียงพอที่จะนำ AI มาช่วยขยายธุรกิจได้ เหตุผลอื่นในลำดับต้นๆ ที่เป็นตัวผลักดันการนำ AI เข้ามาใช้มีเรื่องของความต้องการเพิ่มความเป็นอัตโนมัติในกระบวนการทำงาน (51%) และปรับปรุงความสามารถในการผลิต (42%)

ประเทศอินโดนีเซีย เป็นผู้นำอันดับหนึ่งของภูมิภาคในการนำ AI เข้ามาใช้ถึง 24.6% ขององค์กรทั้งหมดในประเทศ ตามด้วยอันดับสองคือประเทศไทย (17.1%) สิงคโปร์ (9.9%) และมาเลเซีย (8.1%) ประเภทการใช้งานในระดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ใช้สร้าง algorithm ในการคาดการณ์ตลาด (17%) และการบริหารจัดการสินทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นอัตโนมัติ (11%)

ต้นทุนสูง-ขาดผู้เชี่ยวชาญ อุปสรรคสำคัญ

แม้ว่าการนำ AI เข้ามาใช้จะสูงขึ้น แต่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ยังตามหลังในภูมิภาคเอเชียเหนือ ในเรื่องของการกำหนดให้ AI เป็นวาระหลักในแผนเชิงกลยุทธ์ของตน อย่างเช่น มีบริษัทมากกว่า 80% ในประเทศจีน และเกาหลีใต้ เชื่อว่าการที่ตนมีความสามารถในเชิง AI จะเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ ต่อการประสบความสำเร็จ และการมีความสามารถเชิงแข่งขันในอนาคตอันใกล้ เปรียบเทียบกับบริษัทที่เชื่อในเรื่องนี้ในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีไม่ถึง 40%

การขาดทักษะและความรู้ (23%) และต้นทุนโซลูชันด้าน AI ที่สูง (23%) เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำ AI มาใช้งานตามความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจ

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยภาพรวมยังล้าหลังกว่าภูมิภาคเอเชีย/แปซิฟิก (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) เป็นสัญญาณเตือนภัยให้องค์กรต่างๆ ในภูมิภาคนี้ควรจะรีบนำ AI มาใช้เสียโดยเร็ว ตัวอย่างเช่น 40% ขององค์กรในประเทศไทยตอบว่าอยากจะให้ระบบ ERP ของตนมี AI เข้ามาช่วยงาน ชี้ให้เห็นความต้องการค่อนข้างสูงที่อยากให้ใช้ AI มาช่วยในการชี้นำ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม พบว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยตอบแบบสำรวจเป็นเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูงอันดับแรกเลยว่า การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เป็นอุปสรรคที่สำคัญมากๆ ประกอบกับมีองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยถึง 80% เห็นว่า ความสามารถของ AI เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการอยู่รอดในเชิงการแข่งขันขององค์กรของตนในอนาคต ถือว่าสูงที่สุดในอาเซียนเลย

“AI และการวิเคราะห์จะเพิ่มความสามารถให้พนักงาน และเป็นพลังสำคัญในการผลักดันองค์กรให้ประสบความสำเร็จ เรารู้สึกยินดีมากที่จะได้เห็นองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยตระหนักถึงการเพิ่มความสามารถในการผลิต (productivity) และประสิทธิภาพในการทำงาน (efficiency) ด้วยการนำ AI เข้ามาใช้” นายณัฐพล อภิลักษณ์โตยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าว

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นจริง และต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรธุรกิจและภาครัฐในไทยจะต้องร่วมมือกันพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้อง และทำให้ความสามารถในการวิเคราะห์เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรสามารถเข้าถึงได้

สำหรับ IDC Asia/Pacific Enterprise Cognitive/AI survey เป็นรายงานการศึกษาที่จัดทำขึ้นทุกๆ ปี เพื่อศึกษาแนวโน้มการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ความท้าทายและอุปสรรคสำคัญ และการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ทางธุรกิจ ในปี 2018 การศึกษานี้ครอบคลุมผู้บริหารและผู้นำทาง IT ของธุรกิจจำนวน 502 คนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 146 คนอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย)
นายณัฐพล อภิลักษณ์โตยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น