xs
xsm
sm
md
lg

ปี่กลองดังอีกครั้ง ประมูล 900/1800 MHz

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอไอเอส ดีแทคเข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะจัดประมูลขึ้นโดยสำนักงาน กสทช. ในวันที่ 18-19 สิงหาคมนี้ พร้อมเข้าร่วมการชี้แจงการประมูล (Information Session) โดยดีแทคห่วงข้อกำหนดผู้ชนะประมูล 900 MHz กระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ด้าน 'ฐากร' ยันในวันนี้มีความเชื่อมั่น 99% ที่จะมีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสองคลื่นความถี่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในวันนี้มีความเชื่อมั่น 99% ที่จะมีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสองคลื่นความถี่ แต่ไม่สามารถประเมินได้ว่าใครจะเข้าประมูลคลื่นใดบ้าง ซึ่งหากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวตามหลักเกณฑ์ สำนักงาน กสทช. จะต้องยื่นระยะออกไปอีก 1 เดือน

ทั้งนี้กสทช. คาดว่า บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะเข้ามารับคำขอเข้าร่วมประมูลทั้งสองคลื่นความถี่ประมาณ วันที่ 19-20ก.ค.นี้ และเชื่อว่าผู้ประกอบการทั้งสามรายจะเข้าประมูลคลื่นหลังจากมีการปรับหลักเกณฑ์การประมูลแล้ว เนื่องจาก ประการแรก หากดีแทค ไม่ข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz จะไม่สามารถเข้าสู่มาตรการเยียวยาคลื่น 850 MHzที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 นี้ได้

ประการที่สอง สำหรับคลื่น 1800 MHzเป็นใบอนุญาตแบบใบเล็ก9ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ5 MHzผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด4ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นต่อหนึ่งใบอนุญาต (5 MHz) ราคา12,486ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล2,500ล้านบาทจากเดิมแบ่งใบอนุญาตเป็น 15 MHzราคา 37,457 ล้านบาท แต่ไม่มีคนเข้าร่วมประมูล

และประการสุดท้าย การสลับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHzให้อยู่ในช่วงเดียวกัน โดยหลักการจะเลือกให้ผู้ชนะในราคาสูงสุด ครั้งนี้ หรือภาพรวมทั้งหมด และอยู่ที่การเจรจาทั้งสองฝ่ายในการสลับคลื่นความถี่

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเข้าร่วมการชี้แจงการประมูล (Information Session) โดยมีความกังวลต่อข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลใหม่ ในเงื่อนไขในการอนุญาตข้อ 16, 17 และ 18 ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบแก้ไขให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz และ 900 MHz รายอื่นด้วย

ทั้งนี้ ดีแทคชี้แจงประเด็นหลัก 2 ข้อที่กำหนดเพิ่มให้ผู้ชนะที่ได้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz คือ 1.ค่าใช้จ่าย โดยจำนวนเงินที่ กสทช. ลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาท เชื่อว่าไม่ครอบคลุมงบประมาณในการดำเนินการสร้างระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ให้กับผู้ที่ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่น และระบบคมนาคมขนส่งทางราง แม้ขณะนี้จะยังไม่ได้มีผลวิเคราะห์งบประมาณอย่างแน่นอน แต่ดีแทคประเมินว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าการลดราคาขั้นต่ำของการประมูลมาก

2.ความเสี่ยงในการดำเนินงาน เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้ชนะการประมูลจะต้องรับความเสี่ยงจากการเข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ในสถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตรายเดิมทั้งหมดที่มีอยู่ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ

กสทช. ยังได้สงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลยังจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการในการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงคลื่นความถี่เดิม ดังนั้นจึงทำให้มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายและการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีกมาก

ตามที่ดีแทคได้ส่งหนังสือถึง กสทช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การเปลี่ยนเป็นคลื่น 900 MHz เพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศด้วยสถานีฐานประมาณ 13,000 สถานี จะต้องใช้เวลาในการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ประมาณ 24 เดือน ดังนั้น ดีแทคจึงขอความชัดเจนในการใช้งานคลื่น 850 MHz เพื่อให้บริการลูกค้าระหว่างการดำเนินการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

ดีแทคได้ย้ำถึงความตั้งใจในการพิจารณาเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ก่อนจะสรุปแนวทางการเข้าร่วม โดยยังคงเดินหน้าปรึกษาหารือกับ กสทช. ในการแก้ไขประเด็นดังกล่าว และให้แน่ใจว่าคลื่นความถี่ 900 MHz สามารถนำมาประมูลด้วยเงื่อนไขที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากดีแทคแล้ว บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือเอไอเอส ได้เดินทางเข้ามาขอรับเอกสารคำขอเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900และ 1800 MHzที่กำหนดให้ประมูลคลื่น 900 MHzในวันเสาร์ที่ 18ส.ค.2561และวันอาทิตย์ที่ 19ส.ค.2561เป็นวันประมูลคลื่น1800 MHz

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอสจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่นั้น มาจากหลายปัจจัย ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ที่ปรึกษา ดูรายละเอียดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ โดยคำนึงถึงสภาพธุรกิจในปัจจุบัน เมื่อสรุปผลแล้วจึงนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาอีกครั้งถึงจะได้คำตอบว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น