ยอดการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานประจำกว่า 10% ในช่วงปีที่ผ่านมาของ LINE กลายเป็นตัวเลขความสำเร็จที่ "ทาเคชิ อิเดซาว่า" ประธานกรรมการบริหาร ไลน์ คอร์ปอเรชั่น มั่นใจว่า LINE ยังเป็นแชทแพลตฟอร์มเดียวที่ยังสามารถรักษาการเติบโตอยู่ได้
เพราะจากข้อมูลของซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นรายนี้ ระบุออกมาว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา โซเชียลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook) ก็มีจำนวนผู้ใช้งานลดลง และ แชทแพลตฟอร์มจากจีนอย่างวีแชท (WeChat) ก็ไม่ได้มีการเติบโตในแง่ของผู้ใช้งาน
สำหรับข้อมูลล่าสุดที่ LINE เปิดเผยจำนวนผู้ใช้งานออกมาคือปัจจุบัน มีจำนวนลูกค้าที่ใช้งานเป็นประจำอยู่ราว 194 ล้านราย เพียงแต่กว่า 165 ล้านราย จะเป็นการใช้งานจาก 4 ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย
รายได้ของ LINE ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 1.6 แสนล้านเยน หรือราว 4.79 หมื่นล้านบาท สัดส่วนรายได้ครึ่งหนึ่งจะมาจากการโฆษณา และอีกครึ่งหนึ่งมาจากธุรกิจเกม และการจำหน่ายสติกเกอร์ ซึ่งในจุดนี้ก็จะใกล้เคียงกับรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
สิ่งที่น่าสนใจคือ ใน 4 ตลาดหลักของ LINE เวลานี้ จะเหลือเฉพาะในตลาดของอินโดนีเซียเท่านั้น ที่มีช่องว่างให้สามารถเติบโตในแง่ของจำนวนผู้ใช้ได้ เพราะถ้ามองในตลาดของญี่ปุ่น ไทย และไต้หวัน ต่างมีจำนวนผู้ใช้งานใกล้เคียงกับจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว (Internet Penetration)
ปรากฏว่า ทางออกที่ LINE เลือกคือไม่ได้ต้องการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานแอปแชท LINE แต่จะเน้นการเพิ่มบริการอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ และยังมีช่องว่างให้เติบโตทั้งในกลุ่มของความบันเทิง ข้อมูลข่าวสาร จำนวนลูกค้าธุรกิจ และการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซ
***ใช้ออนไลน์เพย์เมนต์ช่วยขยายตลาดเอเชีย
รวมไปจนถึง 2 ธุรกิจใหม่ คือการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ ธุรกิจเพย์เมนต์ ที่จะกลายเป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญของ LINE ในการรุกเข้าสู่ตลาดอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากในหลายประเทศ ยังคงเป็นสังคมที่ใช้เงินสดอยู่ แม้ว่าจะมีการเข้าถึงสมาร์ทโฟนจำนวนมากแล้ว
จุดแข็งที่ LINE ชูออกมาในการรุกตลาดเพย์เมนต์คือจะไม่ใช้แนวทางการสร้างรายได้เหมือนธุรกิจเครดิตการ์ดที่ใช้การเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ แต่เปลี่ยนเป็นการเปิดให้ลูกค้าได้ใช้งานฟรีแบบไม่มีค่าธรรมเนียมในช่วง 3 ปีแรก (เบื้องต้นเฉพาะในญี่ปุ่น)
เนื่องจากสิ่งที่ LINE ให้ความสนใจมากกว่า คือข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้ที่ในจุดนี้อาจจะเก็บเฉพาะข้อมูลเบื้องต้นที่ไม่ได้ระบุชัดถึงตัวบุคคลตามมาตรฐานของข้อมูลสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็จะช่วยให้ LINE สามารถนำข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่อทำแคมเปญทางการตลาด และโฆษณาร่วมได้
ยังไม่นับรวมกับการลงทุนสร้างระบบบล็อกเชน ทั้งการตั้งหน่วยงานพัฒนาขึ้นมาเฉพาะ แต่ยังรวมไปถึงการคิดค้นวิธีการนำ LINE Token Economy มาใช้งาน โดยจับจุดจากการที่ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ แล้วทำไมจะได้รับสิทธิพิเศษ หรือค่าตอบแทนจากการสร้างคอนเทนต์เหล่านี้ไม่ได้ ทำให้เกิดแนวคิดในการนำ Token มาแจกให้แก่ผู้ใช้ที่ร่วมผลิตคอนเทนต์ บนแพลตฟอร์มของ LINE ที่แม้ว่าในขณะนี้จะเป็นเพียงคอนเซปต์ แต่เชื่อว่าในระยะยาว ถ้ามีการให้รางวัลที่ชัดเจน ทุกอย่างตรวจสอบได้จากเทคโนโลยีของบล็อกเชน ก็เชื่อว่าระบบเศรษฐกิจใหม่นี้จะเกิดขึ้นได้
***Clova AI จะเป็นพระเอกในอนาคต
จุน มาซึดะ ประธานกรรมการบริหารฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด ไลน์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือยุคหลังสมาร์ทโฟน (Post-Smartphone Era) ที่อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด ทำให้ทาง LINE มีการเตรียมตัวพัฒนา Clova AI มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และก็เห็นถึงความฉลาดที่เพิ่มมากขึ้น
"เมื่อถึงยุคหนึ่งที่ผู้คนเลือกที่จะใช้งานสมาร์ทโฟนน้อยลง ผู้บริโภคก็จะหันไปหาสมาร์ทดีไวซ์ที่สามารถโต้ตอบ พูดคุยกับผู้ใช้ได้ ดังนั้นการพัฒนา Clova AI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะเป็นเป้าหมายหลักของ LINE ในเวลานี้"
แม้ว่าปัจจุบัน Clova จะรองรับการใช้งานเฉพาะภาษาญี่ปุ่น และเกาหลี เท่านั้น แต่ "จุน" เชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยีการแปลภาษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการนำระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใช้งาน จะช่วยให้ขีดจำกัดทางด้านภาษาหายไปได้
ดังนั้น ในเวลานี้ LINE จึงเน้นการเพิ่มความสามารถต่างๆให้ Clova ด้วยการเข้าไปจับมือกับพันธมิตรทางเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าไปร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้นำระบบของ Clova เข้าไปใช้งาน เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด ที่น่าสนใจคือ แนวคิดการเตรียมตัวเข้าสู่ยุคหลังสมาร์ทโฟนนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ LINE เท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้ ทั้งกูเกิล และ แอปเปิล ต่างเผยให้เห็นเทรนด์ดังกล่าวออกมาเช่นกัน จากการเตรียมความพร้อมให้แก่ Google Assistant และ Siri ให้รองรับการใช้งานได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการพัฒนาผู้ช่วยอัจฉริยะ (AI Assistant) อาจจะเป็นบริการที่ดูไกลตัวผู้ใช้ชาวไทยมากที่สุด แต่ทางผู้บริหารของ LINE ประเทศไทย เชื่อว่า ถ้าให้เวลาในการพัฒนาอีก 2-3 ปีข้างหน้า เทรนด์ของการมีผู้ช่วยส่วนตัวที่เป็นดิจิทัลน่าจะชัดเจนมากขึ้น
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ทิศทางของการพัฒนา AI ที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นทิศทางที่ชัดเจน แต่เป็นเทคโนโลยีที่ต้องใช้เวลา เพื่อให้มั่นใจว่าระบบจะแม่นยำพอ เพราะถ้า AI ทำงานได้เหมือนเลขาฯ ที่เข้าใจผู้ใช้จริงๆ ก็จะทำให้เกิดได้ไม่ยาก
"อุปสรรคอันหนึ่งที่เกิดขึ้นในการพัฒนา AI โดยเฉพาะในแถบเอเชียคือเป็นภาษาที่ยากทั้งนั้น ทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่ง่ายที่สุด ดังนั้นถ้าพัฒนาเหล่านี้ออกมาได้ ในอนาคตเราก็จะเป็นเจ้าที่ใหญ่เพราะถ้าดูประชากรในแถบนี้ การเจาะประเทศในแถบนี้ด้วยภาษาอังกฤษไม่รอด"
***LINE ทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงผู้ใช้
ขณะเดียวกัน อริยะ ยืนยันถึงการพัฒนาเทคโนโลยี AI ว่าจะถูกนำมาใช้งานในประเทศไทยแน่นอน พร้อมย้ำถึงจุดแข็งของ LINE คือทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงคน เปรียบเทียบง่ายๆ คือเวลาใช้ LINE ในการสื่อสารทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างไม่รู้ตัว
"มีกี่แพลตฟอร์มที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้ามาใช้งานอินเทอร์เน็ต หรืออย่าง Clova รูปร่างหน้าตาของลำโพง มีความน่ารักของ คาแรกเตอร์ ทำให้คนไม่ได้กลัวเทคโนโลยี เข้าไปในมิติที่มีความเป็นเพื่อนของผู้ใช้ และทำให้ LINE เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ผู้บริโภคยอมให้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา"
***บริการใหม่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ Hyper Localized
เมื่อย้อนกลับมาดูถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ LINE นำเสนอออกมาภายในงาน LINE Conference 2018 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จะครอบคลุมไปในหลากหลายบริการ แต่ในจุดนี้ อริยะ ระบุว่า หลายๆไอเดียที่จะนำเข้ามาต้องเหมาะกับตลาดประเทศไทยเป็นหลัก
อย่างในแง่ของธุรกิจ ที่มีการรวม LINE Official Account และ LINE@ เข้าด้วยกัน เพื่อให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น อาจจะได้เห็นภายในครึ่งปีหลังนี้ เช่นเดียวกับการพัฒนาในส่วนของเกม ก็มีโอกาสที่จะนำระบบอย่าง Quick Game เข้ามาให้บริการ
"ใน LINE ถือเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น ที่เราสามารถมองว่าถ้าบริการ หรือฟีเจอร์ไหนเหมาะที่จะให้บริการในไทย LINE ก็จะนำเข้ามาทำ แต่ถ้าไม่เหมาะก็จะไม่ทำ เพราะแนวทางที่ LINE ทำในระดับโลก กับสิ่งที่ทำในไทยก็จะใกล้เคียงกันอยู่แล้ว"
ทั้งนี้ หลายๆบริการที่จะนำเข้ามาให้บริการในไทย ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มของ Fintech ที่มีบริการหลายอย่างต้องเข้าไปคุยกับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่จะเปิดให้บริการ ที่สำคัญที่สุดในการคิดค้นบริการใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้คือ ต้องเข้าไปแก้ปัญหา (Painpoint) ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมออกมาแก้ปัญหาสูงกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ การที่มีบริการใหม่ๆออกมา อย่างที่เห็นในปัจจุบันว่า LINE ไม่ใช่แค่แอปแชท แต่ยังมีบริการอื่นๆอย่าง LINE TV LINE Today LINE Man ออกมา และเมื่อบริการเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาก็จะเป็นอาวุธที่ LINE นำไปใช้ในการรุกตลาดอื่นๆในอนาคต
***ยังไม่ลงมาลุยตลาดร่วมเดินทาง
ขณะเดียวกันบริการอย่าง LINE Man ที่ถือเป็นหนึ่งในพระเอกสำคัญของประเทศไทย เกี่ยวกับการขนส่งอาหาร และล่าสุดขยายมาให้บริการ LINE Taxi และเริ่มได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดมากขึ้นแล้ว ทาง LINE ก็ยังไม่มีแผนที่จะขยายไปให้บริการรถร่วมเดินทาง (Car Sharing)
"ถ้าทำบริการต้องถูกกฏหมาย คือเหตุผลที่ทำไมวันนี้ภายใต้ LINE Man ยังเป็นแค่ Taxi เพราะการใช้รถโดยสารทั่วไปยังไม่ได้ถูกกฏหมายในประเทศไทย ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวมๆ ถ้า LINE จะทำอะไรก็ต้องถูกกฏหมาย"
---------------
ความสำเร็จ LINE ประเทศไทย บนเวทีระดับโลก
หนึ่งในช่วงที่น่าสนใจภายในงาน LINE Conference 2018 ซึ่งถือเป็นงานแถลงทิศทางของ LINE ที่จัดต่อเนื่องมากกว่า 6 ปีแล้ว ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารจากประเทศไทย และไต้หวัน ได้ขึ้นเวทีนำเสนอความสำเร็จของธุรกิจในทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้คอนเซปต์หลักคือการปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น (Hyper Localization)
ข้อมูลที่ "อริยะ พนมยงค์" ขึ้นมานำเสนอบนเวทีนี้คือความสำเร็จของธุรกิจ LINE ในประเทศไทย โดยเริ่มจากตัวเลขผู้ใช้งาน 42 ล้านรายในไทย หรือคิดเป็น 95% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยกว่า 45 ล้านราย
ขณะเดียวกันยังเป็นแพลตฟอร์มหลักที่คนไทยเลือกใช้งานคิดเป็น 1 ใน 3 ของการใช้งานสมาร์ทโฟนในแต่ละวันที่ 216 นาที หรือการใช้งานราว 63 นาทีต่อวันจะเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม LINE ในส่วนของภาพลักษณ์แบรนด์ ก็ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในบริษัทที่คนไอทีอยากเข้ามาทำงาน และสตาร์ทอัปอยากเข้ามาร่วมงานด้วย
โดยกลยุทธ์หลักของ LINE ที่เกิดขึ้นคือการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้ใช้งานในท้องถิ่น อย่างการให้บริการซื้อสติกเกอร์ผ่านตู้เติมเงิน เนื่องจากในประเทศไทยกว่า 90% ของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือใช้งานแบบเติมเงิน ทำให้มีช่องทางเติมเงินที่หลากหลาย
ในส่วนของ LINE TV ก็ได้รับความนิยมในการเลือกรับชมรายการทีวีย้อนหลังเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย พร้อมระบุว่า 90% ของวิดีโอคอนเทนต์ ที่ผู้บริโภคไทยเลือกดูจะมาจากรายการในโทรทัศน์
ส่วนของ LINE Today เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จจากการขึ้นเป็นผู้นำที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารจากกว่า 120 สำนักพิมพ์ และเว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย มีจำนวนผู้ใช้งานในแต่ละเดือนกว่า 32 ล้านราย
ตามมาด้วย LINE Man ที่ให้บริการจัดส่งอาหาร จากกว่า 4,000 ร้านอาหาร ในขณะที่คู่แข่งครอบคลุม 400 ร้านอาหาร รวมถึงการให้บริการซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ (ที่น้ำแข็ง และโซดา ได้รับความนิยมมากที่สุด) ไปจนถึง LINE Taxi ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา
สุดท้ายคือความสำเร็จในการร่วมลงทุนของ แรบบิท ไลน์เพย์ (Rabbit LINE Pay) ที่เป็นการร่วมทุนของ 3 บริษัทอันดับ 1 ในประเทศไทย ที่ประกอบด้วย เอไอเอส ที่มีจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 40.3 ล้านคน แรบบิท ที่ให้บริการไมโครเพย์เมนต์กว่า 8.5 ล้านใบ และ LINE ที่มีผู้ใช้งานกว่า 42 ล้านราย