ไม่ได้พิมพ์ผิด 4.0 เป็น 0.4 เพราะนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ถูก "นาถ ลิ่วเจริญ" กระเทาะเปลือกจนเห็นเนื้อในว่ารัฐบาลไทยยังดำเนินการแบบ 0.4 ประเมินรัฐวันนี้ยังสับสนระหว่างบิ๊กดาต้าและดาต้าเบส แถมฐานข้อมูลแต่ละกระทรวงยังไม่สมประกอบทำให้เกิดภาวะคอรัปชันและสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ ชี้เป้ากระทรวงศึกษาฯควรตื่นตัวก่อนใคร และควรเอาสถิติมาวางแผนเพื่อให้งบก้อนใหญ่ถูกจัดสรรเป็นธรรมถูกต้องกว่าเดิม ก่อนถึงยุคมหาวิทยาลัยและโรงเรียนไทยไร้นักเรียน ในวันที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ
*** บิ๊กดาต้าวันนี้ยังมีแต่คำพูด
นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทซีดีจีผู้มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปีในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศไทย เอ่ยถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ว่าทุกอย่างมี 2 มุม ด้านหนึ่งคือรัฐพยายามตั้งต้นใหม่ แต่แผนนโยบายที่ดีกลับไม่เห็นผลเพราะการดำเนินงานโดยทีมข้าราชการที่ยังมีความเข้าใจในธุรกิจอย่างจำกัด ขณะเดียวกัน แผนงานสร้างบิ๊กดาต้าไทยวันนี้ยังมีแต่คำพูด ซึ่งไม่มีการตอบสนองในระยะยาว
"แม้จะมีรองที่เก่ง แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องตัดสินใจ ผู้นำรัฐบาลต้องมีความรู้ด้วย ผมว่าแผนดี นโยบายดี แต่การ execution มันไม่ได้ เราไม่อยากวิจารณ์ นโยบายคือ 4.0 แต่เราทำ 0.4" นาถกล่าว "ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนคน execution ให้ทีมใหม่ทำเลย ปลัดทำยังไงก็ปรับไม่ได้ การให้คนอายุเกิน 50 เปลี่ยนแปลงถือว่าลำบาก ตอนนี้เรามีไดอะแกรม ซึ่งไม่ลงลึกว่าใครทำอะไร ใครรับผิดชอบ พูดไปก็เหมือนวิจารณ์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลทำเต็มที่"
นาถ ยกตัวอย่างกรมประชาสัมพันธ์ หน่วยงานภาครัฐที่ยังสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเรื่องบิ๊กดาต้าไม่ถูกต้อง เพราะบิ๊กดาต้าคือการนำเอาข้อมูลมหาศาลมาวางแผน เพื่อพยากรณ์ได้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป จุดนี้ไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จีไอเอส จำกัด กล่าวเสริมว่าวันนี้รัฐยังสับสนระหว่างบิ๊กดาต้าและดาต้าเบส โดยบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยทำอยู่ในตอนนี้เป็นเพียงแค่ฐานข้อมูล ดังนั้นรัฐบาลไทยควรต้องเตรียมระบบเพื่อบูรณาการให้ได้ เพราะถ้าไม่ได้ การใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลอย่างบิ๊กดาต้าก็จะไม่เกิด
"แต่ละกระทรวง ยังมีฐานข้อมูลที่ไม่สมประกอบ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการน่าเศร้ามาก มีปัญหาครูเกิน โรงเรียนเกิน ชื่อใครก็ไม่รู้มารับเงินได้" ไกรรพระบุ "คิดว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำไม่เป็น"
ไกรรพเล่าว่า จากการลงไปสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลท้องถิ่นในโครงการแผนที่ GIS พบว่าโรงเรียนในความดูแลของ สพฐ. กว่า 3 หมื่นโรงนั้น ราว 1.4-1.5 หมื่นโรงมีนักเรียนน้อยลง 50% แต่โรงเรียนเหล่านี้ปิดตัวลงไม่ได้ และผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ยอมปิด เนื่องจากการปิดจะทำให้ไม่ได้รับค่าเดินทาง ค่าดูแล ค่าน้ำค่าไฟ และที่สำคัญคือค่าดูงาน
*** คุมกำเนิดโรงเรียนผี
ไกรรพย้ำว่าวันนี้มีนับร้อยกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติงบให้โรงเรียนไทยที่ไม่มีตัวตน ขณะที่แต่ละจังหวัดก็มีฐานข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้มีการนำเลขที่ประจำตัวประชาชนเดียวกันมาใช้ซ้ำในฐานข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงกรณีที่มีการเสนอขอซื้อเครื่องปั่นไฟ ทั้งที่โรงเรียนนั้นมีสายไฟพาดผ่าน ซึ่งจากการวิเคราะห์เพื่อหาทางควบรวมศักยภาพโรงเรียน และการใช้ GIS วิเคราะห์เพื่อหาตำแหน่งโรงเรียนที่เหมาะสม ขณะนี้มีการยุบโรงเรียนกลุ่มนี้ไปแล้ว 2,000-3,000 โรง หลังจากยุบ โรงเรียนเหล่านี้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนเพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบ GIS ยังทำให้พบปัญหาการบุกรุกป่าไม้ของไทย ไกรรพ ชี้ว่าทุกคนในประเทศล้วนมีส่วนร่วมในการบุกรุกที่ดินทั้งหมด เช่น ประชาชนบุกรุกโดยที่รู้ว่ารัฐจะมอบให้ ขณะที่ภาครัฐก็ต้องการเอาใจประชาชน ป่าเสื่อมเมื่อใดก็ยกให้ทันที ด้านนายทุนก็โลภ เพราะจะได้ซื้อที่ดินราคาถูก
ไม่ว่าอย่างไร นาถย้ำว่ากระทรวงศึกษาคือหน่วยงานหลักที่ควรใช้บิ๊กดาต้ามาวางแผนทั้งด้านครู โรงเรียน และงบประมาณให้ดีที่สุด ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาผลการสอบและศักยภาพเด็กไทยสวนทางกับงบประมาณก้อนใหญ่ระดับท็อป 5 ของโลกที่กระทรวงศึกษาละลายไปทุกปีได้
"ผมคิดว่าเราต้องเริ่มเอาสถิติมาวางแผนให้ดี ต่อไป มหาวิทยาลัยและโรงเรียนจะไม่มีคนเรียน เหตุผลเพราะประชากรเด็กไทยลดลง จากที่เคยมี 1.5 ล้านรายต่อปี เหลือราว 5 แสนรายในขณะนี้ ผมเชื่อมั่นในเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ในยุคที่เทคโนโลยีทำได้ขนาดนี้ แต่ทำไมเราไม่ใช้ เอาเรือดำน้ำมาครึ่งลำก็น่าจะทำได้หลายกระทรวง" นาถระบุ
ทั้งหมดนี้ นาถเสริมว่าได้พยายามเข้าหาหน่วยงานที่ตั้งใจเปลี่ยนแปลงและมีความใกล้ชิดเพื่อให้ความรู้แล้ว นอกจากกระทรวงศึกษาฯที่เริ่มทำแล้ว ยังมีกระทรวงมหาดไทยที่เริ่มมอง และกระทรวงเกษตรที่มีแนวโน้มสูง ซึ่งในอนาคต หากระบบหลังบ้านหรือ Back Office ทุกกระทรวงสามารถเชื่อมกันได้ รัฐก็จะสามารถให้บริการประชาชนอย่างถูกต้องเป็นธรรมแน่นอน
ที่สำคัญ ในยุคที่ธุรกิจไทยต้องเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์โลก รัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรไอที จุดนี้นาถชี้ว่าวันนี้บริษัทเอกชนต้องกระเสือกกระสนสร้างคนสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นมาเอง แม้จะเป็นเรื่องดีแต่ก็สะท้อนว่ารัฐบาลทำไม่ได้
"ต้องกลับมาที่รัฐ อินเดียทำไมทำได้ จีนที่มีประชากรพันกว่าล้านคนก็ทำได้ เพราะเค้าเน้นศึกษาเทคโนโลยีจริงจัง บ้านเราต้องจัดการการศึกษาให้ดี ต้องลงด้านช่าง บ้านเราช่างยังขาดแคลน"
*** ต้านคอรัปชันได้
ทั้งหมดนี้นาถยกให้ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นประเทศต้นแบบที่มีระบบไอทีภาครัฐประสิทธิภาพสูงจนอัตราคอรัปชันต่ำมาก โดยจุดประกายว่าปัญหาทุจริตเงินทำบุญไทยอาจต้องแก้ด้วยระบบอีมันนี่ ซึ่งแม้จะฟังดูตลก แต่หากมีการติดบาร์โค้ดไว้ข้างบาตรพระเพื่อให้ประชาชนทำบุญ ก็จะสามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
สำหรับซีดีจีที่กำลังจะฉลอง 50 ปีแห่งการก่อตั้ง นาถมองว่าธุรกิจของบริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ทำให้บริษัทต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ให้ได้ ขณะที่พอร์ตธุรกิจ GIS ส่วนอินโดจีนมีการขยายตัวมาก โดยเฉพาะเมียนมาร์ในยุคที่อองซานซูจีมีบทบาท
"ของเรา เมื่อมีโครงการก็ส่งมอบได้ ถึงจะมีเงินเข้ามา โดยรวมบริษัทไม่ได้โตตลอด รายได้ประมาณ 5,000 ล้านบาทบวกลบ บางครั้งเพิ่มบางครั้งลด ต้องยอมรับว่ารายได้บริษัทไอทีเปลี่ยนไป 10 ปีที่แล้วระบบราคา 500 ล้าน แต่ตอนนี้เหลือ 20 ล้าน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ระบบซอฟต์แวร์เป็นแบบเช่าใช้ ทั้งหมดนี้ต้องปรับตัว ถ้าตอบโจทย์ได้ก็จะอยู่รอด"
"อัตราการใช้ไฟในเมืองย่างกุ้งเติบโต 3 เท่า Gamin โตกว่าที่คาดไว้มาก" ไกรรพกล่าวทิ้งท้าย "เวียดนามก็ไปเร็ว เราเห็นเลยว่าเค้าเตรียมคนไว้เยอะมาก ถ้าไทยเราไม่ปรับตัว รับรองว่าน่าเป็นห่วง".